“โอกาสที่ภรรยาของผมจะมีชีวิตอยู่หลังการผ่าตัด คำที่เยียวยาและให้กำลังใจผมได้ดีที่สุดก็คือ ความหวัง ซึ่งได้โปรดให้สิ่งดีๆกับเราด้วย” คำพูดที่แฝงไปด้วยคำขอร้องในการให้คนที่รักในครอบครัวของเขาหายจากโรคมะเร็งเต้านมที่กำลังเผชิญอยู่ของภรรยาที่รักของเขา คุณ Sameer Sharma นักการทูตและเจรจาชาวอินเดีย
คุณ Sameer Sharma เป็นคนสัญชาติอินเดีย ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยกว่า 12 ปี ทำงานในหน่วยงานย่อยของ United Nation (UN) ประจำประเทศไทย ซึ่งชีวิตครอบครัวของเขาอยู่มีความสุขพร้อมภรรยา คุณ Renu Sharma และลูกชายวัย 15 ปี จนได้รับเรื่องที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นในชีวิตของเขา
“ประสบการณ์ที่เหมือนเป็นฝันร้ายของผมเริ่มจากเมื่อ 3 ปีก่อนที่ภรรยาของผม มีอาการผิดปกติบริเวณหน้าอก เหมือนมีตุ่มหรือก้อนและเจ็บเล็กน้อย จึงตัดสินใจตรวจที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ซึ่งผลก็ออกมาพบว่ามีเนื้องอกขนาด 5.8 เซนติเมตร และที่สำคัญมันเป็นเนื้อร้าย” Sameer Sharma เล่าถึงช่วงเวลาที่เขาได้ทราบข่าวร้ายจากอาการป่วยของภรรยาของเขา
“ช่วงที่ภรรยาตรวจพบ
มะเร็งเต้านมนั้น ผมไม่ได้อยู่เมืองไทย เมื่อผมเสร็จจากงานก็รีบเดินทางกลับมาเพื่อจัดการเรื่องการรักษา” เขาเริ่มเล่าถึงกระบวนการรักษา “ในช่วงแรกต้อง
ผ่าตัดอย่างเร็วที่สุด ซึ่งถือว่าผ่าตัดครั้งใหญ่เลยล่ะ เพราะว่าคุณหมอต้องผ่าเอาหน้าอกด้านซ้ายออกทั้งหมด และตามมาด้วยแผนการรักษาที่คุณหมอแนะนำนั่นคือ
การฉายรังสีประมาณ 12 ครั้ง”
การรักษาภรรยาของคุณ Sameer Sharma ผ่านไปได้ด้วยดี แม้ว่าตอนช่วงการฉายรังสีจะมีอาการข้างเคียงบ้าง แต่ด้วยกำลังใจของคนในครอบครัว ทำให้ทุกอย่างดูไม่มีอุปสรรค จนถึงขั้นตอนสุดท้ายคือ
การให้เคมีบำบัด ซึ่งก็ใช้เวลาประมาณ 1 ปี ( 6-9 Cycle ) “สิ่งที่เกิดขึ้นตอนช่วงทำคีโมลำบากมาก ภรรยาผมเจ็บปวดและทรมานมาก ยิ่งเวลาต้องเข้าห้องฉุกเฉินตอนที่ร่างกายไม่ตอบสนองกับยาที่ให้ไป แต่ก็ผ่านมาได้ด้วยการดูแลเอาใจใส่ที่ดีจากทีมหมอและพยาบาล ซึ่งในที่สุดก็ได้รับข่าวดีว่าภรรยาผมหายดีขึ้นแล้วจากมะเร็งเต้านมนั้น ต้องขอบคุณทุกๆคนจริงๆ” เขาเล่าด้วยรอยยิ้ม
ฝันร้ายหวนกลับคนที่รัก
“เหตุการณ์ทุกอย่างเหมือนจะดี เราได้ครอบครัวที่มีความสุขกลับคืนมา แต่เมื่อ 1 ปีผ่านไปช่วงนั้นผมต้องเดินทางไปทำงานที่ Tonga ผมก็ได้รับข่าวที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นซ้ำตามมาอีก ภรรยาของผมเธอป่วยและเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง หายใจไม่ออก จึงต้องเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน ตอนนั้นผมยกเลิกภารกิจและเดินทางมาโรงพยาบาลทันที” นั่นคือฝันร้ายอีกครั้งของคุณ Sameer Sharma ที่ต้องพบเจอกับศัตรูร้ายอย่างโรคมะเร็งของภรรยาของเขา ซึ่งภายหลังได้ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งที่เต้านมนั้น ได้ลุกลามไปในส่วนของปอดด้วย “ในช่วงก่อนหน้านั้น ผมคิดว่ามะเร็งที่หน้าอกของภรรยาผมได้หายไปจากร่างกายแล้ว แต่เหมือนกับว่าโชคชะตากำลังเล่นตลกกับภรรยาผม เพราะต่อมามะเร็งนั้นได้กลับมาอีกครั้ง ซึ่งคราวนี้มันลุกลามไปในส่วนของปอด ทำให้ภรรยาผมอาการทรุดลงอีกครั้ง” เขาเล่าด้วยสายตาของคนที่ถึงแม้จะเจ็บปวดแต่ก็ยังมีความหวัง
ภรรยาของคุณ Sameer Sharma รักษาอยู่ที่
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็งฮอไรซัน ซึ่งใช้
การรักษาแบบเคมีบำบัด แต่ก็พบกับอุปสรรคมากมาย ต้องเปลี่ยนตัวยาหลายครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งก็จะได้รับกำลังใจและการดูแลเอาใจใส่ที่ดีเสมอมา “ในช่วงตลอด 2 อาทิตย์ เราเผชิญกับการรักษาที่ค่อนข้างยาก และต้องคอยสังเกตอาการของภรรยาผมตลอดเวลา เพราะเราไม่รู้ต้นเหตุของอาการที่แทรกเข้ามาทั้งเรื่องการอาเจียนอย่างหนัก การมีแรงกดทับในช่วงกระดูกสันหลัง ทำให้เธอมีอาการเจ็บปวดมาก มันทำให้ผมเจ็บไปด้วย จนคุณหมอได้ลงความเห็นว่าควรต้องผ่าตัด”
อาการของภรรยาคุณ Sameer Sharma มีอาการทรงกับทรุดสลับกันไป ในระหว่างการรอผ่าตัดและตรวจร่างกายอย่างละเอียด “ผมรู้สึกผ่อนคลาย เพราะเราอยู่ในมือของผู้เชี่ยวชาญ เรารู้สึกขอบคุณทุกๆ คนมากตั้งแต่
คุณหมอ ทีมงาน แม้กระทั่ง
ฝ่ายเภสัชกรรม บางครั้งตัวผมเองรู้สึกเครียดมากถึงกับต้องการทานยา ก็จะขอคำปรึกษาเรื่องยากับทางเภสัชกรโรงพยาบาล ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำที่ดี” เขากล่าวขอบคุณทุกๆ คน และได้พูดถึงผลตรวจร่างกายของภรรยาอย่างละเอียด ซึ่งทำให้เขาต้องตัดสินใจยกเลิกการผ่าตัดนั้น เพราะว่าโอกาสที่จะผ่าตัดสำเร็จด้วยร่างกายที่ไม่พร้อมนี้ มีโอกาสสำเร็จแค่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น “คุณหมอได้พูดตรงไปตรงมากับเราว่า ไม่เคยเห็นเคสที่สำเร็จด้วยร่างกายที่อ่อนแอของผู้ป่วยแบบนี้มาก่อน เธอคิดว่าไม่ควรทำการผ่าตัดจะดีกว่า เพราะด้วยร่างกายที่ยังอ่อนแอและไม่พร้อมแบบนี้ นั่นยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหลังผ่าตัดได้”
สิ่งที่ทำให้ยังยืนอยู่ และก้าวผ่านความผิดหวัง
“Renu คือโลกทั้งใบของผม ดังนั้นไม่ว่าจะยังไงผมก็ต้องอยู่กับเธอตั้งแต่ต้นจนวินาทีสุดท้าย จะคอยช่วยเหลือเธอทุกอย่าง ไม่ว่าทางกายหรือทางใจ ทางคุณหมอเองก็ให้กำลังใจ สอนให้เราทำสมาธิ แนะนำสิ่งดีๆ ให้เรา ลูกชายของผมก็หาวิธีทางต่างๆ ที่จะรักษาแม่ของเขาได้แม้จะยังเรียนอยู่ก็ตาม เราอยากทำให้มั่นใจว่าครอบครัวเราจะสามารถผ่านเรื่องนี้ไปได้ ตลอด 25 ปีที่แต่งงานมา มีเธอเป็นภรรยาของผม กับ 25 เดือนที่ผ่านมามันเป็นแค่เรื่องเล็กน้อยเท่านั้นสำหรับผม”
แรงบันดาลใจที่อยากบอกต่อผู้ป่วยทุกคน
“เราควรตระหนักว่าโรงพยาบาล เป็นที่ที่จะช่วยพวกเรา ผู้ดูแลและผู้ป่วยไม่ได้อยู่คนเดียวในเรื่องนี้ พวกเราควรรู้ว่ามีคนอยู่ข้างๆพวกเราเสมอ และไม่ควรทิ้งความหวังนั้น พวกเขาช่วยปลอบโยนเรา ช่วยเยียวยาจิตใจพวกเรา คอยช่วยเหลือทั้งผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย ดังนั้นเราจึงควรร่วมมือกับเขา ทำงานกับเข้า พูดคุยกับเขา ได้โปรดอย่ายอมแพ้ จงสู้ต่อ เชื่อใจว่าทีมหมอกำลังช่วยพวกคุณอยู่ แม้ว่าเส้นทางข้างหน้ามันจะลำบากแต่ว่ามันจะสบายขึ้นถ้าหากว่าเราเราเชื่อใจพวกเขาได้ และถ้าคุณทำได้ ก็ไม่มีอะไรที่พวกเราจะทำไม่ได้” เขาทิ้งท้ายไว้ด้วยพลังแห่งความหวัง
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 23 พฤษภาคม 2565