วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก Human Papillomavirus (HPV) Vaccine
มะเร็งปากมดลูกคืออะไร?
มะเร็งปากมดลูก เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV หรือ Human Papilloma Virus สามารถติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งผู้หญิงถึงร้อยละ 80 ติดเชื้อ HPV ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต โดยไวรัสชนิดนี้จะใช้เวลาเฉลี่ย 5 – 10 ปี ในการเปลี่ยนแปลงเซลล์ปากมดลูกให้กลายเป็นมะเร็งปากมดลูก การติดเชื้อ HPV ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่มีเชื้อ HPV นอกจากนี้ เชื้อ HPV ยังสามารถก่อให้เกิดมะเร็งชนิดอื่นๆ เช่น มะเร็งทวารหนัก รวมถึงหูดหงอนไก่ ได้อีกด้วย สามารถพบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย
มะเร็งปากมดลูก นั้นส่วนใหญ่จะพบในผู้หญิงวัย 30 - 55 ปี อาการแสดงของมะเร็งปากมดลูกโดยเริ่มแรกมักไม่แสดงอาการจนกว่าโรคจะพัฒนาไปถึงขั้นร้ายแรง อาจมีภาวะน้ำหนักตัวลด อ่อนเพลีย ปวดเชิงกรานและหลัง ขาบวมข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง ตลอดจนมีอาการท้องผูกและปัสสาวะเป็นเลือด อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปวดหลังและปัสสาวะหรืออุจจาระลำบาก
นอกจากนี้เชื้อ HPV ยังทำให้เกิดหูดหงอนไก่โดยผู้ป่วยอาจไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เลยนานนับปี จนเมื่อมีก้อนโตมากไปอุดกั้นช่องคลอด ทวารหนัก หรือท่อปัสสาวะ จนเกิดอาการคันและปวด บางรายอาจมีเลือดออก ตกขาวผิดปกติ และแสบร้อนที่อวัยวะเพศ
อย่างไรก็ตาม มะเร็งปากมดลูกเป็นหนึ่งในมะเร็งที่ป้องกันได้และการป้องกันสามารถทำได้ง่ายกว่าการรักษา เพียงเข้ารับ
การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear หรือ Pap Test) และฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของทางโรงพยาบาล
ใครควรได้รับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก?
การรับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกสามารถฉีดได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย โดยแนะนำให้ฉีดในผู้หญิงอายุตั้งแต่ 9-45 ปี และผู้ชายควรฉีดวัคซีนในช่วงอายุ 9-26 ปี หากได้รับวัคซีนก่อนการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกและร่างกายอยู่ในวัยที่สร้างภูมิคุ้มกันได้ดีจะทำให้ได้รับประสิทธิภาพจากวัคซีนสูงสุด ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์แล้วก็สามารถฉีดได้ แต่ประสิทธิภาพอาจจะลดลงทำให้ได้ผลดีไม่เท่ากับผู้ที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกมีกี่ประเภท?
ปัจจุบันในประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก 2 ชนิดด้วยกัน ได้แก่
- ชนิด 2 สายพันธุ์ ครอบคลุมสายพันธุ์ 16 และ 18
- ชนิด 4 สายพันธุ์ ครอบคลุมสายพันธุ์ 6, 11, 16 และ 18
ซึ่งวัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่เกิดจากเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ18 ได้ถึง 70% ส่วนวัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์สามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ 6 และ 11 เพิ่มเติม ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหูดหงอนไก่และมะเร็งทวารหนักในเด็กผู้ชายได้ด้วย
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ต้องฉีดทั้งหมดกี่เข็ม?
การฉีดวัคซีนต้องฉีดให้ครบถ้วนทั้งหมด 3 เข็ม โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ แบ่งตามชนิด ดังนี้
|
เข็มที่ 1
|
เข็มที่ 2
|
เข็มที่ 3
|
ชนิด 4 สายพันธุ์
|
วันที่ต้องการฉีด
|
หลังจากเข็มแรก 2 เดือน
|
หลังจากเข็มแรก 6 เดือน
|
ชนิด 2 สายพันธุ์
|
วันที่ต้องการฉีด
|
หลังจากเข็มแรก 1 เดือน
|
หลังจากเข็มแรก 6 เดือน
|
อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อจะเกิดขึ้นภายใน 1 เดือน หลังจากได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม ส่วนระยะเวลาในการป้องกันโรคของวัคซีนยังคงต้องติดตามผลต่อไป เนื่องจากวัคซีนยังไม่มีข้อมูลประสิทธิผลของวัคซีนยาวเกินกว่า 10 ปี และเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการฉีดวัคซีน HPV ควรได้รับวัคซีนตั้งแต่ยังไม่ติดเชื้อ HPV นั่นคือก่อนการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก
หมายเหตุ ในเด็ก หรือวัยรุ่นก่อนอายุ 15 ปี ให้ฉีดเพียง 2 เข็ม โดยฉีดห่างกัน 6-12 เดือน (จากเข็มแรก)
อาการข้างเคียงหลังจากฉีดวัคซีนมีอะไรบ้าง?
โดยทั่วไปมักไม่ค่อยพบอาการข้างเคียงที่รุนแรง อาจมีอาการข้างเคียงเล็กน้อยเกิดขึ้นได้ เช่น อาการปวดบวม หรือแดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน ไข้
ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย หรือปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งเกิดขึ้นชั่วคราวและหายได้เอง
ควรทำอย่างไร หากลืมมารับวัคซีนตามนัด?
ในกรณีที่ลืมฉีดวัคซีนตามตารางนัด สามารถฉีดเข็มถัดไปได้โดยไม่ต้องเริ่มใหม่ทั้งหมด
|
กรณีลืมฉีดเข็มที่ 2
|
กรณีลืมฉีดเข็มที่ 3
|
ชนิด 4 สายพันธุ์
|
ฉีดได้ไม่เกินเดือนที่ 8 จากเข็มแรก
เพื่อให้ครบสามเข็มในเวลา 1 ปี
|
ฉีดไม่เกินเดือนที่ 12 จากเข็มแรก
เพื่อให้ครบสามเข็มใน 1 ปี
(แต่ต้องห่างจากเข็มที่ 2 เป็นเวลา 4 เดือน)
|
ชนิด 2 สายพันธุ์
|
ฉีดได้ไม่เกินเดือนที่ 7 จากเข็มแรก
เพื่อให้ครบสามเข็มในเวลา 1 ปี
|
ฉีดไม่เกินเดือนที่ 12 จากเข็มแรก
จากเข็มแรกเพื่อให้ครบสามเข็มใน 1 ปี
(แต่ต้องห่างจากเข็มที่ 2 เป็นเวลา 5 เดือน)
|
ถึงแม้ท่านจะได้รับวัคซีนป้องกันแล้ว อย่างไรก็ตาม การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกยังคงเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากวัคซีนสามารถในการป้องกันการติดเชื้อ HPV เฉพาะสายพันธุ์ที่ระบุในวัคซีนนั้นๆเท่านั้น ไม่สามารถป้องการติดเชื้อจากสายพันธุ์ที่นอกเหนือจากที่อยู่ในวัคซีนได้
หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชั่วโมง
เอกสารอ้างอิง:
- Human Papillomavirus (HPV) Vaccines. National Cancer Institute; [cited on 2019 Apr 12]; Available from: http://www.cancer.gov/cancertopics/factsheet/Prevention/HPV-vaccine
- วัคซีน : การวิจัยพัฒนา การผลิต การควบคุมคุณภาพ และการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค. จรุง เมืองชนะ, สมฤดี จันทร์ฉวี, บรรณาธิการ. นนทบุรี: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; 2555.
- ความรู้เรื่องวัคซีน HPV (Human Papilomavirus Vaccine). คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยามหิดล; [cited on 2019 Apr 12]; Available form: https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/173
Contact information
Drug Information Service ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
Tel: +66(0) 2 011 3399 Email:
[email protected]
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: