หากท่านรู้สึกอ่อนเพลียจากการสูญเสียน้ำเนื่องจากท้องเสีย อาเจียนหรือจากการออกกำลังกาย การดื่มเกลือแร่มักเป็นตัวเลือกหนึ่งที่หลายๆ ท่านนึกถึงสำหรับทดแทนน้ำที่สูญเสียไป แต่ทราบหรือไม่ว่าการเลือกดื่มเกลือแร่ทดแทนให้เหมาะสมกับสภาวะของร่างกายนั้นสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
เกลือแร่คืออะไร?
“เกลือแร่” คือ แร่ธาตุ
ที่ช่วยทดแทนการสูญเสียน้ำและแร่ธาตุต่างๆ มีคุณสมบัติช่วยเพิ่มพลังงาน แร่ธาตุและน้ำในร่างกาย โดยในแต่ละวันร่างกายต้องการเกลือแร่ในปริมาณเพียงเล็กน้อยเพื่อทำให้ร่างกายของเราทำงานได้อย่างเป็นปกติ
ชนิดของเกลือแร่ที่ร่างกายต้องการมีอะไรบ้าง?
ชนิดของเกลือแร่ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มตามความต้องการของร่างกาย ดังนี้
ชนิดของเกลือแร่
|
ความหมาย
|
ตัวอย่าง
|
1. เกลือแร่หลัก
(Macro minerals)
|
กลุ่มของแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการมากกว่า 100 มิลลิกรัมขึ้นไป
|
แคลเซียม(Calcium),ฟอสฟอรัส(Phosphorus), โพแทสเซียม(Potassium),แมกนีเซียม(Magnesium), โซเดียม (Sodium),กำมะถัน (Sulphur)และคลอไรด์ (Chloride)
|
2. เกลือแร่รอง
(Trace minerals)
|
กลุ่มของแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการน้อยกว่า 100 มิลลิกรัม แต่แร่ธาตุกลุ่มนี้ก็ยังคงมีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกาย
|
เหล็ก(Iron),สังกะสี(Zinc),ซีลีเนียม(Selenium),ทองแดง (Copper),ไอโอดีน (Iodine),โคบอลท์ (Cobalt),ฟลูออไรด์ (Fluoride) เป็นต้น
|
เกิดอะไรขึ้น...หากขาดสมดุลเกลือแร่ในร่างกาย?
การขาดสมดุลเกลือแร่สามารถพบได้ในคนที่สูญเสียน้ำในร่างกายมาก เช่น เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย อาเจียนหรือท้องเสีย เป็นต้น หากร่างกายเสียสมดุลเกลือแร่ในปริมาณมาก อาจมีอาการแสดงเพียงเล็กน้อย หรืออาจรุนแรงจนก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ตัวอย่างอาการแสดงต่าง ๆ ได้แก่ ไม่มีแรง ปากแห้ง ปากซีด ผิวแห้ง ปัสสาวะน้อยผิดปกติ หรืออาจถึงขั้น
หัวใจเต้นผิดปกติ เป็นต้น
ดังนั้น การชดเชยการสูญเสียน้ำโดยการรับประทานเกลือแร่ทดแทน เพื่อป้องกันการเสียสมดุลเกลือแร่ในร่างกายจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่ง
เกลือแร่ทดแทน มีกี่ประเภท?
เกลือแร่ทดแทนเพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำในร่างกาย มี 2 ประเภท แตกต่างกันจากสัดส่วนของแร่ธาตุและน้ำตาลที่บรรจุในผลิตภัณฑ์ ดังนี้
ประเภทของเกลือแร่ทดแทน
|
ความแตกต่าง
|
ส่วนประกอบสำคัญ
|
1. เกลือแร่สำหรับผู้ป่วยท้องเสีย (Oral Rehydration Salt , ORS)
|
-จัดเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์
- ใช้สำหรับการชดเชยการสูญเสียน้ำจากการอาเจียน หรือท้องเสีย
-ผลิตภัณฑ์มักอยู่ในรูปแบบผงบรรจุซอง เพื่อนำไปละลายน้ำแล้วดื่ม
|
มีปริมาณเกลือแร่ เช่น โซเดียม (Sodium) เป็นหลัก
|
2. เกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย (Oral Rehydration Therapy , ORT)
|
- จัดเป็นอาหารและเครื่องดื่ม
- ใช้สำหรับชดเชยการสูญเสียน้ำภายหลังการออกกำลังกายเท่านั้น
- ผลิตภัณฑ์มักอยู่ในรูปแบบเครื่องดื่มพร้อมดื่มบรรจุขวด
|
มีปริมาณน้ำตาล เช่น กลูโคส (Glucose) เป็นหลัก
|
เกลือแร่ทั้ง 2 ชนิดสามารถใช้ทดแทนกันได้หรือไม่?
“ไม่แนะนำ” ให้ผู้ที่มีอาการท้องเสียดื่มเกลือแร่ทดแทนสำหรับการออกกำลังกาย เนื่องจากร่างกายจะสูญเสียน้ำและแร่ธาตุอย่างฉับพลันจากภาวะท้องเสียหรืออาเจียน ซึ่งควรได้รับการทดแทนในทันที แตกต่างจากการออกกำลังกายที่ร่างกายสูญเสียน้ำและน้ำตาลเป็นหลักและเสียแร่ธาตุในปริมาณที่น้อยมาก โดยในสูตรตำรับเกลือแร่ทดแทนที่กล่าวไปข้างต้น เกลือแร่สำหรับผู้ออกกำลังกายจะมีปริมาณน้ำตาลที่มากกว่า
ดังนั้น หากผู้ป่วยท้องเสียดื่มเกลือแร่สำหรับออกกำลังกาย น้ำตาลที่มีปริมาณสูงในเครื่องดื่มจะดึงเอาน้ำเข้าสู่ทางเดินอาหารเพิ่มมากขึ้นทำให้ลำไส้บีบตัวและส่งผลให้เกิดอาการท้องเสียมากขึ้นอีกในเวลาต่อมา
ท่านสามารถปรึกษาแพทย์ เภสัชกร เพื่อรับคำแนะนำในการเลือกรับประทานเกลือแร่ทดแทนที่เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับภาวะร่างกายต่าง ๆ ได้
คำแนะนำสำหรับการใช้ผงเกลือแร่สำหรับผู้ป่วยท้องเสียมีอะไรบ้าง?
- เทผงเกลือแร่ทั้งซอง ละลายในน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว 1 แก้ว ปริมาณ 150-250 มิลลิลิตรหรือปริมาณตามที่ฉลากข้างซองระบุ
- ดื่มเกลือแร่โดยจิบอย่างช้าๆ แทนน้ำ เมื่อเริ่มมีอาการท้องเสียหรืออาเจียน
- เมื่อละลายน้ำแล้ว ควรรับประทานภายใน 24 ชั่วโมง หากเกินกว่านั้น ไม่แนะนำให้นำมารับประทานต่อ
ข้อควรระวังในการดื่มเกลือแร่มีอะไรบ้าง?
- ควรระมัดระวังการใช้เกลือแร่ในคนที่มีการทำงานของหัวใจและไตผิดปกติ
- ไม่ควรใช้เกลือแร่ในคนไข้ที่มีภาวะท้องเสียอย่างรุนแรงซึ่งอาจจะนำไปสู่ภาวะขาดน้ำ โดยอาจมีอาการปากแห้ง คอแห้ง ซีด กระหายน้ำ ผิวแห้ง ปัสสาวะน้อย มีสีเข้ม สับสน แนะนำให้ควรรีบพบแพทย์
- ไม่แนะนำให้ผสมกับนมหรือน้ำผลไม้ เนื่องจากอาจส่งผลให้ปริมาณสัดส่วนสารในสารละลายเกลือแร่เปลี่ยนแปลงได้
หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชั่วโมง
Reference:
- ศรีวรรณ ธีระมั่นคง. น้ำดื่มเกลือแร่...ส้ำหรับท้องเสีย หรือ วิ่งมาราธอน. 2019.2019 June 10.
Available from: https://pharm.tu.ac.th/uploads/pharm/pdf/articles/20190328_01.pdf
- Health navigator New Zealand. Oral rehydration salts. 2019.2019 June 10.
Available from: https://www.healthnavigator.org.nz/medicines/o/oral-rehydration-salts/
- อภัย ราษฎรวิจิตร. โออาร์เอส (ORS: Oral rehydration salt) หรือ ผงละลายเกลือแร่ (Electrolyte powder packet). 2019 June 10. Available from: http://haamor.com/th/โออาร์เอส/
- Medthai. ผงเกลือแร่โออาร์เอส (ORS) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ. 2019 June 10. Available from: https://medthai.com/ผงเกลือแร่โออาร์เอส
- Mayoclinic. Dehydration. 2019. 2019 June 10.
Available from: https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/dehydration/symptoms-causes/syc-20354086
Contact information: Drug Information Service ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
Tel: +66(0) 2 011 3399 Email:
[email protected]
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 13 ตุลาคม 2565