bih.button.backtotop.text

GERD... โรคยอดฮิต ที่ไม่ควรมองข้าม

โรคกรดไหลย้อนคืออะไร?

โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) คือ โรคที่เกิดขึ้นเมื่อกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาสู่หลอดอาหาร คอหอย หรือปาก ทำให้เกิดอาการระคายเคือง และอาการอื่นๆ เช่น แสบร้อนกลางอก จุกลิ้นปี่ ขมปากขมคอ เสียงแหบ ตามมาในที่สุด

 

โรคกรดไหลย้อนมีสาเหตุมาจากอะไร?

โรคกรดไหลย้อนเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ดังนี้

1. ปัจจัยทางด้านความบกพร่องของอวัยวะ
  • หูรูดส่วนล่างของหลอดอาหารบีบตัวผิดปกติหรือบีบตัวได้น้อย ทำให้อาหารและน้ำย่อยในกระเพาะอาหารถูกดันกลับขึ้นมาในหลอดอาหาร เป็นผลทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อน
  • กระเพาะอาหารและหลอดอาหารบีบตัวลดลง ทำให้อาหารและน้ำย่อยที่คลุกเคล้ากันอยู่คั่งอยู่ในกระเพาะอาหารเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดแรงดันในกระเพาะอาหารมากขึ้น หูรูดส่วนที่ต่อกับหลอดอาหารจึงถูกดันให้เปิดออก และดันเอาอาหารและน้ำย่อยที่ผสมกันอยู่ย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร เป็นผลให้เกิดภาวะกรดไหลย้อนในที่สุด
2. ปัจจัยทางด้านอาหารและยา
  • การรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ทำให้หูรูดระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารคลายตัว เช่น ของทอด อาหารที่มีไขมันสูง ช็อกโกแลต กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เปปเปอร์มินต์ เป็นต้น
  • การรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองบริเวณหูรูด เช่น อาหารรสจัด อาหารที่มีความเป็นกรดสูง น้ำส้ม น้ำมะนาว น้ำมะเขือเทศ พริกไทย เป็นต้น
  • พฤติกรรมการทานอาหารมื้อใหญ่ หรือทานมื้อดึก
  • การทานยาที่อาจมีผลลดการเคลื่อนตัวของกระเพาะอาหาร หรือยาที่มีฤทธิ์เป็นกรด
3. ปัจจัยอื่นๆ
  • ความเครียด มีผลทำให้กระเพาะอาหารมีการหลั่งกรดออกมามากขึ้น จึงทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อโรคกระเพาะอาหารและโรคกรดไหลย้อน
  • โรคอ้วน คนที่มีภาวะอ้วนอาจมีความดันในช่องท้องสูงกว่าคนทั่วไป ส่งผลให้ความดันในกระเพาะอาหารสูงขึ้นตามไปด้วย จึงเสี่ยงเป็นโรคกรดไหลย้อนได้มากกว่าปกติ
  • การตั้งครรภ์ ภาวะครรภ์ที่ใหญ่ขึ้นทำให้ความดันในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้นไปด้วย จึงเสี่ยงต่อการเป็นโรคกรดไหลย้อนได้สูง
  • การสูบบุหรี่ อาจส่งผลให้กรดในกระเพาะอาหารหลั่งออกมามากขึ้น และทำให้กระเพาะอาหารบีบตัวลดลง จึงมีโอกาสที่กรดจะไหลย้อนกลับขึ้นมาในหลอดอาหารได้ง่าย
 

โรคกรดไหลย้อนมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคกรดไหลย้อนนั้นมีหลากหลายอาการ ได้แก่
  • แสบร้อนบริเวณหน้าอกและลิ้นปี่ (Heartburn) หรือเจ็บบริเวณกลางอก รู้สึกเหมือนมีก้อนจุกอยู่ที่คอ เจ็บคอ แสบคอ เรอบ่อย คลื่นไส้ รู้สึกเหมือนมีน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาที่คอหรือปากหลังรับประทานอาหาร อาการอาจแย่ลงตอนกลางคืน
  • เสียงแหบเรื้อรัง หรือแหบเฉพาะตอนเช้า อาจมีเสียงผิดปกติไปจากเดิม เกิดจากกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาบริเวณกล่องเสียง ทำให้เกิดกล่องเสียงอักเสบ มีอาการไอแห้งๆ หรือมีอาการไอเรื้อรัง โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร หรือขณะนอน รู้สึกสำลักน้ำลาย หรือหายใจไม่ออกในเวลากลางคืน
 

เราจะรักษาและป้องกันโรคกรดไหลย้อนได้อย่างไร?

การรักษาโรคกรดไหลย้อนอย่างถูกวิธีจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการแทรกซ้อนอื่นๆ รวมถึงช่วยลดความรุนแรง และลดการเกิดซ้ำของโรคได้ ซึ่งการรักษาโรคกรดไหลย้อนมีหลายวิธี ดังนี้

1. รับประทานยาลดกรด
  • ยาลดกรดที่มีส่วนประกอบของ Aluminium hydroxide และ Magnesium hydroxide จะช่วยลดความเป็นกรดในกระเพาะอาหารอย่างรวดเร็ว ลดอาการแสบร้อนกลางอก แต่ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยโรคไต
  • ยาที่ออกฤทธิ์ลดการผลิตกรดในกระเพาะอาหาร ประเภทต้านการหลั่งฮิสตามีน (H2 blockers) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ช้ากว่า แต่สามารถลดกรดได้ยาวนานถึง 12 ชั่วโมง และทานหลังอาหารได้ ได้แก่ Cimetidine, Famotidine, Ranitidine
  • ยาที่ยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารโดยตรง ประเภทออกฤทธิ์ต่อเซลล์สร้างกรด (Proton pump inhibitors) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรดได้ยาวนาน มีผลทำให้เนื้อเยื่อที่เสียหายของหลอดอาหารมีเวลาฟื้นฟูกลับมาปกติได้เหมือนเดิม ได้แก่ Omeprazole, Esomeprazole, Rabeprazole, Pantoprazole, Lansoprazole, Dexlansoprazole
  • ยากลุ่มใหม่ที่ยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารโดยตรง คือ กลุ่ม Potassium-competitive acid blockers (P-CABs) ได้แก่ Vonoprazan ซึ่งยากลุ่มนี้มีข้อดีคือ สามารถรับประทานได้โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงมื้ออาหาร
​​2. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่เพิ่มการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร เช่น อาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด แอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน น้ำอัดลม กระเทียม หัวหอม เป็นต้น รวมถึงหลีกเลี่ยงการทานอาหารมื้อใหญ่ ควรแบ่งเป็นมื้อเล็กๆ แต่บ่อยครั้ง
  • ผ่อนคลายความเครียด เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกกำลังกาย นั่งสมาธิ สวดมนต์
  • ควบคุมน้ำหนัก โดยเฉพาะในคนอ้วน หรือคนที่น้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน เมื่อน้ำหนักลด ความดันในกระเพาะอาหารก็จะลดลง ทำให้อาหารและกรดในกระเพาะอาหารดันหูรูดหลอดอาหารน้อยลง อาการกรดไหลย้อนก็จะลดลงตามไปด้วย นอกจากนั้นยังส่งผลดีต่อสุขภาพด้านอื่นๆ และทำให้มีสุขภาพที่แข็งแรง
  • หลีกเลี่ยงการนอนราบทันทีหลังรับประทานอาหาร ควรรออย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง หรือหากนอนควรนอนหนุนหมอนสูง และไม่ควรออกกำลังกายหลังรับประทานอาหารเสร็จทันที
3. การผ่าตัดหรือการใส่อุปกรณ์ช่วย
ส่วนมากจะใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย หากการรักษาด้วยยาและการปรับพฤติกรรมยังไม่ได้ผลการรักษาที่ดี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

 

เมื่อไหร่ต้องรีบไปพบแพทย์?

โรคกรดไหลย้อน ไม่ได้เป็นโรคที่อันตรายถึงชีวิต แต่หากไม่รีบรักษา อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ ดังนั้น หากรับประทานยาลดกรดและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น รวมถึงหากมีอาการอื่นๆ เช่น อาเจียนหรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ไออย่างรุนแรง หายใจหอบเหนื่อย อิ่มอย่างรวดเร็วหลังรับประทานอาหาร ไม่อยากอาหาร อาเจียนบ่อยๆ เสียงแหบลง กลืนยาก กลืนแล้วเจ็บ น้ำหนักลด หรือมีความรู้สึกเหมือนมีก้อนที่หน้าอก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาในทันที
 
หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชั่วโมง
 

Contact information:  Drug Information Service ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

Tel: +66(0) 2 011 3399 Email: [email protected]

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:


แก้ไขล่าสุด: 10 มกราคม 2566

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs