bih.button.backtotop.text

ท้องผูก... เงื่อนนี้แก้ได้ไม่ยาก

ท้องผูกคืออะไร?

โดยทั่วไปอาการท้องผูก หมายถึง ภาวะที่มีความถี่ในการถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ มักสัมพันธ์กับการถ่ายอุจจาระลำบาก ต้องใช้เวลาเบ่งนานกว่าปกติ รู้สึกถ่ายอุจจาระไม่สุด อุจจาระมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง หรือมีอาการเจ็บทวารหนักขณะถ่าย

ในผู้ที่มีอาการท้องผูกติดต่อกันเป็นเวลานานเกิน 3 เดือน จะถือว่ามีอาการท้องผูกเรื้อรัง


ท้องผูกเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง?

อาการท้องผูก เกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น
  • การดื่มน้ำไม่เพียงพอ
  • การรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย
  • การรับประทานยาบางชนิดที่มีผลข้างเคียงทำให้ท้องผูก
  • มีโรคหรือมีความผิดปกติของลำไส้
  • ความเครียด
  • การตั้งครรภ์ เป็นต้น
 

ควรทำอย่างไรหากมีอาการท้องผูก?

อาการท้องผูก สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง
ในแต่ละวันควรเลือกรับประทานอาหารที่มีปริมาณกากใยอย่างน้อย 20 ถึง 35 กรัม อาหารที่มีกากใยสูง ได้แก่ ถั่ว ธัญพืช ผักและผลไม้สด กากใยที่ได้จากอาหารเหล่านี้จะช่วยเพิ่มมวลอุจจาระ และทำให้อุจจาระนิ่ม

2.ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายเป็นการช่วยกระตุ้นให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น

​3. ดื่มน้ำให้เพียงพอ ​
การดื่มน้ำอย่างเพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว จะช่วยให้อุจจาระนิ่ม ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้มีส่วนทำให้เกิดอาการท้องผูกได้

4.ฝึกการขับถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลาทุกวัน ​
ควรฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลา โดยเฉพาะหลังตื่นนอน นอกจากนี้ การนั่งโน้มตัวไปด้านหน้าเล็กน้อยขณะขับถ่ายสามารถเพิ่มแรงเบ่งอุจจาระได้

5.ใช้ยาระบาย ​
ยาระบายมีหลายกลุ่มตามกลไกการออกฤทธิ์ของยา ดังนี้
 
กลุ่มยาระบาย กลไกการออกฤทธิ์

ข้อควรระวัง

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์

1. กลุ่มยาที่ช่วยเพิ่มปริมาณกากอาหารในลำไส้ (Bulk forming laxatives)

สารประเภทใยอาหาร สามารถอุ้มน้ำและเพิ่มมวลให้อุจจาระ ทำให้อุจจาระนิ่มขึ้น
ยากลุ่มนี้ใช้ได้ผลดีกับผู้ที่ท้องผูกเล็กน้อย รวมถึงสตรีมีครรภ์

-  ต้องให้สารเหล่านี้พองตัวเต็มที่ในน้ำก่อนรับประทาน และควรดื่มน้ำตาม อย่างน้อย 1 แก้ว ไม่เช่นนั้นอาจเกิดการอุดตันในทางเดินอาหารได้
- ไม่เหมาะที่จะใช้ปริมาณมากในเด็กเล็ก
- ในผู้ที่ท้องผูกรุนแรงมักไม่ได้ผลและอาจทำให้เกิดอาการแน่นอึดอัดท้อง
- ไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่หวังผลให้ถ่ายภายใน 24 ชั่วโมง เนื่องจากยาออกฤทธิ์ช้า (ประมาณ 1 ถึง 3 วัน)

Ispaghula husk     

2. กลุ่มยาที่เพิมปริมาณน้ำในลำไส้ (Osmotic and saline laxatives)

เพิ่มปริมาณน้ำในลำไส้ใหญ่และทำให้ลำไส้เกิดการบีบตัว

หากใช้ในปริมาณที่มากเกินไปอาจส่งผลต่อระดับอิเล็กโทรไลต์และปริมาณน้ำในร่างกายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่ไตทำงานบกพร่อง

Polyethylene glycol, Lactulose, Magnesium hydroxide, Sodium phosphate
 

   

 

3. กลุ่มยาที่กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ (Stimulant laxatives)

กระตุ้นให้ลำไส้บีบตัว โดยออกฤทธิ์ค่อนข้างแรงและเร็ว

อาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง รวมถึงอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงานของลำไส้หากใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

 

 Bisacodyl, Sennosides

 

4. กลุ่มยาระบายชนิดสวน (Enemas) และชนิดเหน็บ (Suppositories)

การสวนด้วยยาระบายจะทำให้ลำไส้ใหญ่ส่วนปลายโป่งพองเกิดการกระตุ้นลำไส้ ร่วมกับการทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มลง จึงสามารถกระตุ้นให้ถ่ายได้
ออกฤทธิ์เร็วภายใน 15 ถึง 30 นาที จึงมักใช้ในรายที่หวังผลให้ถ่ายภายในระยะเวลาสั้นๆ

- ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงอาจเกิดจากการสวนไม่ถูกวิธี ทำให้น้ำยาที่ใช้สวนรั่วซึมเข้าไปในผนังลำไส้ใต้ชั้นเยื่อบุผิว และอาจทำให้เกิดแผลได้
- Bisacodyl ชนิดเหน็บ อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุลำไส้ หากใช้ในขนาดสูง จะทำให้เยื่อบุผิวลำไส้ถูกทำลายได้ จึงไม่แนะนำให้ใช้เป็นประจำ

 

 

 Glycerin suppository

5. ยาระบายกลุ่มอื่นๆ

 

 ใช้สำหรับรักษาอาการท้องผูกเรื้อรังในรายที่ใช้ยากลุ่มอื่นแล้วไม่ได้ผล

 

 Prucalopride, Lubiprostone


หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองแล้วยังมีอาการท้องผูก การใช้ยาระบายอาจเป็นตัวช่วยในการรักษาอาการท้องผูกได้ อย่างไรก็ดี ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเริ่มใช้ยาระบาย และควรเริ่มใช้ยาระบายที่ช่วยให้เกิดการขับถ่ายอย่างเป็นธรรมชาติและปลอดภัยก่อน เช่น สารที่เพิ่มปริมาณกากอาหาร หรือยาที่ช่วยในการดูดน้ำเข้ามาในอุจจาระหรือลำไส้
 
หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชั่วโมง
 
References:

  1. UpToDate. Management of chronic constipation in adults. Available from: https://www.uptodate.com/contents/management-of-chronic-constipation-in-adults. [Accessed 14 July 2019].
  2. Mayo Clinic. Constipation. Available from: https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/constipation/symptoms-causes/syc-20354253. [Accessed 14 July 2019].
  3. WebMD. What Is Constipation? Available from: https://www.webmd.com/digestive-disorders/digestive-diseases-constipation#1. [Accessed 14 July 2019].
  4. Harvard Health. Constipation and Impaction. Available from: https://www.health.harvard.edu/a_to_z/constipation-and-impaction-a-to-z. [Accessed 14 July 2019].
  5. สุเทพ กลชาญวิทย์. ท้องผูก (Constipation). Available from: http://www.thaimotility.or.th/files/10.การรักษาท้องผูก.pdf [Accessed 14 July 2019].
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs