bih.button.backtotop.text

10 คำถามยอดฮิตที่แม่ตั้งครรภ์อยากรู้

สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนที่จะตั้งครรภ์ คงไม่มีเรื่องไหนสำคัญไปกว่าความสมบูรณ์แข็งแรงของเจ้าตัวเล็กในท้องแน่ๆ ค่ะ ดังนั้นหลายคนจึงมีความสงสัยและกังวลในหลายๆ เรื่อง 10 คำถามยอดฮิตที่แม่ตั้งครรภ์แทบทุกคนต้องถามคุณหมอมีอะไรกันบ้าง 
 
 
คำถามที่ 1: น้ำหนักที่ควรจะมีระหว่างตั้งครรภ์ในแต่ละช่วงอายุครรภ์เป็นอย่างไร
ตอบ: โดยทั่วไปตลอดอายุการตั้งครรภ์คุณแม่จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 12–15 กิโลกรัม โดยน้ำหนักของคุณแม่มักจะเพิ่มขึ้นมากในช่วงครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ ซึ่งจะเพิ่มขึ้นประมาณเดือนละ 2 กิโลกรัมครับ
 
 
คำถามที่ 2: การฉีดยาหรือวัคซีนต่างๆ ระหว่างตั้งครรภ์ เช่น วัคซีนบาดทะยัก จำเป็นหรือไม่ อย่างไร
ตอบ: ในปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้จัดให้วัคซีนบาดทะยักเป็นวัคซีนที่คุณแม่ควรฉีดเพื่อป้องกันการติดเชื้อบาดทะยักในทารกแรกคลอด นอกจากนี้คุณแม่ยังควรได้รับวัคซีนอื่นๆ เช่น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ อย่างไรก็ตามคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ห้ามรับวัคซีนป้องกันหัดเยอรมันด้วยครับ
 
 
คำถามที่ 3 : การทานวิตามินเสริมหรือยาบำรุงระหว่างตั้งครรภ์จำเป็นหรือไม่ 
ตอบ: นอกจากทานอาหารให้ครบ 5 หมู่แล้ว สารอาหารที่คุณแม่ควรทานเพิ่มคือ ธาตุเหล็ก ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการทำงานของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงที่เป็นตัวนำออกซิเจนไปสู่ทารกในครรภ์ หากคุณแม่ได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอจะทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ส่งผลให้คุณแม่เกิดอาการอ่อนเพลีย เหนื่อย และหายใจไม่สะดวกได้ง่าย ทั้งนี้การรับประทานธาตุเหล็กควรอยู่ในปริมาณที่พอเหมาะตามที่ร่างกายต้องการ คุณแม่จึงไม่ควรรับประทานเองโดยปราศจากคำแนะนำจากแพทย์
 
อีกหนึ่งสารอาหารที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับคือ แคลเซียม ที่จำเป็นต่อการสร้างกระดูกและฟันของทารกในครรภ์ คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมอย่างต่อเนื่องตลอดอายุครรภ์ 
 
สำหรับคุณแม่ที่ไม่สามารถทานอาหารได้ครบทุกหมู่ ควรรับประทานวิตามินเสริมเพื่อทดแทน แต่ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เนื่องจากการได้รับวิตามินบางชนิดมากเกินไปอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้

 
คำถามที่ 4 : การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์มีผลต่อลูกในท้องหรือไม่ อย่างไรควรหยุดเมื่อใด
ตอบ: การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์ไม่มีผลต่อลูกในครรภ์ แต่เมื่อช่วงใกล้คลอดควรลดการมีเพศสัมพันธ์ลงเพื่อลดอาการอึดอัด เจ็บแน่นของคุณแม่ อย่างไรก็ตามคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตอาการผิดปกติเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เช่น เจ็บครรภ์ก่อนกำหนด หรือมีเลือดออกจากช่องคลอด หากมีอาการดังกล่าวก็ควรหยุดการมีเพศสัมพันธ์และรีบปรึกษาแพทย์
 
 
คำถามที่ 5 : การดื่มนมวัวระหว่างตั้งครรภ์ มีผลอย่างไร
ตอบ: การดื่มนมวัวระหว่างตั้งครรภ์จะช่วยเพิ่มระดับแคลเซียมในเลือดคุณแม่เมื่อคุณแม่มีแคลเซียมสูงจะช่วยป้องกันเรื่องภาวะความดันโลหิตสูงได้
 
 
คำถามที่ 6 : การใช้ยาต่างๆ ระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น ยารักษาสิว มีอันตรายอย่างไร และหากจำเป็นต้องใช้ สามารถหลีกเลี่ยงได้อย่างไร
ตอบ: ยารักษาสิวบางกลุ่มทั้งชนิดทาและชนิดรับประทาน เช่น ยากลุ่มกรดวิตามินเอหรือเรตินอยด์ ได้แก่ Tretinoin, Isotretinoin, Adapaleneและ Tazarolene จัดเป็นยาอันตรายที่มีผลต่อทารกในครรภ์ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความพิการได้ ดังนั้นก่อนการใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ และแจ้งทุกครั้งว่าตนเองตั้งครรภ์ เพื่อได้รับการจ่ายยาที่เหมาะสม
 
 
คำถามที่ 7 : ภาวะครรภ์เสี่ยงคืออะไร แล้วเราจัดอยู่ในประเภทนั้นหรือไม่ หากมีภาวะเสี่ยงหรือป่วย เช่น การเป็นไทรอยด์ หรือเบาหวานควรทำอย่างไร
ตอบ: ภาวะครรภ์เสี่ยง หมายถึง การตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยงซึ่งส่งผลกระทบต่อแม่และทารกในครรภ์ โดยอาจทำให้เกิดอันตรายหรือเสียชีวิตได้ทั้งในขณะตั้งครรภ์ คลอด หรือหลังคลอด ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น คุณแม่มีโรคประจำตัว อาทิ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เคยมีประวัติคลอดบุตรยาก ผ่าตัดมดลูก แท้งบุตร รวมถึงตั้งครรภ์ในขณะที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป
 
เมื่อไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาล แพทย์จะเป็นผู้ทำการวินิจฉัยภาวะครรภ์เสี่ยง โดยทำการซักประวัติเพื่อหาปัจจัยเสี่ยง ร่วมกับวิธีอื่นๆ เช่น การตรวจปัสสาวะ วัดความดันโลหิต ตรวจดูยอดมดลูกเพื่อประมาณขนาดทารก หากพบว่ามีภาวะเสี่ยง เช่น เป็นโรคเบาหวาน ไทรอยด์ หรือมีโรคประจำตัวอื่นๆ ควรรักษาโรคนั้นๆ ให้หายก่อนการตั้งครรภ์ โดยควรปรึกษาแพทย์ที่ทำการรักษา

 
คำถามที่ 8 : การมีเนื้องอกระหว่างตั้งครรภ์เป็นอันตรายหรือไม่ อย่างไร
ตอบ: การมีเนื้องอกระหว่างตั้งครรภ์มีระดับความเสี่ยงต่างกันไปขึ้นอยู่กับตำแหน่งและลักษณะของเนื้องอก หากตรวจพบ คุณแม่ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อประเมินอันตรายจากเนื้องอกนั้นๆ และทำการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม อย่างไรก็ดี การเตรียมความพร้อมก่อนตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่จำเป็น เช่น ตรวจหาเนื้องอกและทำการรักษาให้หายก่อนการตั้งครรภ์ ซึ่งจะช่วยลดภาวะครรภ์เสี่ยงได้ 
 
 
คำถามที่ 9 : วิธีป้องกันและรักษาหากเป็นริดสีดวงระหว่างตั้งครรภ์
ตอบ: โดยทั่วไปอาการของริดสีดวงทวารจะเป็นมากขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ เนื่องจากคุณแม่มักมีอาการท้องผูกง่ายขึ้น เกิดจากมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นมีการกดทับลำไส้ใหญ่ ทำให้การทำงานของระบบขับถ่ายไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ผลจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและการไหลเวียนของหลอดเลือดที่มากขึ้น อาจทำให้หลอดเลือดบริเวณรอบทวารหนักเกิดการขยายตัวและโป่งพองได้ 
 
วิธีป้องกันหรือบรรเทาอาการริดสีดวงทวารทำได้โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เช่น รับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง (เช่น ผัก ผลไม้ หรือธัญพืช) มากขึ้น รวมทั้งควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เช่น เดิน หรือเดินในน้ำ เพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ นอกจากนี้ควรเพิ่มปริมาณการดื่มน้ำสะอาดในแต่ละวัน ซึ่งจะช่วยลดอาการท้องผูกได้ ทั้งนี้คุณแม่ควรขับถ่ายให้ได้ทุก 1 – 2 วัน

 
คำถามที่ 10 : ระหว่างตั้งครรภ์ มีอาการปวดนิ้วมือ นิ้วเท้า หรือบางครั้งก็มีอาการชา เป็นเพราะอะไร อันตรายหรือไม่ 
ตอบ: ในระหว่างการตั้งครรภ์ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน โดยฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนส่งผลให้เอ็นคลายตัวจึงทำให้ข้อต่อกระดูกมีการหย่อนตัว ในขณะเดียวกันกล้ามเนื้อก็ทำงานมากขึ้นจึงเกิดอาการปวดตามข้อมากขึ้น ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรหลีกเลี่ยงการยกของหนัก การใส่รองเท้าส้นสูง และควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ หากมีอาการปวดหลัง ควรนั่งพัก และอย่าเดินมาก ทั้งนี้หากอาการเจ็บปวดส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือสร้างความรำคาญใจ คุณแม่สามารถใช้ยานวดทาเพื่อบรรเทาอาการได้ สำหรับคุณแม่บางท่านอาจมีอาการชาตามข้อมือได้ เนื่องจากอาการบวมของพังผืดบริเวณข้อมืออาจบีบรัดเส้นประสาทบริเวณแขนและข้อมือ ทำให้เกิดอาการชาบริเวณปลายประสาทได้ อย่างไรก็ตาม หากอาการปวดหรือชาของคุณแม่ไม่บรรเทาลง หรือมีความเจ็บปวดมากขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์
 
โดย ศูนย์สูติ-นรีเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 17 กุมภาพันธ์ 2564

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs