bih.button.backtotop.text

การฉีดยาโบทูลินั่ม ท็อกซิน แก้ไขความผิดปกติของระบบควบคุมการขับปัสสาวะ

การฉีดยาโบท็อกซ์เข้ากล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาความผิดปกติของระบบควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ ซึ่งรวมถึงภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (OAB) และภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ตามหลังอาการปวดปัสสาวะฉับพลัน urgency urinary incontinence เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากการใช้ยาในผู้ป่วยบางราย

การฉีดยาโบท็อกซ์เข้ากล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ คืออะไร
การฉีดยาโบท็อกซ์ (botulinum toxin type A) เข้าไปในกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะคลายตัวจากการหดเกร็ง กระเพาะปัสสาวะกักเก็บน้ำปัสสาวะได้มากขึ้น และลดอาการปวดปัสสาวะฉับพลันหรือปัสสาวะเล็ดราดให้น้อยลง โดยยาจะให้ผลการรักษาประมาณ 6-9 เดือน จากนั้นอาจต้องฉีดซ้ำหากจำเป็น ดังนั้น การฉีดยาโบท็อกซ์จึงเป็นการช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแต่ไม่ใช่การรักษาเพื่อให้หายขาด

การรักษาด้วยวิธีนี้จะใช้เมื่อการรักษาอื่นไม่ได้ผล เช่น ผู้ป่วยดื้อยาหรือตอบสนองต่อยาไม่ดีพอ หรือในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียงจากการรับประทานยาได้ เช่น ยาในกลุ่ม anticholinergics/ antimuscarinics ซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ อาจมีผลข้างเคียง เช่น ปากแห้ง คอแห้ง ท้องผูก ความดันโลหิตสูงขึ้น หรือในกรณีที่ผู้ป่วยมีข้อห้ามในการใช้ยา กลุ่ม antimuscarinics เช่น ผู้ป่วยโรคต้อหินชนิดมุมปิด เนื่องจากจะทำให้ความดันลูกตาสูงขึ้นและมองเห็นภาพไม่ชัด 
ก่อนเข้ารับการฉีดยาโบท็อกซ์ ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจปัสสาวะ และยาปฏิชีวนะเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการส่องกล้อง จากนั้นจะเป็นการระงับความรู้สึกในระหว่างการทำหัตถการ โดยแพทย์อาจใช้วิธีการระงับความรู้สึกทางช่องไขสันหลังหรือการบล็อกหลัง (spinal anesthesia) หรือให้ยาสลบทางหลอดเลือดดำ (IV sedation)

ในการรักษา แพทย์จะสอดกล้อง cystoscope ผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปยังกระเพาะปัสสาวะ เพื่อที่จะเห็นภาพภายในกระเพาะปัสสาวะได้อย่างชัดเจน จากนั้นจึงแทงเข็มฉีดยาเล็กๆผ่านกล้องเข้าไปในกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ 20-30 จุดเพื่อกระจายยาให้ทั่วทั้งกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 40 นาที

หลังการฉีดยา แพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนพักภายในโรงพยาบาล 1 คืนเพื่อดูอาการ เนื่องจากผู้ป่วยบางรายอาจตอบสนองต่อยามากเกินไปทำให้มีอาการปัสสาวะไม่ออก ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 1-2 ของผู้ป่วยที่ได้รับการฉีดยาโบท็อกซ์ทั้งหมด เมื่อผู้ป่วยแสดงให้เห็นว่าสามารถปัสสาวะได้เองแล้ว แพทย์จึงอนุญาตให้กลับบ้านได้

