อย่าชะล่าใจ! อาการท้องอืด อาหารไม่ย่อยอาจร้ายแรงกว่าที่คิด
คนส่วนใหญ่คงเคยมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง จุกเสียดหลังมื้ออาหาร อาการเหล่านี้ดูเหมือนไม่ร้ายแรงแต่ถ้าเป็นบ่อยๆจนเรื้อรังหรือมีอาการบางอย่างร่วมด้วย อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังเป็นโรคที่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพของคุณได้
อาการท้องอืดเป็นอย่างไร
อาการท้องอืดคืออาการจุกเสียดบริเวณลิ้นปี่ เวลากินอาหารไปแล้วยังรู้สึกว่ามีอาหารค้างอยู่ในท้อง อึดอัดแน่นท้องหรือมีลมอยู่ในท้องอยู่ ถึงแม้จะกินอาหารไปแล้ว 3-4 ชั่วโมงก็ตาม
สาเหตุเกิดจากอะไร
อาการท้องอืดเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อาจเกิดจากพฤติกรรมการกินไปจนถึงอาการบ่งบอกโรคร้ายที่แฝงเร้นอยู่ โดยทั่วไป สาเหตุของอาการท้องอืดมีดังนี้
- อาหาร อาหารบางอย่างทำให้เกิดอาการท้องอืดได้ โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูงทำให้กระเพาะบีบตัวช้า ใช้เวลานานในการย่อยอาหาร เช่น แกงกะทิ อาหารผัด อาหารทอด รวมถึงผลิตภัณฑ์ประเภทถั่ว ผักดิบ เช่น สลัด ดังนั้นให้สังเกตว่ากินอาหารประเภทใดแล้วท้องอืดให้ลดอาหารประเภทนั้นลง
- พฤติกรรมการใช้ชีวิต บางคนกินอาหารแล้วนั่งเฉยๆ หรือกินเยอะเกินไป ทำให้อาหารย่อยช้า ค้างอยู่ในกระเพาะนาน เมื่ออาหารค้างอยู่ในกระเพาะจะเกิดการหมัก ส่งผลให้เกิดแก๊สในกระเพาะ ทำให้แน่นท้องและเกิดภาวะกรดไหลย้อนได้ หลังมื้ออาหารควรเดินสักพักหนึ่งเพื่อกระตุ้นให้กระเพาะและลำไส้มีการเคลื่อนไหว
- อายุ เมื่ออายุมากขึ้น ระบบการย่อยอาหารจะช้าลง โดยเฉพาะถ้ามีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ถ้าเป็นนานๆและควบคุมได้ไม่ดี จะทำให้เส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกระเพาะทำงานผิดปกติ ส่งผลให้กระเพาะบีบตัวน้อยลง ทำให้มีอาหารค้างเหลืออยู่ในกระเพาะ
- ท้องผก ทำให้ความดันภายในทางเดินอาหารสูงขึ้น ทำให้มีอาการอืดท้อง เสียดท้อง ควรฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลา ดื่มน้ำมากขึ้น ออกกำลังกายและเคลื่อนไหวร่างกายและกินอาหารที่มีกากใย
- นิ่วในถุงน้ำดี กลุ่มเสี่ยงคือเพศหญิงที่มีอายุเกิน 40 ปี หากมีอาการจุกเสียด แน่นท้องหลังจากรับประทานอาหารมันอาจเป็นเพราะนิ่วถุงน้ำดีได้
- การติดเชื้อแบคทีเรีย แบคทีเรียที่มีชื่อว่าเอช ไพโรไล (H.pylori) ซึ่งอาศัยอยู่ที่เยื่อบุกระเพาะอาหารทำให้เกิดกระเพาะอักเสบ เกิดอาการเสียดท้อง แน่นท้องและมีลมในท้องได้
- โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ในระยะแรกอาจไม่แสดงอาการ แต่เมื่อระยะของโรคมีการพัฒนาขึ้น อาจทำให้มีอาการคล้ายโรคแผลในกระเพาะอาหาร
เมื่อไหร่ที่ควรมาพบแพทย์
ถึงแม้อาการท้องอืดจะดูเป็นเรื่องปกติ แต่อย่านิ่งนอนใจ หากพยายามแก้ไขโดยเปลี่ยนอาหารที่กินและเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วยังไม่ดีขึ้นหรือมีอาการต่างๆดังนี้ควรรีบมาพบแพทย์
- ท้องอืดและมีปวดท้องร่วมด้วย
- น้ำหนักลด ผอมลง
- อุจจาระผิดปกติเช่น
- อุจจาระเป็นเลือดหรืออุจจาระสีดำๆแดงๆ เหลว ไม่เป็นก้อน เนื่องจากอาจมีเลือดออกจากแผลในกระเพาะอาหารหรือโรคมะเร็งได้
- อุจจาระก้อนเล็กลง ท้องผูกสลับท้องเสีย อาจเป็นอาการเริ่มต้นของโรคมะร็งลำไส้ใหญ่
ตรวจวินิจฉัยได้อย่างไร
โดยการดูว่าคนไข้มีอาการท้องอืดร่วมกับอาการอะไรบ้าง แพทย์อาจตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยวิธีการดังนี้
- ตรวจหาแบคทีเรียเอช ไพโรไล (H.pylori) ด้วยวิธีการเป่าลมใส่ลูกโป่งด้วยเครื่องตรวจหาเชื้อ เพื่อประกอบการวินิจฉัยเพิ่มเติมในการค้นหาความผิดปกติในกระเพาะอาหาร
- ตรวจอัลตร้าซาวด์ ในกรณีที่สงสัยว่าเป็นนิ่วในถุงน้ำดี
- ส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร ทำให้แพทย์เห็นได้อย่างชัดเจนและได้ข้อมูลครบถ้วนว่าหลอดอาหารและกระเพาะอาหารมีปัญหาอย่างไรและยังสามารถตัดเนื้อเพื่อหาแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในกระเพาะได้
- ส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ หากแพทย์สงสัยว่าปัญหาเกิดจากความผิดปกติภายในลำไส้ใหญ่ แพทย์จะส่องกล้องเพื่อตรวจหาความผิดปกติ เช่น ติ่งเนื้อหรือเนื้องอก การตรวจคัดกรองนี้ช่วยให้แพทย์พบความผิดปกติในลำไส้ก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็งได้
ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ประกอบด้วยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการและประสบการณ์เฉพาะทางอย่างยาวนานด้านการรักษาโรคระบบทางเดินอาหาร พร้อมให้คำปรึกษา วินิจฉัยและรักษาโรคระบบทางเดินอาหารที่มีความยากและซับซ้อนทุกชนิด พร้อมทีมสหสาขาวิชาชีพที่มีความชำนาญและได้รับการอบรมในการดูแลผู้ป่วยโรคระบบทางเดินอาหารมาเป็นอย่างดี
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 07 มิถุนายน 2565