bih.button.backtotop.text

ไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน

ไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน คือ การอักเสบของไส้ติ่งซึ่งมีลักษณะเป็นท่อคล้ายนิ้วขนาดเล็กยื่นออกมาจากลำไส้ใหญ่ทางขวาด้านล่าง โดยหน้าที่ของไส้ติ่งยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด สำหรับสาเหตุของไส้ติ่งอักเสบเกิดจากการติดเชื้อหรือการอุดตันในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งหากไม่ทำการรักษา ไส้ติ่งที่อักเสบอาจแตกและกระจายเชื้อโรคเข้าสู่ช่องท้องและอาจเข้าสู่กระแสเลือดได้ในที่สุด

อาการ
  • ปวดท้อง โดยเริ่มจากการปวดรอบๆ สะดือแล้วย้ายลงไปที่ท้องน้อยด้านขวา
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • มีอาการปวดเมื่อสัมผัสถูกท้องน้อยด้านขวา
  • มีไข้ต่ำๆ ซึ่งอาการอาจแย่ลงเมื่ออาการปวดรุนแรงขึ้น
  • ไม่สามารถผายลมได้
  • การขับถ่ายเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
 
หากผู้ป่วยมีอาการของไส้ติ่งอักเสบ ห้ามใช้ยาสวนทวารหรือยาระบายเพื่อบรรเทาอาการท้องผูก เนื่องจากยาเหล่านี้อาจทำให้ไส้ติ่งแตกได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยไม่ควรรับประทานยาแก้ปวดก่อนไปพบแพทย์ เนื่องจากยาอาจบดบังอาการของไส้ติ่งอักเสบและทำให้ยากต่อการวินิจฉัย
 
แพทย์จะวินิจฉัยจากการซักประวัติการเจ็บป่วย โดยเฉพาะโรคในระบบทางเดินอาหาร รวมถึงประวัติอาการปวดท้องและการขับถ่าย ไม่ว่าจะเป็นเวลา ความถี่ ลักษณะของอุจจาระ (เป็นน้ำหรือก้อนแข็ง) และอุจจาระมีมูกหรือเลือดปน

นอกจากนี้ แพทย์จะทำการตรวจร่างกายและตรวจอาการปวดที่บริเวณท้องน้อยด้านขวา รวมถึงตรวจเลือดและตรวจปัสสาวะ หากจำเป็นแพทย์อาจใช้การตรวจอัลตราซาวนด์หรือการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อยืนยันผลการวินิจฉัย

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์ภายใน 12-48 ชั่วโมงเนื่องจากอาการปวดท้อง แต่ในบางรายที่มีการอักเสบของไส้ติ่งเพียงเล็กน้อยอาจใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ก่อนมาพบแพทย์
 
มาตรฐานของการรักษาไส้ติ่งอักเสบ คือ การผ่าตัดไส้ติ่ง (appendectomy) ทั้งนี้ไส้ติ่งอักเสบจัดเป็นภาวะฉุกเฉิน จึงควรรักษาให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกันไส้ติ่งแตก

ในระหว่างการผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับยาปฏิชีวนะเข้าทางเส้นเลือดและจะได้รับต่อเนื่องตามแผนการรักษา ในรายที่มีไส้ติ่งแตกผู้ป่วยจะได้รับยาปฏิชีวนะและเข้ารับการรักษาดูแลในโรงพยาบาลที่นานขึ้น
 
ยังไม่มีวิธีป้องกันไส้ติ่งอักเสบได้ พบว่าผู้ที่นิยมรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผักและผลไม้ จะมีอัตราการเป็นไส้ติ่งอักเสบน้อยกว่าผู้ที่รับประทานผักผลไม้น้อย อย่างไรก็ตาม หากสงสัยว่ามีอาการของไส้ติ่งอักเสบ ให้รีบมาพบแพทย์ทันทีเพื่อจะได้รับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างทันท่วงที รวมทั้งป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดไส้ติ่งแตก
 
แก้ไขล่าสุด: 09 พฤษภาคม 2566

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์ทางเดินอาหาร-ตับ

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต NaN of 10, จากจำนวนคนโหวต 0 คน

Related Health Blogs