คำประกาศสิทธิของผู้ป่วย
เราสามารถให้การดูแลสุขภาพที่ดีได้เมื่อท่านและครอบครัวให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของเรา ทางโรงพยาบาลมีหน้าที่รับผิดชอบในการให้คำแนะนำแก่ท่านในเรื่องสิทธิที่ท่านพึงได้รับในฐานะผู้ป่วย ท่านมีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องการรักษาและการดูแลตัวท่าน ทางโรงพยาบาลสนับสนุนให้ท่านถามคำถาม ให้ความร่วมมือ และมีส่วนร่วมในแผนการดูแล หากท่านมีปัญหาที่ต้องการคำอธิบายในเรื่องดังกล่าว กรุณาปรึกษาเจ้าหน้าที่หรือผู้จัดการ
ในช่วงที่ท่านพักอยู่ในโรงพยาบาลนี้ ท่านจะได้รับสิทธิในฐานะผู้ป่วยดังต่อไปนี้
- ผู้ป่วยทุกคนมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะได้รับการรักษาพยาบาลและการดูแลด้านสุขภาพตามมาตรฐานวิชาชีพจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
- ผู้ป่วยที่ขอรับการรักษาพยาบาลมีสิทธิได้รับทราบข้อมูลที่เป็นจริงและเพียงพอเกี่ยวกับการเจ็บป่วย การตรวจ การรักษา ผลดีและผลเสียจากการตรวจ การรักษาจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ ด้วยภาษาที่ผู้ป่วยสามารถเข้าใจได้ง่าย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเลือกตัดสินใจในการยินยอมหรือไม่ยินยอมให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพปฏิบัติต่อตน เว้นแต่ในกรณีฉุกเฉิน อันจำเป็นเร่งด่วนและเป็นอันตรายต่อชีวิต
- ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตมีสิทธิได้รับการช่วยเหลือรีบด่วนจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโดยทันทีตามความ
จำเป็นแก่กรณี โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ป่วยจะร้องขอความช่วยเหลือหรือไม่
- ผู้ป่วยมีสิทธิได้รับทราบชื่อ สกุล และวิชาชีพของผู้ให้การรักษาพยาบาลแก่ตน
- ผู้ป่วยมีสิทธิขอความเห็นจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพอื่นที่มิได้เป็นผู้ให้การรักษาพยาบาลแก่ตน และมีสิทธิในการขอเปลี่ยนผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพหรือเปลี่ยนสถานพยาบาลได้ ทั้งนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของสิทธิการรักษาของผู้ป่วยที่มีอยู่
- ผู้ป่วยมีสิทธิได้รับการปกปิดข้อมูลของตนเอง เว้นแต่ผู้ป่วยจะให้ความยินยอมหรือเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ เพื่อประโยชน์โดยตรงของผู้ป่วยหรือตามกฎหมาย
- ผู้ป่วยมีสิทธิได้รับทราบข้อมูลอย่างครบถ้วนในการตัดสินใจเข้าร่วมหรือถอนตัวจากการเป็นผู้เข้าร่วมหรือผู้ถูกทดลองในการทำวิจัยของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ
- ผู้ป่วยมีสิทธิได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลเฉพาะของตนที่ปรากฏในเวชระเบียนเมื่อร้องขอตามขั้นตอนของสถานพยาบาลนั้น ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิหรือข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลของผู้อื่น
- บิดา มารดา หรือผู้แทนโดยชอบธรรม อาจใช้สิทธิแทนผู้ป่วยที่เป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบแปดปีบริบูรณ์ ผู้บกพร่องทางกายหรือจิต ซึ่งไม่สามารถใช้สิทธิด้วยตนเองได้
หากท่านมีคำถาม ข้อสงสัย หรือข้อเสนอแนะกรุณาติดต่อเราด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบโดยตรง (พยาบาลเจ้าของไข้หรือแพทย์)
