การผ่าตัดข้อสะโพกเทียมคืออะไร?
การผ่าตัดข้อสะโพกเทียมเป็นการผ่าตัดข้อสะโพกเดิมที่มีปัญหาออกไปแล้วทดแทนด้วยข้อสะโพกเทียม โดยมักพบในผู้สูงอายุที่มี
ภาวะข้อสะโพกเสื่อมอย่างรุนแรง (severe osteoarthritis of hip joint) หรือในผู้สูงอายุที่มี
ภาวะกระดูกพรุน หกล้ม
ข้อสะโพกหัก (fracture femoral neck) แต่อาจพบในผู้ที่มีอายุน้อยได้ เช่น
ภาวะข้อสะโพกขาดเลือด ทำให้หัวข้อสะโพกถูกทำลาย (avascular necrosis of femoral head) เป็นต้น โดยสามารถผ่าตัดเปลี่ยนหัวข้อสะโพกเทียมอย่างเดียว (hemiarthroplasty) หรือ
ผ่าตัดเปลี่ยนทั้งส่วนหัวและเบ้าข้อสะโพก (total hip replacement)
ข้อสะโพกเทียมมีส่วนประกอบอย่างไร?
ข้อสะโพกเทียมประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนที่ทดแทนเบ้าข้อสะโพก (acetabulum) ส่วนของหัวข้อ สะโพก (femoral head and stem) และส่วนที่ทำหน้าที่ทดแทนกระดูกอ่อน (polyethylene)
อะไรคือสิ่งที่แพทย์และผู้ป่วยคาดหวังจากผลการผ่าตัดข้อสะโพกเทียม?
หลังการผ่าตัดผู้ป่วยทุกรายต้องการหายปวดและสามารถกลับมาใช้งานข้อสะโพกได้ดีใกล้เคียงปกติมากที่สุด แต่ผู้ป่วยบางรายมีความต้องการที่จะฟื้นตัวเร็ว เพื่อให้สามารถกลับไปทำงานตามปกติได้เร็วซึ่งเป็นผลในระยะสั้น (short term benefit) ส่วนแพทย์มักให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย ไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด และเลือกแนวทางการผ่าตัดที่ช่วยให้ผู้ป่วยไม่มีปัญหาที่ต้องเป็นสาเหตุที่ต้องกลับมาผ่าตัดแก้ไขอีกซึ่งเป็นผลการรักษาในระยะยาว (long term benefit) แต่ในปัจจุบันแพทย์ให้ความสำคัญเรื่องการเพิ่มความพึงพอใจของผู้ป่วยมากขึ้น จึงให้ความสำคัญเรื่องการทำให้ผู้ป่วยปวดน้อย ฟื้นตัวเร็วมากยิ่งขึ้น
ทำอย่างไรให้การผ่าตัดข้อสะโพกเทียมปลอดภัยและมีอายุการใช้งานได้นาน?
สิ่งที่ต้องระวังหลังผ่าตัดข้อสะโพกเทียม คือ ขาสั้น-ยาวไม่เท่ากัน และภาวะข้อสะโพกหลุดหลังผ่าตัด ซึ่งพบว่าปัจจัยสำคัญคือการวางตำแหน่งของข้อสะโพกเทียมและการปรับความยาวของขาในระหว่างการผ่าตัด ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญของแพทย์ผู้ทำผ่าตัดอย่างมาก แต่ก็ยังพบมีปัญหาเกิดการวางตำแหน่งข้อสะโพกเทียมคลาดเคลื่อนโดยไม่เจตนา เป็นสาเหตุให้ต้องทำการผ่าตัดแก้ไขเร็วกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นจึงมีการนำเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์มาช่วยเพิ่มความแม่นยำในการวางตำแหน่งข้อสะโพกเทียม
ทำอย่างไรให้ผู้ป่วยปวดน้อยและฟื้นตัวได้เร็วหลังผ่าตัด?
ด้วยการพัฒนาเทคนิคในการผ่าตัดให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กลงกว่าเดิม หลีกเลี่ยงการทำอันตรายต่อกล้ามเนื้อ ให้มีการชอกช้ำของเนื้อเยื่อบริเวณผ่าตัดให้น้อยลง ประกอบกับการให้ยาระงับการปวดอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเทคนิคการผ่าตัดแผลขนาดเล็กมีหลายวิธี ขึ้นกับทิศทางของการผ่าตัดเข้าสู่ข้อสะโพก ได้แก่ ด้านหลัง ด้านข้าง และด้านหน้า ซึ่งแต่ละวิธีมีจุดเด่นและจุดด้อยที่แตกต่างกัน และยังขึ้นกับความถนัดของแพทย์ผู้ทำผ่าตัด
- การผ่าตัดด้านหลัง (posterior approach) พบว่าเป็นที่นิยมของแพทย์ส่วนใหญ่คือประมาณ 60% เนื่องจากผ่าตัดได้ง่าย สามารถผ่าด้วยเทคนิคขนาดแผลปกติหรือแผลเล็กก็ได้ แต่จำเป็นต้องมีการตัดกล้ามเนื้อบางส่วน และจำเป็นต้องระวังไม่ให้เกิดอันตรายกับเส้นเลือดและเส้นประสาทที่สำคัญซึ่งอยู่ด้านหลังข้อสะโพก
- การผ่าตัดด้านข้าง (anterolateral approach) พบว่าเป็นที่นิยมของแพทย์รองลงมาคือประมาณ 30% โดยมีข้อดีที่สามารถวางตำแหน่งเบ้าได้ง่ายและแม่นยำกว่า ช่วยลดความเสี่ยงที่ข้อสะโพกหลุดหลังผ่าตัด มีการชอกช้ำของกล้ามเนื้อน้อยกว่าแบบด้านหลัง สามารถผ่าด้วยเทคนิคขนาดแผลปกติหรือแผลเล็กก็ได้เช่นกัน และไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายกับเส้นเลือดเส้นประสาทที่อยู่ด้านหน้าและด้านหลังข้อสะโพก
- การผ่าตัดด้านหน้า (direct anterior approach) เทคนิคผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแบบเข้าทางด้านหน้า ได้ผลดีและได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นเทคนิคที่ไม่ตัดกล้ามเนื้อ ส่งผลให้เนื้อเยื่อได้รับบาดเจ็บน้อยขณะผ่าตัด เสียเลือดน้อย ความเจ็บปวดหลังผ่าตัดก็น้อยตามมา อีกทั้งยังพบอุบัติการณ์ของสะโพกข้อเทียมเคลื่อนหลุดหลังผ่าตัดค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับเทคนิคอื่นๆ ผู้ป่วยสามารถลุกเดินได้ในวันเดียวกันหลังผ่าตัด ใช้เวลาพักฟื้นในรพ.เพียง 1-3 วัน
จากข้อได้เปรียบดังกล่าวส่งผลให้ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดด้วยเทคนิคนี้สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันหรือกิจกรรมที่ไม่หนักจนเกินไปได้ภายในระยะเวลาอันสั้น เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังผ่าตัดเท่านั้น
ทำอย่างไรให้ข้อสะโพกเทียมที่ผ่าตัดแล้วมีอายุการใช้งานที่นาน?
อายุการใช้งานจะขึ้นกับหลายปัจจัย เริ่มตั้งแต่การผ่าตัดที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน มีการวางตำแหน่งข้อสะโพกเทียมได้อย่างแม่นยำเหมาะสม เลือกใช้ข้อสะโพกเทียมที่มีคุณภาพสูง และผู้ป่วยต้องปฏิบัติตัวในการใช้งานข้อสะโพกเทียมอย่างเหมาะสมด้วย
สรุป
เมื่อมีความจำเป็นต้องผ่าตัดข้อสะโพกเทียม แพทย์และผู้ป่วยจะพิจารณาร่วมกันในการเลือกแนวทางการผ่าตัดที่เหมาะสมที่สุด โดยมีเป้าหมายที่ทำให้ผู้ป่วยปลอดภัย ฟื้นตัวเร็ว ใช้งานข้อสะโพกเทียมได้ดีและใช้งานได้นานที่สุด
เอกสารอ้างอิง
- “Direct anterior total hip arthroplasty: Comparative outcomes and contemporary results”, Keith P Connolly et al, World J Orthop 2016 February 18; 7(2): 94-101
- “Prospective Randomized Study of Direct Anterior vs Postero-Lateral Approach for Total Hip Arthroplasty”, William P. et al., The Journal of Arthroplasty 28 (2013) 1634–1638
- “Anterior vs. Posterior Approach for Total Hip Arthroplasty, a Systematic Review and Meta-analysis” , Brendan T. Higgins, MD, MS et al, The Journal of Arthroplasty 30 (2015) 419–434
เรียบเรียงโดย ศูนย์เวชศาสตร์การกีฬาและข้อ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
อาคาร A ชั้น 20 เคาน์เตอร์ D
เปิดบริการทุกวัน 08.00-20.00 น.
โทร.
02-066-8888 หรือ
1378
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 25 มีนาคม 2565