โดยทั่วไป ผู้ป่วยที่ได้รับการฉีดยาโบท็อกซ์ที่กระเพาะปัสสาวะจะมีอาการดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์
การฉีดยาโบท็อกซ์ใช้กับผู้ที่มีความผิดปกติของระบบควบคุมการขับปัสสาวะ ซึ่งได้แก่
  • ผู้ที่มีภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (OAB) คือ มีอาการปวดปัสสาวะฉับพลัน และต้องไปห้องน้ำทันทีโดยไม่สามารถรอได้ ร่วมกับมีอาการปัสสาวะบ่อยหรือมากกว่า 8 ครั้งต่อวัน และปัสสาวะบ่อยช่วงกลางคืน(หลังจากนอนหลับ) 
  • ผู้ที่มีภาวะกระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติจากระบบประสาท (neurogenic bladder) ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่ได้ เช่นเดียวกับภาวะ OAB โดยอาจพบร่วมกับภาวะแรงดันในกระเพาะปัสสาวะสูงกว่าปกติ (low compliance bladder)
โดยพิจารณาในรายที่ใช้ยารับประทานแล้วได้ผลไม่ดี หรือต้องการหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากยารับประทาน
ก่อนเข้ารับการฉีดยา แพทย์จะทำการซักประวัติและอาการของผู้ป่วย พร้อมตรวจร่างกายเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีอาการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะซึ่งอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุของภาวะปัสสาวะเล็ดราด จากนั้นผู้ป่วยอาจต้องพิจารณาเข้ารับการตรวจวิเคราะห์แบบยูโรไดนามิก หรือการตรวจยูโรพลศาสตร์ (urodynamic study) เพื่อศึกษาจำลองดูการทำงานของระบบการปัสสาวะแบบละเอียด ในกรณีที่แพทย์เห็นว่าจำเป็น เพื่อใช้ข้อมูลที่ได้มาวางแผนในการรักษาให้เหมาะสมที่สุด 

เมื่อพิจารณาร่วมกับผู้ป่วยแล้ว เห็นสมควรรักษาโดยการฉีดยาโบท็อกซ์เข้ากล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะผู้ป่วยจึงจะเข้ารับการเตรียมตัวในเรื่องสุขภาพโดยรวมก่อนการส่องกล้องฉีดยา 
สำหรับผู้ป่วยที่ใช้ยาเม็ดรับประทานไม่ได้ผล มีข้อห้ามในการใช้ยาเม็ดรับประทานยา หรือมีผลข้างเคียงจากยาเม็ดรับประทานการฉีดยาโบท็อกซ์ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยบรรเทาอาการไม่พึงประสงค์จากความผิดปกติในการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ โดยช่วยลดความถี่และความรีบเร่งในการเข้าห้องน้ำเพื่อปัสสาวะ ได้อย่างมีนัยสำคัญ ในผู้ป่วยที่ตอบสนองได้ดีอาจเห็นผลลัพธ์ได้ในเวลาเพียง 3-4 วันหลังการฉีดยา และยาจะคงฤทธิ์อยู่ได้ 6-9 เดือนโดยประมาณขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละราย

เมื่อยาหมดฤทธิ์ ผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องฉีดซ้ำ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะกระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติจากระบบประสาท เนื่องจากความผิดปกติจากระบบประสาทมักมีการฟื้นตัวช้าและไม่สมบูรณ์ และการรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การฝึกควบคุมกล้ามเนื้อหูรูดต่างๆมักได้ผลไม่ดี
การฉีดยาโบท็อกซ์เข้ากล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น 
-    การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ 
-    ปัสสาวะมีเลือดปน พบได้ในช่วงแรกหลังการส่องกล้องระบบปัสสาวะ โดยทั่วไปมักหายได้เอง
-    ภาวะคั่งค้างของปัสสาวะหรือปัสสาวะออกไม่หมด 
-    ปัสสาวะไม่ออก 

ในกรณีของอาการปัสสาวะไม่ออก ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องสวนปัสสาวะด้วยตนเองเป็นพักๆ อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวเกิดขึ้นได้น้อยมาก และมักหายไปเมื่อหมดฤทธิ์ยาหรือภายในเวลา 5-6 เดือน 
ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติภายใน 1-2 วันหลังจากฉีดยา โดยแพทย์จะให้คำแนะนำในการดูแลตนเองที่บ้าน และนัดตรวจติดตามอาการเป็นระยะ ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์ทันทีหากพบภาวะแทรกซ้อนข้างต้น 
แก้ไขล่าสุด: 04 กันยายน 2562

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์ทางเดินปัสสาวะ

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 10.00 of 10, จากจำนวนคนโหวต 4 คน

บทความที่เกี่ยวข้อง