bih.button.backtotop.text

ปกป้องลูกน้อยจากไวรัสโรต้าได้ ด้วยวัคซีนโรต้า!

ไวรัสโรต้า คืออะไร

ไวรัสโรต้า เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่สามารถทำให้เกิดอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำและอาเจียนรุนแรงในทารกและเด็กเล็ก อย่างไรก็ตาม เชื้อไวรัสนี้สามารถทำให้เด็กโตและผู้ใหญ่เกิดอาการป่วยได้เช่นกัน โดยอาการในผู้ใหญ่จะมีความรุนแรงน้อยกว่าในเด็ก
 


การติดเชื้อไวรัสโรต้า มีอาการอย่างไร

อาการของการติดเชื้อไวรัสโรต้า มักแสดงหลังจากสัมผัสเชื้อไปแล้วประมาณ 2 วัน โดยอาการที่พบบ่อยที่สุด คือ ถ่ายเหลวเป็นน้ำ อาเจียน มีไข้ และ/หรือปวดท้อง ซึ่งอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำและอาเจียนนั้นอาจนานถึง 3-8 วัน นอกจากนี้อาการอื่นๆ เช่น เบื่ออาหาร และภาวะขาดน้ำ ก็สามารถทำให้เกิดอันตรายได้ โดยเฉพาะในทารกและเด็กเล็ก
 


ไวรัสโรต้า ติดต่อได้อย่างไร

การติดต่อของเชื้อไวรัสโรต้าสามารถเกิดขึ้นได้หากได้รับเชื้อทางปากด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ผู้ป่วยไม่ได้ล้างมือหลังจากสัมผัสอุจจาระที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสแล้วนำมือนั้นเข้าปาก หรือสัมผัสวัตถุหรือพื้นผิวที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสแล้วนำมือเข้าปาก รวมถึงการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสด้วย

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโรต้าสามารถแพร่กระจายเชื้อสู่สิ่งแวดล้อมผ่านทางอุจจาระและทำให้ผู้อื่นติดเชื้อได้ โดยผู้ป่วยสามารถแพร่กระจายเชื้อไวรัสสู่ผู้อื่นได้มากที่สุดระหว่างที่แสดงอาการและในช่วง 3 วันแรกหลังจากหายป่วย นอกจากนี้ผู้ป่วยยังสามารถแพร่กระจายเชื้อไวรัสก่อนที่จะแสดงอาการได้อีกด้วย
 


การรักษาการติดเชื้อไวรัสโรต้า ทำได้อย่างไร

ปัจจุบันไม่มียารักษาจำเพาะสำหรับการติดเชื้อไวรัสโรต้า การรักษาจึงเป็นเพียงการรักษาตามอาการ หากอาการไม่รุนแรง ให้ดื่มเกลือแร่เพื่อชดเชยการสูญเสียสารน้ำและเกลือแร่ และให้ยาอื่นๆ รักษาตามอาการ หากมีภาวะพร่องเอนไซม์แลคเตส พิจารณาให้กินนมที่ไม่มีน้ำตาลแลคโตส ในกรณีที่มีไข้สูง อาเจียนรุนแรง ทานอาหารไม่ได้ อ่อนเพลีย ซึมลง ให้รีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์
 


การติดเชื้อไวรัสโรต้า สามารถป้องกันได้หรือไม่

แม้จะไม่มียารักษาที่จำเพาะ แต่เราสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโรต้าได้ด้วยการให้วัคซีนโรต้า ซึ่งสามารถให้โดยการหยอดทางปาก โดยทารกควรได้รับวัคซีน 2 หรือ 3 ครั้ง ขึ้นกับยี่ห้อของวัคซีนที่ได้รับ
  • หากเป็นวัคซีนชนิดหยอด 2 ครั้ง ควรได้รับที่อายุ 2 เดือน และ 4 เดือน
  • หากเป็นวัคซีนชนิดหยอด 3 ครั้ง ควรได้รับที่อายุ 2 เดือน, 4 เดือน, และ 6 เดือน
ทั้งนี้วัคซีนโดสแรกควรได้รับก่อนอายุ 15 สัปดาห์ และวัคซีนโดสสุดท้ายควรได้รับก่อนอายุ 8 เดือน
จากการศึกษาทางคลินิกในเด็กหลายพันคนพบว่า วัคซีนโรต้ามีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย โดยเด็กที่ได้รับวัคซีน 9 ใน 10 คน ไม่พบอาการรุนแรงจากการติดเชื้อ (ไข้ อาเจียน ท้องเสีย และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง) ในขณะที่เด็ก 7 ใน 10 คน ไม่พบการเจ็บป่วยเลย
 


อาการข้างเคียงที่พบได้จากวัคซีนโรต้า มีอะไรบ้าง

อาการข้างเคียงที่พบได้หลังจากได้รับวัคซีน ได้แก่ เบื่ออาหาร อาเจียน ท้องเสีย งอแง ไข้ ส่วนอาการข้างเคียงอื่นๆ ที่อาจพบได้บ้าง ได้แก่ ท้องอืด ปวดท้อง ผิวหนังอักเสบ อย่างไรก็ดี เด็กส่วนใหญ่มักไม่เกิดอาการข้างเคียงหลังจากได้รับวัคซีน
 

ข้อห้ามของการให้วัคซีนโรต้า มีอะไรบ้าง

  1. ห้ามให้วัคซีนในเด็กที่มีอายุเกินกว่าที่กำหนด
  2. ห้ามให้วัคซีนในเด็กที่มีอาการแพ้ยาหลังได้รับวัคซีนโรต้าในครั้งก่อน หรือแพ้ส่วนประกอบตัวใดตัวหนึ่งของวัคซีน
  3. ห้ามให้วัคซีนในเด็กที่เคยมีประวัติเป็นโรคลำไส้กลืนกัน (Intussusception) หรือเป็นโรคระบบทางเดินอาหารผิดปกติตั้งแต่กำเนิดที่ยังไม่ได้รับการรักษา เช่น Meckel diverticulum ซึ่งมีแนวโน้มที่อาจก่อให้เกิดโรคลำไส้กลืนกัน
  4. ห้ามให้วัคซีนในเด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องชนิด Severe combined immunodeficiency (SCID) syndrome


ข้อควรระวังของการให้วัคซีนโรต้า มีอะไรบ้าง

  1. หากเด็กมีไข้สูงรุนแรงเฉียบพลัน หรือมีอาการท้องเสียหรืออาเจียน ควรเลื่อนการให้วัคซีนออกไป
  2. ในกรณีทารกที่เป็นโรคระบบทางเดินอาหาร ควรให้วัคซีนโรต้าด้วยความระมัดระวัง โดยอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์
  3. ไม่แนะนำให้ใช้วัคซีนนี้ในเด็กโต ผู้ใหญ่ หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร


หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชม.

Contact information:  Drug Information Service ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

Tel: +66(0) 2 011 3399 Email: [email protected]


 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs