bih.button.backtotop.text

การรักษาโรคมะเร็งด้วยสารเภสัชรังสี

การใช้สารเภสัชรังสีในผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามช่วยให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวขึ้น และใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพมากกว่าเดิม

รู้จักกับสารเภสัชรังสี
สารเภสัชรังสี หรือ radiopharmaceuticals คือยาที่อยู่ในรูปของสารประกอบหรือสารประกอบเชิงซ้อนที่มีสารกัมมันตรังสีเกาะอยู่ในโมเลกุล

สารเภสัชรังสีถูกนำมาใช้ใน 2 ลักษณะคือ ใช้สำหรับตรวจวินิจฉัยโรค ด้วยการบริหารสารเภสัชรังสีเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย และใช้เครื่อง Gamma camera หรือเครื่อง PET/CT สแกนรังสีที่แผ่ออกมาจากร่างกายผู้ป่วย ทำให้สามารถมองเห็นความผิดปกติของเซลล์หรือเนื้อเยื่อที่ต้องการตรวจ ประเมินระยะของโรค และติดตามการตอบสนองต่อการรักษาได้แม่นยำมากขึ้น

นอกจากนี้ สารเภสัชรังสียังถูกใช้เพื่อการรักษาโรค โดยเฉพาะโรคมะเร็ง ซึ่งสารเภสัชรังสีจะตรงเข้าจับและทำลายเซลล์มะเร็งหรือเนื้อเยื่อผิดปกติในอวัยวะเป้าหมายแต่ไม่ทำลายเซลล์ปกติที่อยู่โดยรอบ เป็นการรักษาแบบจำเพาะเจาะจงในระดับเซลล์หรือที่เรียกว่า targeted therapy ซึ่งเมื่อใช้ควบคู่กับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด การฉายรังสี และเคมีบำบัดแล้ว พบว่าผลการรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยยืดอายุให้กับผู้ป่วยและช่วยให้คุณภาพชีวิตโดยรวมของผู้ป่วยดีขึ้น

การนำสารเภสัชรังสีเข้าสู่ร่างกาย ทำได้ทั้งโดยการรับประทาน การฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ และการสูดหายใจเพื่อให้สารสะสมในบริเวณที่ต้องการ และสารจะถูกขับถ่ายออกจากร่างกายได้อย่างง่ายดายโดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรือมีผลต่อการทำงานของอวัยวะอื่นๆ เนื่องจากปริมาณสารเคมีและปริมาณรังสีที่ใช้ในสารเภสัชรังสีถูกควบคุมให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยแล้ว
สารเภสัชรังสีถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งของเซลล์ต่อมไร้ท่อ มะเร็งตับ มะเร็งสมอง มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งต่อมไทรอยด์ และมะเร็งที่แพร่กระจายมาที่กระดูก โดยมักทำควบคู่หรือเป็นการรักษาเสริมหลังจากการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด และการฉายแสง ซึ่งผู้ป่วยมักเป็นมะเร็งในระยะที่ลุกลามแล้ว คือ ระยะที่ 3 หรือ 4 เพื่อขจัดเซลล์มะเร็งที่หลงเหลืออยู่ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งไม่ให้แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย และบรรเทาอาการต่างๆ ที่มีสาเหตุจากมะเร็งทั้งนี้ โรคมะเร็งแต่ละชนิดจะใช้สารเภสัชรังสีที่แตกต่างกัน
สารเภสัชรังสี Lutetium-177 PSMA มักใช้รักษามะเร็งต่อมลูกหมากที่อยู่ในระยะแพร่กระจายและไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้อีก โดย Lutetium-177 PSMA จะปล่อยรังสีเบต้าเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากเพื่อลดขนาดและหยุดการแพร่กระจายของเซลล์ ส่งผลให้อาการเจ็บปวดลุกลามของมะเร็งต่อมลูกหมากไปที่กระดูกลดลง และยังช่วยให้แพทย์ติดตามผลการรักษาจากการดูระดับ PSA ได้ และการตรวจ PET/CT Whole body (68Ga-PSMA) scan

