bih.button.backtotop.text

มะเร็งไทรอยด์

มะเร็งไทรอยด์ เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ที่เจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในต่อมไทรอยด์ และพัฒนาเป็นก้อนมะเร็งขึ้นใต้ผิวหนังบริเวณกึ่งกลางลำคอ อาจพบก้อนเดียวหรือหลายก้อน โดยผู้ป่วยอาจมีอาการเสียงแหบ หายใจหรือกลืนลำบาก และเจ็บที่ลำคอ มีอุบัติการณ์สูงขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งตรวจพบโดยบังเอิญในผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติอื่นๆ บริเวณคอและช่องอก

ต่อมไทรอยด์เป็นอวัยวะที่มีรูปร่างคล้ายผีเสื้ออยู่บริเวณใต้ลูกกระเดือก ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ เพื่อช่วยในกระบวนการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ และระบบการเผาผลาญในร่างกาย ซึ่งมะเร็งไทรอยด์อาจทำให้ต่อมไทรอยด์ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ และส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายของผู้ป่วย

มะเร็งไทรอยด์อาจแบ่งตามลักษณะของเซลล์มะเร็งได้ดังนี้
  • มะเร็งไทรอยด์ชนิดพาพิลลารี่ (Papillary Thyroid Cancer) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยและมีความรุนแรงน้อยที่สุด เกิดขึ้นที่เซลล์ต่อมไทรอยด์ชนิดฟอลลิคูลาร์ (Follicular Cell) ซึ่งเซลล์มะเร็งจะมีลักษณะคล้ายเซลล์ปกติ เจริญเติบโตช้า เกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แต่มักเกิดขึ้นกับหญิงวัยเจริญพันธุ์ หรือผู้ที่มีอายุ 30-50 ปี
  • มะเร็งไทรอยด์ชนิดฟอลลิคูลาร์ (Follicular Thyroid Cancer) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยรองจากชนิดพาพิลลารี่ โดยเกิดขึ้นที่เซลล์ต่อมไทรอยด์ชนิดฟอลลิคูลาร์เช่นเดียวกัน และมักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
  • มะเร็งไทรอยด์ชนิดเมดัลลารี (Medullary Thyroid Cancer) ถือว่าเป็นโรคทางพันธุกรรมซึ่งเกิดขึ้นที่เซลล์ต่อมไทรอยด์ชนิดซีเซลล์ (C Cell) ซึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนแคลซิโทนิน (Calcitonin) และเมื่อตรวจพบระดับฮอร์โมนแคลซิโทนินในเลือดสูงขึ้น ก็อาจบ่งชี้ถึงมะเร็งไทรอยด์ชนิดนี้ในระยะแรกเริ่มได้
  • มะเร็งไทรอยด์ชนิดอะนาพลาสติก (Anaplastic Thyroid Cancer) เป็นชนิดที่พบได้ไม่บ่อยนัก โดยเซลล์มะเร็งชนิดนี้จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว รักษาได้ยาก และมักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลืองของต่อมไทรอยด์ (Thyroid Lymphoma) เป็นอีกหนึ่งชนิดที่พบได้ยากและมักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ โดยเกิดความผิดปกติขึ้นที่เซลล์ภูมิคุ้มกันในต่อมไทรอยด์ และเซลล์เนื้อร้ายมักเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
มะเร็งไทรอยด์ในระยะแรกมักไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมา ผู้ป่วยอาจคลำพบก้อนนูนใต้ผิวหนังบริเวณกึ่งกลางลำคอ ก้อนเคลื่อนขึ้นลงตามการกลืน ในรายที่มีอาการก็จะแตกต่างกันไปตามอวัยวะที่มีการแพร่กระจายเช่น
  • เสียงแหบ
  • หายใจลำบากหรือหายใจมีเสียงหวีด
  • กลืนลำบาก หรือรู้สึกเจ็บขณะกลืน
  • เจ็บบริเวณลำคอ และปวดลามไปที่หูในบางครั้ง
  • ต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอบวม
หากสำรวจพบว่ามีอาการตามที่กล่าวไปข้างต้นหรือสงสัยในอาการป่วยของตนเอง ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยหาสาเหตุของโรคและรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป 

มักพบมะเร็งไทรอยด์ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ช่วงอายุที่พบบ่อยคือ 25 – 65 ปี  มีประวัติก้อนโตเร็ว มีประวัติเคยฉายแสงที่คอมาก่อน หรือมีประวัติเป็นมะเร็งไทรอยด์ในครอบครัว
 
หากคลำพบก้อนที่คอ ที่เคลื่อนที่ขึ้นลงตามการกลืนได้แล้ว และสงสัยว่าเป็นก้อนที่ต่อมไทรอยด์ ควรจะไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเพิ่มเติม
  • โดยทั่วไปแพทย์จะทำการเจาะเลือดตรวจ เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นก้อนที่มีการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินกว่าปกติหรือไม่
  • การส่งตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง หรือการตรวจอัลตร้าซาวด์ของต่อมไทรอยด์ ซึ่งการตรวจดังกล่าวจะทำให้สามารถเห็นลักษณะของก้อนที่ละเอียดได้ แพทย์จะใช้ในกรณีที่ผลการเจาะเลือดพบว่าระดับฮอร์โมนในเลือดปกติ
  • โดยถ้าพบลักษณะของก้อนที่เป็นของแข็ง มีขอบไม่เรียบ มีหินปูนในก้อน มีความสูงมากกว่าความกว้าง มีเส้นเลือดมาเลี้ยงบริเวณก้อนมาก ทำให้แพทย์ต้องสงสัยว่าอาจมีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้ และหากพบลักษณะดังกล่าวข้างต้น แพทย์จะแนะนำให้เจาะเอาเซลล์ในก้อนนั้นไปส่งตรวจอย่างละเอียด เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำต่อไป
  • การเจาะตรวจก่อนที่ต่อมไทรอยด์ เป็นการตรวจที่ไม่ยุ่งยากและมักจะไม่ได้สร้างความเจ็บปวดกับผู้ป่วยมาก แพทย์จะใช้เข็มฉีดยาขนาดเล็กเจาะผ่านผิวหนังไปในก้อนโดยตรง และทำการสุ่มเอาเซลล์ในก้อนนั้นออกไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อช่วยยืนยันว่าก้อนดังกล่าวเป็นเนื้องอกธรรมดาหรือเนื้อมะเร็งต่อมไทรอยด์
เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์แล้ว การรักษาที่เหมาะสมที่สุดในปัจจุบัน คือ การผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดอาจจะรวมไปถึงการผ่าตัดทั้งที่ต่อมไทรอยด์ และการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่คอ (เฉพาะผู้ป่วยบางรายการที่มีการกระจายไปต่อมน้ำเหลืองที่คอแล้ว)

สำหรับแนวทางการผ่าตัด อาจทำได้โดยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกทั้งหมด หรือการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกเพียงข้างใดข้างหนึ่งก็ได้ ทั้งนี้แพทย์จะเป็นผู้เลือกวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสมที่สุด ที่อาจจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย

ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดที่สำคัญที่ผู้ป่วยที่จะเข้ารับการผ่าตัดต่อมไทรอยด์มักจะกังวลเสมอ คือ
  • ภาวะเสียงแหบจากการบาดเจ็บของเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงบริเวณกล่องเสียง และ
  • ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำภายหลังการผ่าตัด

 ซึ่งภาวะทั้งสองมีโอกาสเกิดขึ้นได้จริงระหว่างการผ่าตัด แต่หากการผ่าตัดทำโดยศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว โอกาสในการเกิดความผิดปกติจากภาวะทั้งสองแบบถาวรมีต่ำมาก (น้อยกว่า 1%)

หลังการผ่าตัดจะต้องให้เคมีบำบัดหรือฉายรังสีรักษาหรือไม่
หลังการผ่าตัดเพื่อรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ แพทย์จะส่งชิ้นเนื้อไปทำการตรวจอย่างละเอียดทางห้องปฏิบัติการและประเมินดูว่ามะเร็งนั้นมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด  หากพบว่ามะเร็งนั้นเป็นมะเร็งที่มีความเสี่ยงสูงแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยรับการรักษาต่อด้วยการใช้สารรังสีไอโอดีน หรือที่เรียกว่า การกลืนน้ำแร่

การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหรือการฉายรักสีรักษา ไม่ค่อยมีความจำเป็นในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ และมักจะใช้เฉพาะในผู้ป่วยบางรายเท่านั้น ที่มีการกลับซ้ำของโรคหรือในระยะลุกลามที่เป็นมากแล้วเท่านั้น

ผลการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์เป็นอย่างไร มีโอกาสหายหรือไม่
การรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ในปัจจุบันให้ผลดีมาก และมีโอกาสในการหายขาดสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นมะเร็งไทรอยด์ชนิดพาพิลลารี่และฟอลลิคูลาร์ เนื่องจากการรักษาจะตอบสนองดีกับการผ่าตัดและใช้รังสีไอโอดีน โดยที่ผู้ป่วยจะมีอัตราการรอดชีวิตมากกว่า 95% หลังจากผ่านไปแล้ว 10 ปี

แก้ไขล่าสุด: 21 ตุลาคม 2565

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์ต่อมไร้ท่อ เบาหวานและโภชนบำบัด

ดูเพิ่มเติม

ศูนย์มะเร็งฮอไรซัน

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 10.00 of 10, จากจำนวนคนโหวต 1 คน

Related Health Blogs