bih.button.backtotop.text

การบาดเจ็บของกระดูกสันหลัง (กระดูกสันหลังหัก)

กระดูกสันหลังหักแตกต่างจากกระดูกแขน-ขาหัก เนื่องจากบริเวณกระดูกสันหลังมีไขสันหลังและเส้นประสาทไขสันหลัง การบาดเจ็บอาจจะเป็นได้ตั้งแต่การบาดเจ็บเล็กน้อยของเส้นเอ็น เยื่อหุ้มข้อต่อกระดูกสันหลัง จนถึงกระดูกแตกหัก ยุบ เคลื่อนหลุด และเกิดการบาดเจ็บของระบบประสาทจนเป็นอัมพาตได้

สาเหตุ
การบาดเจ็บของกระดูกสันหลังอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อุบัติเหตุทางการจราจร (45%) ตกจากที่สูง (20%) บาดเจ็บจากการเล่นกีฬา (15%) พฤติกรรมความรุนแรง (15%) และสาเหตุอื่นๆ (5%) นอกจากนี้ภาวะกระดูกพรุนและเนื้องอกของกระดูกสันหลังก็เป็นสาเหตุร่วมที่ทำให้เกิดกระดูกสันหลังหักได้ (80%) ในผู้ป่วยอายุ 18-25 ปี ทั้งนี้เพศชายพบมากกว่าเพศหญิงประมาณ 4 เท่า
อาการขึ้นอยู่กับความรุนแรงและตำแหน่งที่ได้รับบาดเจ็บ อาจพบอาการปวดคอ หลัง หรือส่วนที่ได้รับบาดเจ็บ เหน็บชา กล้ามเนื้อเกร็งตัว อ่อนแรง สูญเสียการควบคุมการขับถ่าย ไปจนถึงอัมพาต ซึ่งบ่งบอกถึงการบาดเจ็บของระบบประสาทและไขสันหลัง
ในรายที่มีอุบัติเหตุรุนแรงและมีอาการดังที่กล่าวมาจะได้รับการป้องกันการบาดเจ็บเพิ่มเติมโดยการใส่อุปกรณ์พยุงกระดูกสันหลังและระวังการเคลื่อนย้าย หลังจากได้รับการตรวจร่างกายโดยละเอียดแพทย์จะทำการสั่งตรวจวินิจฉัยที่เหมาะสมต่อไป เช่น เอกซเรย์ การตรวจ CT scan หรือ MRI โดยการตรวจ MRI มักส่งตรวจในกรณีที่สงสัยว่ามีการบาดเจ็บต่อระบบประสาทหรือไขสันหลัง

การรักษาจะเริ่มต้นด้วยการให้ยาเพื่อลดความเจ็บปวดและป้องกันการบาดเจ็บเพิ่มขึ้นด้วยการตรึงกระดูกสันหลัง อาจเป็นการใส่เสื้อเกราะ ปลอกคอ หรือการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและประเภทของการบาดเจ็บ

  • การใส่อุปกรณ์ประคองกระดูกสันหลัง

อุปกรณ์ประคองกระดูกสันหลังมีหน้าที่ คือ

    • ประคับประคองกระดูกสันหลังส่วนที่บาดเจ็บ
    • ลดการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลัง ขณะที่กำลังฟื้นตัว
    • ลดอาการปวดจากการขยับของกระดูกสันหลัง

ในรายที่กระดูกหักหรือบาดเจ็บโดยไม่มีการเคลื่อนไหว หรือมีการบาดเจ็บของระบบประสาทจะได้รับการใส่อุปกรณ์ประคองกระดูกสันหลัง 8-12 สัปดาห์จนกระดูกติดร่วมกับการทำกายภาพบำบัด

  • การผ่าตัดยึดและ /หรือเชื่อมกระดูกสันหลัง ในกรณีที่กระดูกสันหลังหักและเกิดความไม่มั่นคง เคลื่อนหลุด การรักษาจะต้องทำให้กระดูกสันหลังมั่นคงขึ้น โดยการยึดตรึงกระดูกสันหลัง จัดเรียงกระดูกให้เข้าที่ รวมถึงอาจต้องเชื่อมข้อต่อกระดูกสันหลัง การยึดตรึงกระดูกสันหลังจะช่วยลดอาการปวด ช่วยทำให้การฟื้นตัวของระบบประสาทดีขึ้น นอกจากนี้ในบางรายที่มีกระดูกหัก หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท การผ่าตัดยังช่วยลดการกดทับได้ด้วย
  • การฉีดซีเมนต์และ kyphoplasty ใช้ในกรณีกระดูกยุบจากภาวะกระดูกพรุน หรือเนื้องอกบางชนิด เป็นการฉีดซีเมนต์เข้าไปยังกระดูกที่ยุบ ส่วน kyphoplasty จะมีการยกกระดูกที่ยุบด้วยบอลลูนก่อนแล้วค่อยฉีดซีเมนต์
แก้ไขล่าสุด: 29 พฤศจิกายน 2567

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

สถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์

ดูเพิ่มเติม

ศูนย์ฉุกเฉิน

ดูเพิ่มเติม

แผนกผู้ป่วยหนัก (ICU)

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 8.92 of 10, จากจำนวนคนโหวต 91 คน

Related Health Blogs