          สำหรับขั้นตอนในการรักษาด้วย Lutetium-177 PSMA ประกอบไปด้วย
  1. แพทย์จะฉีดสารเภสัชรังสี Lutetium-177 PSMA เข้าทางหลอดเลือดดำอย่างช้าๆ จากนั้นจะใช้เวลาในการประเมินอาการข้างเคียงประมาณ 2-4 ชั่วโมง หากผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติก็สามารถกลับบ้านได้ โดยไม่จำเป็นต้องนอนพักในโรงพยาบาล
  2. ผู้ป่วยจะต้องมาถ่ายภาพ whole body scan เพื่อติดตามการรักษาในวันถัดไป
  3. ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์หลังจากรับการฉีดสารในสัปดาห์ที่ 2, 4 และ 6 เพื่อตรวจร่างกาย ประเมินผลข้างเคียง และดูการตอบสนองของการรักษา
  4. ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาซ้ำได้ทุกๆ 6-8 สัปดาห์ หรือจนกว่าเซลล์มะเร็งจะไม่มีการตอบสนองต่อการรักษา
ทั้งนี้ ภายหลังการรักษา 48 ชั่วโมง ผู้ป่วยอาจมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้น เช่น ผู้ป่วยประมาณ 20% อาจรู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน และประมาณ 25% อาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงในระหว่าง 4 สัปดาห์ หลังรับการรักษา ส่วนผลข้างเคียงที่อาจเกิดในระยะยาว คือ อาการปากแห้งชั่วคราว จำนวนเม็ดเลือดลดลง และการทำงานของไตลดลง
 
เนื้องอกหรือมะเร็งของเซลล์ต่อมไร้ท่อ (neuroendocrine tumor) เกิดจากการที่ neuroendocrine cells ซึ่งเป็นเซลล์ที่มีอยู่ในอวัยวะต่างๆ ในระบบต่อมไร้ท่อรวมถึงในเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ เช่น ในปอด ระบบทางเดินอาหาร ตับอ่อน ผิวหนัง และเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน มีการแบ่งตัวและเจริญเติบโตอย่างผิดปกติ
อวัยวะที่ตรวจพบโรคมะเร็งของเซลล์ต่อมไร้ท่อจึงมักได้แก่ อวัยวะในระบบทางเดินอาหารซึ่งครอบคลุมตั้งแต่กระเพาะอาหาร, ไส้ติ่ง, ตับอ่อน, ลำไส้เล็ก ไปจนถึงลำไส้ตรง นอกจากนี้ยังพบในปอด ต่อมไทรอยด์ ต่อมหมวกไต ต่อมใต้สมอง และผิวหนังได้เช่นกัน

เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ต่อมไร้ท่อ และมีคุณสมบัติที่สามารถรักษาด้วยสารเภสัชรังสีได้ แพทย์อาจแนะนำให้รักษาโดยการใช้สารเภสัชรังสี Lutetium-177 DOTATATE ซึ่งขั้นตอนในการรักษา ได้แก่
  1. แพทย์จะฉีดสารเภสัชรังสี Lutetium-177 DOTATATE ในสารละลายน้ำเกลือเข้าทางหลอดเลือดดำอย่างช้าๆ โดยจะติดตามอาการอย่างใกล้ชิดเนื่องจากผู้ป่วยอาจมีอาการข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะ และคลื่นไส้อาเจียนได้ ดังนั้น แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยนอนพักในโรงพยาบาล 2-3 คืนขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละราย
  2. ผู้ป่วยจะต้องมาถ่ายภาพเพื่อติดตามการรักษาในวันที่ 3 หลังจากได้รับสารเภสัชรังสี
  3. ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์หลังจากรับการฉีดสารในสัปดาห์ที่ 2, 4 และ 6 เพื่อตรวจร่างกาย ประเมินผลข้างเคียง และดูการตอบสนองของการรักษา
            นอกจากโรคมะเร็งทั้ง 2 ชนิดนี้แล้ว ยังมีมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน ซึ่งเมื่อใช้สารเภสัชรังสี Iodine-131-Rituximab ในการรักษาแล้ว พบว่าผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาได้ดีกว่าการใช้ยาเคมีบำบัดเดี่ยวๆ ทำให้ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
 
            ทั้งนี้ การพิจารณาใช้สารเภสัชรังสีจำเป็นต้องคำนึงถึงความพร้อมทางร่างกาย ชนิดและการดำเนินโรคของผู้ป่วยแต่ละรายว่าสามารถเข้ารับการรักษาได้หรือไม่ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ตรวจประเมินโดยละเอียดต่อไป
 
แก้ไขล่าสุด: 19 ตุลาคม 2563

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 10.00 of 10, จากจำนวนคนโหวต 4 คน

Related Health Blogs