- แสดงความคิดเห็นของท่านผ่านหัวข้อ “Care to Share” ใน BH Application
- โทรศัพท์แจ้งแผนกศูนย์กลางการติดต่อสื่อสาร (กดหมายเลข “00” จากโทรศัพท์ภายในโรงพยาบาล หรือ 0-2066-8888 จากภายนอก)
- ส่งอีเมลมายัง [email protected]
ข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย
- สอบถามเพื่อทำความเข้าใจข้อมูลและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นก่อนลงนามให้ความยินยอม หรือไม่ยินยอมรับการตรวจวินิจฉัยหรือการรักษาพยาบาล
- ให้ข้อมูลด้านสุขภาพและข้อเท็จจริงต่างๆ ทางการแพทย์ที่เป็นจริงและครบถ้วนแก่ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพในกระบวนการรักษาพยาบาล
- ให้ความร่วมมือและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามได้ให้แจ้งผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพทราบ
- ให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของโรงพยาบาล ดังต่อไปนี้
4.1 ผู้ป่วยมีหน้าที่รับผิดชอบในการให้ข้อมูลที่สมบูรณ์และถูกต้องต่อการเบิกจ่ายกับบริษัทประกัน และปฏิบัติตามเงื่อนไขทางการเงินได้ครบถ้วนในเรื่องการรักษาพยาบาลของตนโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้หลังจากได้รับแจ้ง ตามนโยบายของโรงพยาบาล
4.2 ผู้ป่วยมีหน้าที่รับผิดชอบในการให้สำเนาหลักฐานความประสงค์ในการรักษาพยาบาล หนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุข หรือการตัดสินใจในเรื่องการปฏิบัติและวิธีการรักษาที่ตนเลือก อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้เอกสารดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อรับเป็นผู้ป่วย
4.3 ผู้ป่วยมีหน้าที่รับผิดชอบในการมาพบแพทย์ตามตารางนัด และ/หรือแจ้งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทราบในกรณีไม่สามารถมาตามตารางนัดได้และจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงเวลา
4.4 ผู้ป่วยมีหน้าที่รับผิดชอบในการให้โอกาสแก่ผู้จัดการพยาบาล หัวหน้าแผนก หรือเจ้าหน้าที่ระดับบริหาร ในการแก้ไข ข้อร้องเรียนหรือข้อร้องทุกข์ โดยการพูดคุยกับบุคคลเหล่านั้นโดยตรง หากผู้ป่วยไม่ได้รับความพึงพอใจภายในเวลาที่สมเหตุสมผล จะต้องมีการดำเนินงานจากโรงพยาบาลเพื่อแก้ไขสิ่งที่ผู้ป่วยร้องเรียน
4.5 ผู้ป่วยมีหน้าที่รับผิดชอบในการไม่นำสิ่งของมีค่ามายังโรงพยาบาล และนำมาเฉพาะสิ่งของส่วนตัวที่จำเป็นต้องใช้ระหว่างอยู่ที่โรงพยาบาลเท่านั้น
4.6 ทันทีที่การรักษาได้เริ่มต้นขึ้นแล้วนั้น ผู้ป่วยมีหน้าที่รับผิดชอบในการไม่ออกไปจากแผนกที่ตนอยู่ หรือออกนอกโรงพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาตจากแพทย์หรือพยาบาล ทั้งนี้เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยของตัวผู้ป่วยเอง
4.7 ผู้ป่วยมีหน้าที่รับผิดชอบต่อการได้รับการรักษาและการพยาบาล ภายใต้การควบคุมกำกับของโรงพยาบาลเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย หรือบุคคลใกล้ชิดของผู้ป่วยทำการรักษาและการพยาบาลเชิงวิชาชีพในระหว่างอยู่โรงพยาบาล เช่น การปรับอัตราการให้สารละลายทางหลอดเลือด เป็นต้น เว้นแต่การบริหารยาบางประเภทตามที่ได้ระบุไว้ในนโยบายของโรงพยาบาล หรือเป็นการฝึกการดูแลก่อนที่ผู้ป่วยจะถูกจำหน่ายกลับบ้านเท่านั้น
- ปฏิบัติต่อผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ป่วยรายอื่น รวมทั้งผู้ที่มาเยี่ยมเยียน ด้วยความสุภาพให้เกียรติและไม่กระทำสิ่งที่รบกวนผู้อื่น
- แจ้งสิทธิการรักษาพยาบาลพร้อมหลักฐานที่ตนมีให้เจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลที่เกี่ยวข้องทราบ
- ผู้ป่วยพึงรับทราบข้อเท็จจริงทางการแพทย์ ดังต่อไปนี้
7.1 ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานและจริยธรรม ย่อมได้รับความคุ้มครองตามที่กฎหมายกำหนดและมีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากการถูกกล่าวหาโดยไม่เป็นธรรม
7.2 การแพทย์ในที่นี้ หมายถึง การแพทย์แผนปัจจุบันซึ่งได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ โดยองค์ความรู้ในขณะนั้นว่ามีประโยชน์มากกว่าโทษสำหรับผู้ป่วย
7.3 การแพทย์ไม่สามารถให้การวินิจฉัย ป้องกัน หรือรักษาให้หายได้ทุกโรคหรือทุกสภาวะ
7.4 การรักษาพยาบาลทุกชนิดมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลอันไม่พึงประสงค์ได้ นอกจากนี้ เหตุสุดวิสัยอาจเกิดขึ้นได้ แม้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพจะใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอ ตามภาวะวิสัยและพฤติการณ์ในการรักษาพยาบาลนั้นๆ แล้ว
7.5 การตรวจเพื่อการคัดกรอง วินิจฉัย และติดตามการรักษาโรค อาจให้ผลที่คลาดเคลื่อนได้ด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยีที่ใช้ และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน
7.6 ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพมีสิทธิใช้ดุลพินิจในการเลือกกระบวนการรักษาพยาบาลตามหลักวิชาการทางการแพทย์ ตามความสามารถและข้อจำกัด ตามภาวะวิสัยและพฤติการณ์ที่มีอยู่ รวมทั้งการปรึกษาหรือส่งต่อโดยคำนึงถึงสิทธิและประโยชน์โดยรวมของผู้ป่วย
7.7 เพื่อประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วย ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพอาจให้คำแนะนำหรือส่งต่อผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาตามความ เหมาะสม ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องไม่อยู่ในสภาวะฉุกเฉินอันจำเป็นเร่งด่วนและเป็นอันตรายต่อชีวิต
7.8 การปกปิดข้อมูลด้านสุขภาพ และข้อเท็จจริงต่างๆ ทางการแพทย์ของผู้ป่วยต่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ อาจส่งผลเสียต่อกระบวนการรักษาพยาบาล
7.9 ห้องฉุกเฉินของสถานพยาบาล ใช้สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินอันจำเป็นเร่งด่วนและเป็นอันตรายต่อชีวิต
ทางโรงพยาบาลจะไม่ทนต่อการทำร้ายร่างกาย การพูดจาก้าวร้าว หรือการข่มขู่คุกคามใดๆ ต่อบุคลากรของโรงพยาบาล ผู้ใดที่ใช้ความรุนแรงต่อบุคลากรของโรงพยาบาลจะถูกดำเนินการตามกฎหมายและอาจถูกห้ามเข้าใช้บริการของโรงพยาบาลอีกในภายภาคหน้า
การให้คำปรึกษาด้านจริยธรรม
คณะกรรมการจริยธรรมของโรงพยาบาลพร้อมที่จะหารือกับผู้ป่วยและญาติในประเด็นทางจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการดูแลที่ผู้ป่วยต้องการจะได้รับ กรณีต้องการนัดหมายเพื่อขอรับคำปรึกษา กรุณาติดต่อแผนกศูนย์กลางการติดต่อสื่อสาร โดยกด “00” จากโทรศัพท์ภายในโรงพยาบาล หรือ 0-2066-8888 จากโทรศัพท์ภายนอกโรงพยาบาล และแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าท่านต้องการปรึกษากับสมาชิกของคณะกรรมการจริยธรรม หรือส่งข้อร้องเรียนมายัง [email protected]
ทบทวน พฤษภาคม 2567