“การที่ผู้ป่วยต้องเผชิญกับการวินิจฉัยโรค และพบว่าตนเองเป็นมะเร็งนั้น ความรู้สึกของผู้ป่วยนั้น ก็เหมือนกับกำลังจมน้ำ เราจึงต้องมีอะไรให้เขาเกาะจับ และพาขึ้นมาจากน้ำได้” นั่นคือหน้าที่ที่สำคัญของคุณแหม่ม ณัฎฐา สุขตัว Senior Nurse Co-Ordinator ประจำศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็งฮอไรซัน โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
การทำงานของ Nurse Co-Ordinator ในแต่ละวันนั้น ต้องพบกับความท้าทายและความรู้สึกตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลา อันเนื่องมาจากเคสที่หลากหลายรูปแบบของผู้ป่วยที่เข้ามา แต่ด้วยประสบการณ์การทำงานมามากกว่า 13 ปีนั้น ทำให้คุณณัฎฐา สามารถจัดการ ประสานในทุกส่วนเพื่อการรักษาผู้ป่วยได้ดีอยู่เสมอ “เมื่อเราตื่นขึ้นมา เราจะคิดเสมอว่าวันนี้ต่อให้มีปัญหาหรือเคสผู้ป่วยที่ยากและซับซ้อน เราก็จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และจะรู้สึกสุขใจทุกครั้งที่เห็นผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วและถูกต้อง สิ่งนี้เป็นเหมือนน้ำเลี้ยงในจิตใจ ที่ทำให้เป็นแรงใจในการทำหน้าที่ต่อในวันต่อไป”
หน้าที่หลักของ Nurse Co-Ordinator
หน้าที่ของคุณแหม่มนั้น ดูเหมือนเป็นงานธรรมดา ที่ต้องติดต่อประสานงาน และใช้การสื่อสารกับบุคคลต่างๆเป็นหลัก แต่จริงๆแล้วถือว่าเป็นหน้าที่ที่สำคัญมากในศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็งฮอไรซัน เพราะเมื่อผู้ป่วยถูกส่งเคสมาที่ศูนย์แล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่เลยจะต้องเผชิญกับภาวะเศร้า ท้อแท้ หมดหวัง และไม่รู้จะไปต่ออย่างไร คุณแหม่มก็จะรับหน้าที่ดูแลเคสต่างๆนี้ “ผู้ป่วยมากกว่า 60% ที่เมื่อรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งนั้น จะรู้สึกเจ็บปวด มากบ้างน้อยบ้าง แต่ก็มักจะทำอะไรไม่ถูก เราเมื่อได้รับเคสแล้วก็จะทำหน้าที่ดูแลให้ดีที่สุด” คุณแหม่มกล่าว “ผู้ป่วยในทุกเคส เรายึดถือประโยขน์ของผู้ป่วยมาเป็นอันดับแรก ซึ่งการมองผู้ป่วยเราจะมองเป็นองค์รวม ทั้งกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ ทางกายนั้นคือเราต้องติดต่อประสานให้ดีที่สุด รวดเร็วที่สุด เช่น ถ้าผู้ป่วยต้องทำคีโม เราก็ต้องติดต่อไปทางแพทย์ฝ่ายเคมีบำบัด หรือผู้ป่วยที่ทานอะไรไม่ได้ เราก็จะติดต่อไปทาง Nutritionist เพื่อขอคำปรึกษาและให้เข้ามาดูแล เราต้องดูว่าใครจะสามารถมาแก้ไขปัญหาผู้ป่วยได้เร็วที่สุด เราก็จะประสานงานไป”
“ในส่วนของจิตใจนั้น สำคัญเช่นกัน เพราะการที่ผู้ป่วยจะมีอาการที่ดีขึ้นนั้น อารมณ์ความรู้สึกสำคัญมาก เราก็จะพูดคุย ให้คำปรึกษาและสร้างสัมพันธภาพที่ดี เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายและรู้สึกว่ามีคนอยู่เคียงข้างเขาจริงๆ และส่วนสุดท้ายคือเรื่องของจิตวิญญาณ เรื่องนี้สำคัญมาก เช่น ผู้ป่วยบางเคสเป็นชาวอาหรับที่เคร่งศาสนา นับถือพระเจ้า ถ้าเราติดต่อเค้าไปเป็นช่วงที่เค้ากำลังจะละมาด เราก็จะรอเค้า เรื่องแบบนี้เราก็ต้องทำความเข้าใจเขาด้วย” คุณแหม่มกล่าวเสริม
การจัดการผู้ป่วย เพื่อการรักษาที่ดีที่สุด
บทบาทที่สำคัญอีกอย่างของ Nurse Co-Ordinator นั้นคือการประสานกับบุคคลฝ่ายต่างๆทั้งในองค์กรเอง รวมถึงกับบริษัทต่างประเทศที่เกี่ยวข้องอีกด้วย เช่นประสานงานผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม Multidisciplinary tumor Board ในทุกๆ วันพุธ แพทย์เจ้าของไข้ จะเอาเคสผู้ป่วยที่มีปัญหาหรือเคสยากๆ มาปรึกษากันถึงแนวทางการรักษาที่ดีที่สุด โดยในทีม Multidisciplinary tumor Board มีการทำงานร่วมกัน เกือบ 30 ตำแหน่งงาน เช่น ส่วนแพทย์รังสีวินิจฉัย พยาธิแพทย์ และ พยาบาล หรือถ้ามีการตรวจส่งชิ้นเนื้อ ส่งตรวจเลือดไปที่ Lab Molecular ไม่ว่าจะเป็นที่สิงคโปร์หรือสหรัฐอเมริกา คุณแหม่มก็จะเป็นคนติดต่อประสานไปที่ Key person ของแต่ละบริษัทเข้ามาร่วมประชุมเคสนั้น
ทีมเวิร์ค การทำงานเป็นทีม และแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
“ถ้าถามว่า หน้าที่ไหนในศูนย์มะเร็งฮอไรซัน ที่สำคัญที่สุด แหม่มมองว่าสำคัญหมดทุกหน้าที่ เพราะเราเห็นว่าผู้ป่วยต้องมาก่อนเสมอ โดยเราจะทำงานเป็นทีมแบบสหสาขาวิชาชีพแบบไร้รอยต่อ เช่น เคยมีอยู่เคสหนึ่งเป็นชาวต่างชาติ เราก็ติดต่อประสานกับทางล่ามของฝ่ายต่างประเทศนั้น เมื่อ
คุณหมอดูฟิล์มแล้ว ก็ติดต่อไปทาง
แพทย์เคมีบำบัด เมื่อมานั่งปรึกษากันเห็นว่า ควรต้องมีการฉายแสง ก็เชิญ
หมอฝ่ายฉายแสงมาร่วมพูดคุยด้วยเลย สุดท้ายมีส่วนของ
หมอศัลยกรรม ก็ติดต่อให้คุณหมอ Phone In เข้ามาตอนนั้นเลย ซึ่งแหม่มว่า การทำงานเป็นทีมที่รวดเร็วแบบนี้ค่อนข้างหายากในโรงพยาบาลทั่วไป” คุณแหม่มอธิบายถึงการทำงานเป็นทีมที่สำคัญมาก
ยินดีและเต็มใจทำงานตลอดเวลาแม้แต่วันหยุด
การทำงานต้องคำนึงถึงผู้ป่วยมากก่อนเสมอ เพราะหลักการทำงานของคุณแหม่ม ถือว่าเป็น One Stop Service แม้แต่ในช่วงวันหยุดของเธอ ก็ต้องทำตัวให้ว่างเพื่อผู้ป่วยเสมอ “มีเคสอยู่บ่อยๆ ที่โทรเข้ามาให้เราตัดสินใจ ซึ่งตอนนั้นเป็นวันหยุดพักผ่อนของเรา แต่แหม่มก็ยินดีนะที่จะรีบติดต่อประสานให้เคสนั้นนะ มีเคสหนึ่งผู้ป่วยถ่ายและอาเจียนเป็นเลือด พยาบาลที่ดูแลเห็นว่าอาการไม่ดี เลยโทรมาหาแหม่ม เราก็จัดการโทรหาคุณหมอ โทรหาห้องฉุกเฉินเพราะถ้าปล่อยไว้ผู้ป่วยมีโอกาสช็อคและเสียชีวิตสูง พอรักษาได้ทันท่วงที ผู้ป่วยหาย อาการดีขึ้น เราก็รู้สึกดี ความเหนื่อยไม่ต้องพูดถึงเลย ดีใจมากค่ะ”
ความใส่ใจ ในรายละเอียดของผู้ป่วย เป็นสิ่งสำคัญ
“มีหลายๆครั้งที่ผู้ป่วยมักจะใช้วิธีของแพทย์ทางเลือก หรือใช้วิธีทางไสยศาสตร์ในการรักษา ซึ่งส่วนใหญ่มักจะแอบทำ ถ้าว่าเราดูผลการรักษาเราก็พอจะเดาๆ ได้ เพราะว่าผลการรักษาจริงๆ มันไม่ควรจะออกมาเป็นแบบนี้ แต่ผู้ป่วยไม่ยอมบอกเราตรงๆ เราจึงต้องพยายามสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยรับรู้ได้ว่าเราเป็นคนที่เขาไว้ใจได้ดีที่สุด เมื่อเราได้พูดคุยกับเขา ผู้ป่วยก็จะพูดคุยเรื่องต่างๆที่บางครั้งเป็นอุปสรรคในการรักษา บางกรณีกินยาสมุนไพร ยาหม้อ จนทำให้เม็ดเลือดขาวลดลง หรือตับแทบจะเสียหาย หรือใช้กัญชาในการรักษาเอง ซึ่งเขาไม่ทราบหรอกว่าผลที่ตามมาจะเป็นโทษต่อเขา เมื่อเราได้รับรู้มาจากผู้ป่วย เราก็จะมารายงานคุณหมอเจ้าของเคส เพื่อหาทางแก้ไขต่อไป”
“เรามองว่าผู้ป่วยก็เปรียบเหมือนญาติคนหนึ่งของเรา ถ้าเขาป่วย ไม่สบายก็จะร้อนใจ ก็ต้องขวนขวายหาใครสักคนเป็นที่พึ่งในช่วงวิกฤตของชีวิต เราจึงต้องทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุด ประสานทุกฝ่ายให้ดีที่สุด เพื่อการรักษาที่ตรงจุด รวดเร็วที่สุด” คุณแหม่มกล่าวปิดท้าย
หลักการทำงาน ที่ถือเป็นสำคัญในตำแหน่ง Nurse Co-Ordinator
“ในทุกวันที่แหม่มตื่นขึ้นมา แหม่มคิดว่ามันคือ ความท้าทาย เราจะคิดเสมอว่า วันนี้จะมีเคสอะไรมาให้เราแก้ปัญหาบ้าง และพอจบวันแหม่มจะมานั่งทบทวนค่ะ ว่าวันนี้มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง มีอะไรที่เราต้องปรับปรุงไหม หรือมีอะไรที่จะได้ดีกว่านี้เต็มที่กว่านี้หรือเปล่า ถ้าถามว่าทุกวันนี้เหนื่อยไหม กับหน้าที่ Nurse Co-Ordinator ก็ยอมรับนะคะ ว่าเหนื่อยเหมือนกัน แต่เมื่อมองย้อนกลับไป แล้วเราเห็นว่า ผู้ป่วยที่ดูแล เค้าอาการดีขึ้น ปลอดภัย ได้รับการรักษาอย่างทันเวลา เราก็โล่งใจ หายเหนื่อยค่ะ”
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 17 พฤษภาคม 2565