bih.button.backtotop.text

โรคซึมเศร้า

คนทุกคนต่างเคยรู้สึกเครียด รู้สึกผิดหวังหรือมีอารมณ์เศร้าหมองเหมือนๆกันเมื่อเผชิญกับความสูญเสียหรือปัญหาอุปสรรคในชีวิต ความรู้สึกเหล่านี้เป็นเรื่องปกติหากเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว แต่ถ้าความเครียดและความเศร้าเหล่านี้ดำเนินติดต่อกันเป็นระยะเวลานานและมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าคนๆนั้นกำลังเป็นโรคซึมเศร้า

สาเหตุของโรคซึมเศร้า

ปัจจัยใหญ่ๆที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้แก่

  • พันธุกรรมหรือพื้นฐานดั้งเดิม มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคซึมเศร้า หรือมีลักษณะนิสัยเป็นคนอ่อนไหวง่าย คิดมาก มองโลกในแง่ลบ รวมถึงการมีสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุล
  • สภาพแวดล้อมตั้งแต่เด็กจนโต เช่น การเลี้ยงดูของพ่อแม่ อิทธิพลจากคนใกล้ชิดรอบข้าง

โรคซึมเศร้าอาจเกิดจากการมีปัจจัยมากระตุ้นที่ทำให้เกิดความเครียดขึ้นมาก่อน หรืออาจเกิดขึ้นโดยไม่มีปัจจัยมากระตุ้น แต่กรณีนี้เกิดขึ้นได้น้อย

โรคซึมเศร้าทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงตามมามากมาย ตั้งแต่โรคทางกาย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไทรอยด์ โรคภูมิแพ้ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคสมองเสื่อม และโรคมะเร็ง นอกจากนี้ผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้ายังมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้มากกว่าคนปกติ เสียชีวิตจากสารเสพติด หรือแม้กระทั่งฆ่าตัวตาย

โรคซึมเศร้าสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ

  • โรคซึมเศร้าแบบขั้วเดียว คือ ผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้าอย่างเดียว
  • โรคซึมเศร้าแบบสองขั้ว หรือที่เรียกว่าไบโพลาร์ ผู้ป่วยมีอาการอารมณ์ขึ้นลงมากกว่าคนทั่วไปจนเกิดผลเสีย

หากคุณสงสัยว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดเป็นโรคซึมเศร้า ให้สังเกตอาการดังต่อไปนี้ หากมีอย่างน้อย 5 อย่างหรือมากกว่าติดต่อกันอย่างน้อย 14 วันและมีอาการเหล่านี้อยู่เกือบทั้งวัน ถือว่าเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้า

  1. มีอารมณ์ซึมเศร้า (เด็กหรือวัยรุ่นอาจมีอาการหงุดหงิด โกรธง่าย)
  2. เบื่อ หมดความสนใจหรือความสุขในการทำกิจกรรมต่างๆ
  3. นอนไม่หลับ หรือหลับๆตื่นๆหรือหลับมาก
  4. เหนื่อยง่ายหรือไม่ค่อยมีแรง
  5. เบื่ออาหารหรือกินมากเกินไป
  6. รู้สึกไร้ค่า รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง
  7. ไม่มีสมาธิหรือลังเลใจไปหมด
  8. พูดช้า ทำอะไรช้าลงหรือกระวนกระวาย ไม่อยู่นิ่ง
  9. มีความคิดอยากตาย คิดทำร้ายตัวเอง
นอกจากจะดูว่าผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวข้างต้นอย่างน้อย 5 ข้อเป็นเวลาติดต่อกันไม่ต่ำกว่า 14 วันแล้ว แพทย์ยังต้องสอบถามรายละเอียดของอาการและเรื่องราวจากผู้ป่วยหรือบางครั้งจากญาติใกล้ชิดร่วมด้วย เพื่อให้เข้าใจผู้ป่วยและแน่ใจว่าผู้ป่วยไม่ได้เป็นโรคทางจิตเวชอื่นๆที่คล้ายคลึงกับโรคซึมเศร้า รวมถึงสอบถามประวัติความเจ็บป่วยอื่นๆเพื่อดูว่าเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้าหรือไม่
การรักษาหลักคือ การพูดคุยให้คำปรึกษา การทำจิตบำบัด รวมถึงการใช้ยาในกลุ่มแก้ซึมเศร้าหากมีความจำเป็น โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่รักษาได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอาการดีขึ้นจนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติและยิ่งมารับการรักษาเร็วเท่าไรอาการก็จะดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว แต่หากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้รักษายากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันยารักษาโรคซึมเศร้าเป็นยาที่ถือว่าปลอดภัย ไม่ค่อยมีผลข้างเคียง ผู้ป่วยบางคนกลัวผลข้างเคียงจนไม่กล้ากินยาตามที่แพทย์สั่งจนครบ เพราะกลัวว่าจะติดยาหรือกลัวว่ายาทำให้มีอาการมึนงงไปหมด ความจริงแล้วยาแก้ซึมเศร้าไม่มีการติดยาและไม่ทำให้เกิดอาการมึนงงอย่างที่เข้าใจกัน

 

การป้องกันโรคซึมเศร้าทำได้โดยปฏิบัติหลักสุขศึกษา คือ

  • อาหาร ให้กินอาหารครบ 5 หมู่ หากขาดสารอาหารบางอย่างไปจะทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น เช่น โอเมก้า 3 วิตามิน อี ซี ดี ทองแดง ธาตุเหล็ก
  • การออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายสัปดาห์ละอย่างน้อย 4 วันต่อสัปดาห์ ต่อเนื่องกัน 30-40 นาที เป็นการออกกำลังกายเบาๆ เช่น เดินเร็วก็ได้
  • การพักผ่อน นอนหลับให้เพียงพอกับที่ร่างกายต้องกาย ให้ตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกสดชื่น ไม่ง่วงหรือยังเพลียอยู่
  • การทำสมาธิ (Mindfulness) เพื่อผ่อนคลายจิตใจ มีงานวิจัยมากมายพบว่าการทำสมาธิช่วยให้สมองผ่อนคลาย ลดความเครียดได้
  • การฝึกคิดบวก ป้อนความคิดทางบวกให้กับตัวเองอยู่เสมอเพื่อสร้างให้จิตใจมีความเข้มแข็ง เอาชนะอุปสรรคในชีวิตได้
แก้ไขล่าสุด: 25 มกราคม 2564

การรักษาที่เกี่ยวข้อง

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์สุขภาพจิต

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 8.28 of 10, จากจำนวนคนโหวต 100 คน

Related Health Blogs