มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตัวร้ายที่ป้องกันได้
จากสถิติขององค์การอนามัยโลกในปี 2563 มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 4 ของผู้หญิงทั่วโลก ในปัจจุบันเราทราบว่าเชื้อ Human Papillomavirus หรือเชื้อ HPV เป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งปากมดลูก
ผู้หญิงทุกคนที่แต่งงานหรือมีเพศสัมพันธ์แล้วมีโอกาสติดเชื้อไวรัส HPV ได้ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่ภูมิคุ้มกันของร่างกายของผู้ที่ติดเชื้อจะสามารถกำจัดเชื้อไวรัสออกไปได้โดยไม่ก่ออาการหรือโรค แต่บางคนอาจติดเชื้อซ้ำหรือร่างกายกำจัดไวรัสออกไปไม่หมด ทำให้พัฒนากลายเป็น
โรคมะเร็งปากมดลูกได้
ไวรัส HPV คืออะไร
ไวรัส HPV มีมากกว่า 200 สายพันธุ์ แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ
- ไวรัส HPV กลุ่มที่มีความเสี่ยงน้อย (low-risk HPVs): ส่วนใหญ่ไม่ทำให้เกิดโรค แต่บางสายพันธุ์อาจทำให้เกิดหูดบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก ปากหรือลำคอ
- ไวรัส HPV กลุ่มที่มีความเสี่ยงมาก (high-risk HPVs): มีอยู่ประมาณ 16 สายพันธุ์ โดยสายพันธ์ที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งมากที่สุดคือ สายพันธุ์ 16 และ 18
ไวรัส HPV ติดต่อกันได้อย่างไร
ประมาณ 85% ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะทางช่องคลอด ทางทวารหนักหรือทางปาก ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก
มะเร็งทวารหนักและมะเร็งกล่องเสียงได้ อีก 15% อาจติดจากมือที่สัมผัสกับไวรัส และไปสัมผัสกับปากมดลูกที่มีแผลหรือมีรอยปริแยก ทำให้ไวรัสเข้าไปในปากมดลูก
สัญญาณเตือนของโรคมะเร็งปากมดลูกมีอะไรบ้าง
โรคมะเร็งปากมดลูกมักใช้เวลานานหลายปีกว่าจะพัฒนาจนแสดงอาการออกมา ผู้ป่วยมักมีอาการเมื่อเป็นมะเร็งในระยะที่ 2 ไปแล้ว โดยอาการมีดังนี้
- มีเลือดออกผิดปกติ เช่น หลังการมีเพศสัมพันธ์ ประจำเดือนมากผิดปกติหรือนานกว่าปกติ เลือดออกหลังหมดประจำเดือน
- มีตกขาวเพราะการอักเสบติดเชื้อ มีกลิ่น
- หากมะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ผู้ป่วยอาจมีอาการ เช่น ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะมีเลือดปน ท้องเสีย มีเลือดออกทางทวารหนัก รู้สึกเจ็บปวดบริเวณท้อง/อุ้งเชิงกราน
ใครบ้างที่มีความเสี่ยง
ถึงแม้สาเหตุหลักในการเกิดมะเร็งปากมดลูกคือการติดเชื้อ HPV แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆที่ทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกมากขึ้น ดังนี้
- ผู้ที่ไม่ตรวจแปปสเมียร์ร่วมกับตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุกปี
- มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันหรือมีคู่นอนหลายคน
- สูบบุหรี่
- มีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ เช่น ติดเชื้อ HIV
- รับประทานยาคุมกำเนิดเป็นระยะเวลานาน
- ตั้งครรภ์และมีบุตรมากกว่า 3 คนขึ้นไป
มีวิธีการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกอย่างไร
โรคมะเร็งปากมดลูกมีโอกาสในการรักษาให้หายสูง หากเจอตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม วิธีการรักษาแบ่งตามระยะที่พบโรค ดังนี้
ระยะก่อนมะเร็ง
ผู้ป่วยมีเซลล์ที่ผิดปกติแต่ยังไม่ได้พัฒนาเป็นมะเร็ง
- เซลล์ผิดปกติในระยะที่ 1: รักษาด้วยการจี้ร้อนหรือจี้เย็น เพื่อทำลายเซลล์ที่ผิดปกติ
- เซลล์ผิดปกติในระยะที่ 2 และ 3: รักษาด้วยการตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวยเพื่อเอาเซลล์ที่ผิดปกติออกด้วยห่วงลวดไฟฟ้า เป็นการผ่าตัดเล็กและเจ็บปวดน้อย ไม่ได้ทำให้เสียความสามารถในการมีบุตร
ระยะเป็นมะเร็ง
การรักษาแบ่งตามระยะของมะเร็ง
- มะเร็งระยะที่ 1: รักษาโดยการผ่าตัดและรังสีรักษา มีโอกาสหายประมาณ 80-85%
- มะเร็งระยะที่ 2 และระยะที่ 3: เป็นระยะที่ลุกลามไปถึงอวัยวะข้างเคียง เนื้อเยื่อข้างๆตัวปากมดลูกหรือช่องคลอดต้นๆ รักษาโดยการใช้รังสีรักษาและเคมีบำบัด และในบางกรณีอาจต้องมีการผ่าตัด ในระยะ 2 มีโอกาสหาย 70-75% ในระยะ 3 โอกาสหายลดลดเหลือ 60-65%
- มะเร็งระยะที่ 4: เป็นระยะลุกลาม มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะที่ไกลออกไป เช่น ตับหรือปอด รักษาโดยการใช้รังสีรักษาและเคมีบำบัด เป็นระยะที่รักษาได้ยากและอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด
โรคมะเร็งปากมดลูกป้องกันได้หรือไม่
โรคมะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันได้ ถึงแม้ป้องกันไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สามารถลดความเสี่ยงลงไปได้มาก ด้วยการป้องกันดังนี้
- การฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ HPV ควรฉีดทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ควรฉีดก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกหรือตั้งแต่อายุ 9 ขวบขึ้นไป
- การตรวจแปปสเมียร์ร่วมกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
- ใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- งดสูบบุหรี่
ศูนย์สูติ-นรีเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและบริการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV รวมถึงการวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย โดยแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทางด้านนรีเวช
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: