bih.button.backtotop.text

สีของปัสสาวะ…สัญญาณเตือนของปัญหาสุขภาพ

คุณเคยสังเกตสีปัสสาวะของตัวเองบ้างไหม การตรวจดูสีของปัสสาวะด้วยตัวเองเป็นครั้งเป็นคราวอาจให้ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของคุณได้อย่างที่คุณคาดไม่ถึง สีของปัสสาวะแปรเปลี่ยนไปได้จากหลายสาเหตุ เช่น ยา อาหารและปัญหาสุขภาพ โดยทั่วไปไม่ใช่เรื่องที่น่าวิตกกังวล แต่ในบางครั้งอาจบ่งบอกถึงโรคร้ายที่แอบแฝงอยู่ในร่างกายของคุณได้
 

สีปัสสาวะที่ปกติเป็นอย่างไร

สีปัสสาวะที่ปกติจะมีสีเหลืองอ่อนใส ไม่ขุ่น ยิ่งคุณดื่มน้ำมากเท่าไร ปัสสาวะของคุณจะยิ่งใสมากขึ้นเท่านั้น ถ้าคุณดื่มน้ำมากแต่ปัสสาวะยังเป็นสีเหลืองขุ่นหรือดื่มน้ำน้อยแต่ปัสสาวะเป็นสีขาวใส อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังมีปัญหาสุขภาพ
 

12 สีปัสสาวะบอกอะไรคุณได้บ้าง

 
  1. ใส ไม่มีสี
แสดงว่าคุณดื่มน้ำปริมาณมากกว่าปริมาณที่แนะนำให้ดื่มในแต่ละวัน ทำให้ระดับเกลือแร่ในร่างกายต่ำเกินไป ในบางกรณีระดับเกลือแร่ที่ต่ำมากอาจทำให้เสียชีวิตได้ หากปัสสาวะของคุณใสเป็นบางครั้งบางคราวถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่หากปัสสาวะของคุณใสอยู่ตลอดเวลา คุณควรลดปริมาณการดื่มน้ำ นอกจากนี้ปัสสาวะใสยังบอกถึงโรคบางอย่างได้ เช่น โรคเบาหวาน การกินยาขับปัสสาวะ โรคไต เป็นต้น
  1. สีขาวขุ่น
พบได้ในคนที่ดื่มนมปริมาณมากจนทำให้เกิดผลึกของฟอสเฟตหรือเกิดจากโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เช่น โรคกรวยอักเสบ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ รวมถึงอาจเกิดจากการมีน้ำเหลืองปนอยู่ในปัสสาวะหรือมีโปรตีนมากเกินไปร่างกาย
  1. สีเหลืองอ่อนไปจนถึงสีเหลืองทอง
หมายถึงระดับน้ำในร่างกายของคุณอยู่ในระดับปกติ คุณควรสังเกตว่าปัสสาวะสีที่ปกติของคุณเป็นอย่างไรเพื่อให้คุณบอกได้ว่าเมื่อใดที่สีปัสสาวะของคุณผิดปกติไป
  1. สีเหลืองเข้ม
เป็นสีปัสสาวะที่ปกติ แต่คุณควรดื่มน้ำให้มากขึ้น
  1. สีเหลืองสด
ปัสสาวะเป็นสีเหลืองสดหรือสีนีออนเกิดจากการกินวิตามินและอาหารเสริม ซึ่งไม่เป็นอันตรายใด ๆ แค่เป็นอาการที่บอกว่าคุณกินวิตามินมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ ดังนั้นคุณควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะเริ่มกินวิตามินหรืออาหารเสริมใด ๆ
  1. สีส้ม
ปัสสาวะสีส้มอาจหมายถึง ร่างกายขาดน้ำและอาจหมายถึงมีปัญหาเกี่ยวกับถุงน้ำดีหรือตับ รวมถึงอาจเกิดจากการกินแครอท การกินวิตามินบี 2 ในปริมาณมาก ยาบางชนิดที่ทำให้ปัสสาวะเป็นสีส้ม เช่น ยาซัลฟาซาลาซีน ยาฟีนาโซไพริดีน ยาไอโซไนอาซิด ยาระบายบางชนิด เป็นต้น
  1. สีส้มเข้มหรือสีน้ำตาล
สาเหตุเกิดขึ้นได้จากการขาดน้ำอย่างรุนแรง เป็นดีซ่าน มีภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย (rhabdomyolysis) นอกจากนี้ยาบางชนิดยังทำให้ปัสสาวะมีสีน้ำตาลได้ เช่น ยาเมโทรนิดาโซลที่ใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียหรือยาควีนินซึ่งใช้ป้องกันโรคมาลาเรีย
  1. สีน้ำตาลเข้มหรือดำ
อาจเกิดจากการกินถั่วบางชนิดในปริมาณมาก ผักรูบาร์บ ว่านหางจระเข้ หรือแสดงถึงโรคบางชนิด เช่น โรคตับ โรคมะเร็งผิวหนัง นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากผลข้างเคียงของยา เช่น ยาควีนินซึ่งใช้ป้องกันโรคมาลาเรีย ยาปฏิชีวนะเมโทรนิดาโซล
  1. สีชมพูและสีแดง
ปัสสาวะสีชมพูไปจนถึงสีแดงอาจหมายถึงการมีเลือดเจือปนอยู่ในปัสสาวะหรือเป็นสัญญาณของโรคไต โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ โรคนิ่วในไต เนื้องอกหรือมะเร็งที่ไต กระเพาะปัสสาวะหรือต่อมลูกหมาก รวมถึงการกินอาหารบางชนิด เช่น บลูเบอร์รี่ รูบาร์บ บีทรูท หรือหลังการออกกำลังกายอย่างหนักทำให้เกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ซึ่งไม่เป็นอันตรายใด ๆ
  1. สีเขียว
ผักแอสพารากัสอาจทำให้ปัสสาวะมีสีเขียวและมีกลิ่น ยาบางชนิดและสีผสมอาหารสีเขียวอาจทำให้ปัสสาวะเป็นสีเขียวได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะได้
  1. สีฟ้า
อาจเกิดจากโรคทางพันธุกรรมเมตาบอลิกที่หายากซึ่งทำให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูงผิดปกติ (familial hypercalcemia หรือ blue diaper syndrome) หรือเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ส่วนใหญ่แล้ว เกิดจากยาหรือสีผสมอาหารสีน้ำเงิน เช่น ยาแก้ปวดอินโดเมทาซิน ยารักษาอาการซึมเศร้าอะมิทริปไทลีนและยายับยั้งการหลั่งกรดไซเมทิดีนและยาระงับความรู้สึกโปรโพฟอล เป็นต้น
  1. สีม่วง
ปัสสาวะสีม่วงมีชื่อเรียกเฉพาะว่า อาการปัสสาวะในถุงเป็นสีม่วง (purple urine bag syndrome) ซึ่งพบได้ไม่บ่อยในผู้ป่วยที่ใส่สายสวนปัสสาวะที่มีอาการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะทำให้ปัสสาวะเป็นสีม่วง
 

เมื่อไรที่ควรพบแพทย์

โดยส่วนใหญ่แล้ว ปัสสาวะที่มีสีเปลี่ยนไปไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรงต่อสุขภาพจนต้องรู้สึกวิตกกังวล แต่คุณควรรีบไปพบแพทย์หากพบว่าปัสสาวะของคุณมีความผิดปกติดังนี้
  • หากปัสสาวะของคุณมีสีชมพูหรือสีแดงเพราะมีเลือดออกปนกับปัสสาวะ
  • ปัสสาวะมีสีน้ำตาลเข้มหรือสีส้ม ผิวหนังและดวงตาเป็นสีเหลือง อุจจาระมีสีซีด อาจเกิดจากตับทำงานบกพร่อง
  • ปัสสาวะมีสีที่แปลกไปอย่างไม่มีสาเหตุติดต่อกันนานหลายวัน
 
เรียบเรียงโดย ศูนย์โรคไต โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

           E-mail: [email protected]

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs