bih.button.backtotop.text

คุณแม่ยุคใหม่... ใส่ใจทานวิตามิน

“หญิงตั้งครรภ์” ด้วยสภาวะร่างกายที่มีความซับซ้อน จึงมีความต้องการวิตามินและแร่ธาตุที่มากกว่าคนปกติทั่วไป โดยวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ได้รับเข้าไปนั้น จะช่วยบำรุงสุขภาพของทั้งหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ให้แข็งแรงสมบูรณ์

วิตามินและแร่ธาตุมีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตและการสร้างอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของทารกในครรภ์ หากหญิงตั้งครรภ์ได้รับวิตามินและแร่ธาตุไม่ครบถ้วนหรือไม่เพียงพอ อาจส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ได้โดยตรง โดยอาจทำให้หญิงตั้งครรภ์นั้นคลอดบุตรก่อนกำหนด คลอดผิดปกติ แท้งบุตร น้ำหนักและส่วนสูงของทารกที่คลอดน้อยกว่าปกติ ทารกพิการแต่กำเนิด หรือสติปัญญาต่ำ เป็นต้น
 

วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ที่ควรได้รับขณะตั้งครรภ์

วิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญและจำเป็นต่อหญิงตั้งครรภ์ ได้แก่
 
วิตามิน/
แร่ธาตุ
ความสำคัญ
วิตามินเอ ช่วยสร้างกระดูกและฟันของทารก ช่วยบำรุงรักษาเซลล์ชนิดบุผิวของอวัยวะต่างๆ ของหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ และเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
ปริมาณที่ต้องการ(1): 700 ไมโครกรัม/วัน
วิธีการใช้: รับประทานพร้อมอาหาร อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น: มักไม่พบ แต่หากได้รับในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดอันตรายต่อทารก ทำให้เกิดความผิดรูปทรงของกะโหลกและใบหน้า ความผิดปกติของพัฒนาการทางสมอง หัวใจ และต่อมไทมัสได้
วิตามินบี 1 ช่วยการทำงานของระบบทางเดินอาหาร ช่วยป้องกันท้องผูก ป้องกันอาการทางระบบประสาท ช่วยในการผลิตน้ำนม
ปริมาณที่ต้องการ(1): 1.4 มิลลิกรัม/วัน
วิธีการใช้: รับประทานพร้อมอาหารหรือไม่ก็ได้
อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น: มักไม่พบ
วิตามินบี 2 มีความจำเป็นต่อการหายใจของเซลล์ รักษาสภาพเยื่อบุผิวให้เป็นปกติ ทำให้ทารกเจริญเติบโตได้เป็นปกติ
ปริมาณที่ต้องการ(1): 1.4 มิลลิกรัม/วัน
วิธีการใช้: รับประทานพร้อมอาหารหรือไม่ก็ได้
อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น: ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม
วิตามินบี 6 ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรค ส่งเสริมการทำงานของระบบประสาท กล้ามเนื้อ และกระดูก ช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องและอาการนอนไม่หลับระหว่างตั้งครรภ์
ปริมาณที่ต้องการ(1): 1.9 มิลลิกรัม/วัน
วิธีการใช้: รับประทานพร้อมอาหารหรือไม่ก็ได้
อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น: มักไม่พบ แต่อาจมีอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ในบางราย
วิตามินบี 12 จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและการสร้างระบบประสาทของทารกในครรภ์ ช่วยในกระบวนการเมทาบอลิซึมของโปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต ช่วยให้เจริญอาหาร
ปริมาณที่ต้องการ(1): 2.6 ไมโครกรัม/วัน
วิธีการใช้: รับประทานพร้อมอาหารหรือไม่ก็ได้
อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น: มักไม่พบ แต่อาจมีอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ในบางราย
กรดโฟลิกหรือโฟเลต จำเป็นต่อพัฒนาการสมองของทารก ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ช่วยในการเจริญเติบโตของเซลล์และอวัยวะต่างๆ ช่วยสร้างภูมิต้านทานโรค ป้องกันการเกิดภาวะแท้ง
ปริมาณที่ต้องการ(1): 550 ไมโครกรัม/วัน
วิธีการใช้: รับประทานพร้อมอาหารหรือไม่ก็ได้
อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น: มักไม่พบ
วิตามินซี ช่วยสร้างคอลลาเจนซึ่งเป็นองค์ประกอบของกระดูก กระดูกอ่อน ฟัน และผนังเส้นเลือด เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ลดอาการแพ้ต่างๆ ป้องกันโรคภูมิแพ้
ปริมาณที่ต้องการ(1): 95 มิลลิกรัม/วัน
วิธีการใช้: รับประทานพร้อมอาหารหรือไม่ก็ได้
อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น: มักไม่พบ แต่อาจมีถ่ายเหลว คลื่นไส้ อาเจียน ในบางราย
วิตามินดี จำเป็นต่อการสร้างกระดูกและฟัน และการเจริญเติบโตของทารก
ปริมาณที่ต้องการ(1): 600 ยูนิต/วัน
วิธีการใช้: รับประทานพร้อมอาหาร
อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น: มักไม่พบ
แคลเซียม ช่วยสร้างกระดูกและฟันของทารก ช่วยรักษาความหนาแน่นของกระดูกของหญิงตั้งครรภ์ หญิงตั้งครรภ์ที่ขาดแคลเซียมอาจมีอารมณ์แปรปรวน จิตใจว้าวุ่น มีอาการ ปวดเกร็งกล้ามเนื้อ เป็นตะคริวได้
ปริมาณที่ต้องการ(1): 800 มิลลิกรัม/วัน
วิธีการใช้: รับประทานพร้อมมื้ออาหาร
อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น: ปวดท้อง ท้องอืด ท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน
เหล็ก จำเป็นในการสร้างเม็ดเลือดแดงทั้งสำหรับหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ ป้องกันไม่ให้เกิดโรคโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์
ปริมาณที่ต้องการ(1): 60-80 มิลลิกรัม/วัน
วิธีการใช้: รับประทานพร้อมอาหารหรือไม่ก็ได้
อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น: ท้องผูก อุจจาระสีเข้ม คลื่นไส้ อาเจียน
ไอโอดีน ส่งเสริมการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ หากขาดไอโอดีน ทารกจะตัวเล็ก ภาวะสมองไม่เจริญเติบโตตามปกติ มีสติปัญญาต่ำ
ปริมาณที่ต้องการ(1): 200 ไมโครกรัม/วัน
วิธีการใช้: รับประทานพร้อมอาหารหรือไม่ก็ได้
อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น: มักไม่พบ แต่อาจมีการรับรสเปลี่ยนแปลง รับรสโลหะ ปวดศีรษะ ท้องเสีย ในบางราย
สังกะสี ช่วยควบคุมการ ทำงานของเซลล์ต่างๆ ช่วยเรื่องระบบการไหลเวียนเลือด ช่วยในการทำงานของเม็ดเลือดขาวในการต่อต้านเชื้อโรค
ปริมาณที่ต้องการ(1): 10-11 มิลลิกรัม/วัน
วิธีการใช้: รับประทานพร้อมอาหารหรือไม่ก็ได้
อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น: มักไม่พบ
(1) อ้างอิงจาก ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ. 2563 โดยสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข


นอกจากวิตามินและแร่ธาตุดังกล่าวข้างต้นแล้ว กรดไขมันโอเมก้า 3 (Omega-3 fatty acid) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง DHA (Docosahexaenoic acid) ถือเป็นสารอาหารที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งสำหรับหญิงตั้งครรภ์ โดยกรดไขมันโอเมก้า 3 นั้น มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ช่วยให้ทารกมีพัฒนาการทางสมองและสายตาที่สมบูรณ์ รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนด และลดโอกาสที่ทารกแรกคลอดจะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติด้วย
 

ข้อควรระวังในการใช้วิตามินและแร่ธาตุระหว่างตั้งครรภ์

  • หากมีประวัติแพ้วิตามิน แร่ธาตุ หรือส่วนประกอบใดๆ ของวิตามิน/แร่ธาตุ รวมถึงการแพ้อาหาร หรือมีอาการเจ็บป่วยและกำลังใช้ยารักษาโรคอื่นๆ อยู่ ต้องแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนทุกครั้ง
  • หากต้องการใช้วิตามินหรือแร่ธาตุ ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อทารกในครรภ์มากที่สุด
หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชั่วโมง

Contact information:  Drug Information Service ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
Tel: +66(0) 2 011 3399 Email: [email protected]
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 23 พฤษภาคม 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs