bih.button.backtotop.text

มองโลกให้สดใสอีกครั้งด้วยเลสิก (LASIK)

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เบื่อที่จะใส่แว่นหรือเลนส์สัมผัส (contact lens) อยู่ตลอดเวลา การผ่าตัดแก้ไขสายตาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้คุณสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นอิสระมากขึ้น ลดการพึ่งพาแว่นหรือเลนส์สัมผัส ปัจจุบันเทคนิคการผ่าตัดแก้ไขสายตามีอยู่หลายวิธี และมีวิธีที่เป็นที่นิยมมากวิธีหนึ่งนั้นก็คือ การทำเลสิก

 
การทำเลสิกคืออะไร
เลสิก (LASIK) เป็นการผ่าตัดแก้ไขภาวะสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียงด้วยการปรับความโค้งที่กระจกตาด้วยเลเซอร์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี ดังนี้
  • เลสิก (Laser-Assisted In Situ Keratomileusis: LASIK) เป็นการใช้เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ (Excimer Laser) ปรับความโค้งข้างในเนื้อกระจกตา โดยจักษุแพทย์จะสร้างฝากระจกตาหรือ flap ขึ้นมาด้วยอุปกรณ์แยกชั้นกระจกตา ซึ่งประกอบด้วยใบมีดบาง ๆ เล็ก ๆ ซ่อนอยู่ภายใน เรียกว่า microkeratome หลังจากนั้นจักษุแพทย์จะใช้เอ็กไซเมอร์เลเซอร์เจียระไนกระจกตาเพื่อปรับความโค้งของกระจกตาให้แสงโฟกัสเหมาะกับตาคนไข้ แล้วจึงปิดฝากระจกตากลับเข้าไปเหมือนเดิม
  • เฟมโต-เลสิก (Femtosecond laser-assisted LASIK: Femto-LASIK) วิธีการคล้ายกับการทำเลสิก แต่เป็นการทำเลสิกแบบไร้ใบมีด โดยการใช้เฟมโตเซกกันเลเซอร์ (Femtosecond laser) สร้างฝากระจกตาแทนการใช้ใบมีด ซึ่งจะอ่อนโยนและแม่นยำมากกว่า มีความหนาของฝากระจกตาที่เท่ากันซึ่งสามารถปรับให้บางได้ตามความเหมาะสม หลังจากนั้นจักษุแพทย์จะใช้เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ยิงไปที่กระจกตาเพื่อปรับความโค้งของกระจกตา จากนั้นจึงปิดฝากระจกตากลับเข้าที่ตามเดิม
นอกจากนี้ยังมีวิธีการผ่าตัดแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติที่พัฒนาต่อยอดมาจากเลสิก สำหรับแก้ไขสายตาสั้นและสายตาเอียงเรียกว่า ReLEx SMILE (Refractive Lenticule Extraction Small Incision Lenticule Extraction) โดยการใช้เฟมโตเซกกันเลเซอร์สร้างเลนส์กระจกตา แล้วสกัดเลนส์ออกทางแผลเปิดบนกระจกตาที่มีขนาดเล็กเพียง 2-4 มิลลิเมตร เพื่อปรับความโค้งของกระจกตาให้เหมาะสมกับค่าสายตาที่ต้องการ

 
การทำเลสิกแต่ละวิธีมีจุดเด่น จุดด้อยอย่างไร
เลสิก (Laser-assisted in situ Keratomileusis: LASIK)
  • จุดเด่น  มีอาการแสบเคืองน้ำตาไหลน้อยมาก พักฟื้นน้อย การมองเห็นดีขึ้นอย่างรวดเร็ว สามารถรักษาสายตาสั้น ยาว และเอียงได้ นอกจากนี้ยังสามารถช่วยให้สายตายาวตามวัยมองเห็นได้หลายระยะมากขึ้น โดยใช้หลักการ monovision หรือการให้ตาเด่นมองไกล ตาที่ไม่เด่นเหลือสายตาสั้นไว้เพื่อมองใกล้ได้ ซึ่งบำรุงราษฎร์มีโปรแกรมการรักษาสายตายาวตามวัยด้วยวิธีที่ เรียกว่า “ Presbeyond ” laser blended vision ซึ่งเป็นเทคโนโลยีล่าสุดจากเยอรมันนี เพื่อเพิ่มระยะการมองเห็น ให้ตาที่มองใกล้เก่ง สามารถมองไกลได้ค่อนข้างดีมากด้วย
  • จุดด้อย รบกวนความหนาของกระจกตาเนื่องจากต้องใช้เนื้อเยื่อบางส่วนในการสร้างฝากระจกตา มีความเสี่ยงในการเคลื่อนของฝากระจกตาหลังการผ่าตัดในระยะแรกได้บ้าง ตาแห้งลงกว่าเทคนิคอื่นในระยะแรกแต่จะดีขึ้นเหมือนเดิมประมาณ 6 เดือนหลังทำ

เลสิก (Femtosecond laser-assisted LASIK: Femto-LASIK)
  • จุดเด่น มีความแม่นยำในการสร้างฝากระจกตา ได้ฝากระจกตาที่เท่ากันทั้งแผ่นและสามารถทำขอบเป็นมุมเข้าร่อง ลดโอกาสเคลื่อนของฝากระจกตามี อ่อนโยนกว่าการใช้ใบมีด และสามารถแก้ไขสายตายาวตามวัยได้ด้วยโปรแกรม Presbeyond laser blended vision
  • จุดด้อย ราคาสูงกว่า อาจมีการอักเสบใต้ฝากระจกตาหลังการผ่าตัดได้เล็กน้อยหลังการผ่าตัดใหม่ๆ ฝากระจกตาติดแน่นแข็งแรงกว่ามีโอกาสเคลื่อนน้อยกว่าใบมีด
 
ผลลัพธ์ในการรักษาแตกต่างกันหรือไม่
ผลลัพธ์ในการรักษาแต่ละวิธีมีความใกล้เคียงกันมากหลังการผ่าตัดไประยะหนึ่ง หลังทำการผ่าตัด คนไข้มีการมองเห็นด้วยตาเปล่าดีกว่า 20/40 คือสามารถขับรถได้ตามกฎหมาย มีอิสรภาพทางการมองเห็นแล้ว กว่า 95%
และคนไข้มากกว่า 85-90% มีระดับการมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ถึงแถว 20/20 ซึ่งเป็นระดับการมองเห็นที่คมมาก

 
การทำเลสิกเหมาะกับใครบ้าง
  • ผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปและมีค่าสายตาคงที่ (หรือเปลี่ยนแปลงน้อยกว่า 0.50 D) อย่างน้อย 1 ปี
  • กระจกตาหนาและแข็งแรงพอ
  • สายตาสั้นไม่เกิน -10.00 Diopters
  • ไม่มีภาวะโรคตาอื่นๆที่มีผลต่อการมองเห็น เช่น ภาวะตาแห้งรุนแรงหรือโรคทางจอประสาทตา
  • ไม่มีโรคอื่นๆที่มีผลต่อการสมานแผล เช่น เบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดีหรือโรคกลุ่มรูมาตอยด์
  • ไม่ได้อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
  • ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีและเริ่มมีสายตายาวตามวัย อาจทดลองการมองเห็นแบบ monovision ว่าเหมาะกับคนไข้หรือไม่

ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ประกอบด้วยทีมจักษุแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญในการผ่าตัดแก้ไขภาวะสายตาที่ผิดปกติ ความชำนาญการของทีมแพทย์และความพรั่งพร้อมของสถานที่และเทคโนโลยีที่ทำให้การรักษาได้ผลลัพธ์ที่ดีและลดโอกาสในการเกิดอาการแทรกซ้อนตามมาได้อย่างมาก



 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:


แก้ไขล่าสุด: 07 มิถุนายน 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs