bih.button.backtotop.text

รู้เท่าทันฝีดาษวานร ป้องกันอย่างไรให้ปลอดภัย

23 สิงหาคม 2567


Layout-Monkeypox-infographic_Info-TH.jpg


โรคฝีดาษวานร คืออะไร ? 

โรคฝีดาษวานรหรือฝีดาษลิง  (Mpox or Monkeypox) เกิดจากเชื้อไวรัส Monkeypox ซึ่งเป็นไวรัสในสกุล Orthopoxvirus ของวงศ์ Poxviridae เป็นเชื้อกลุ่มเดียวกับโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ (Smallpox) แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า เดิมเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ติดต่อจากสัตว์มาสู่คนแต่ปัจจุบันพบมีการติดต่อจากคนสู่คนด้วยเช่นกัน พบได้บ่อยบริเวณใกล้พื้นที่ป่าฝนเขตร้อนแถบกลางและแอฟริกาตะวันตก และเริ่มแพร่กระจายในเขตเมืองเพิ่มมากขึ้น
 

โรคฝีดาษวานร สามารถติดต่อได้ทางไหนบ้าง ?

  • การติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยมีสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก เป็นสัตว์พาหะนำเชื้อ จากการสัมผัสเลือด สารคัดหลั่ง ตุ่มหนองหรือบาดแผลของสัตว์ที่ติดเชื้อ รวมถึงการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก
  • การติดต่อจากคนสู่คน ผ่านทางการสัมผัสสารคัดหลั่ง สัมผัสรอยโรค หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ติดเชื้อ ส่วนการติดต่อผ่านทางละอองฝอยจากการหายใจเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดเป็นเวลานาน
 

เมื่อติดเชื้อไวรัสแล้ว จะมีอาการเป็นอย่างไร ? 

หลังจากได้รับเชื้อผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการภายในเวลา 5-21 วัน การติดเชื้อแบ่งเป็น 2 ระยะดังนี้

  • ระยะแรก (วันที่ 0-5) จะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อและไม่มีแรง ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่มีไข้อาจมีการแพร่เชื้อผ่านระยะนี้ได้เล็กน้อย
  • ระยะออกผื่น (1-3 วันหลังมีไข้) ตุ่มผื่นมักขึ้นหนาแน่นบนใบหน้าและแขนขามากกว่าลำตัว โดยเฉพาะใบหน้า (ร้อยละ 95) และฝ่ามือฝ่าเท้า (ร้อยละ 75)  นอกจากนี้ เยื่อบุช่องปาก (ร้อยละ 70) อวัยวะเพศ (ร้อยละ 30) เยื่อบุตา (ร้อยละ 20) และกระจกตาก็ได้รับผลกระทบด้วย ลักษณะของผื่นจะเริ่มจากผื่นแดงราบ เปลี่ยนเป็นผื่นแดงนูน  ตุ่มน้ำ และตุ่มหนอง ตามลำดับ จากนั้นจะตกสะเก็ดและหลุดลอกออก ความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละคนจะขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับ  ช่วงนี้สามารถแพร่เชื้อได้มาก โดยแพร่เชื้อได้จนกว่าสะเก็ตจนหลุดลอกออกหมด ระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์
 

รักษาโรคฝีดาษวานร อย่างไร ? 

ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคฝีดาษลิงแบบจำเพาะ เป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ และควบคุมการเกิดภาวะแทรกซ้อน ในปี 2565 สมาคมการแพทย์แห่งยุโรป (EMA) อนุญาตให้ใช้ยาต้านไวรัส tecovirimat ที่ได้รับรองในการรักษาโรคฝีดาษมาก่อนมาใช้รักษาโรคฝีดาษวานร แต่ยาชนิดนี้ยังไม่แพร่หลายทั่วไป
 

การป้องกันโรคฝีดาษวานร

แนะนำให้รักษาสุขอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วยหรือผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดโรค หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่อาจเป็นพาหะนำโรค และไม่รับประทานอาหารจากเนื้อสัตว์ปรุงไม่สุก หากเดินทางไปพื้นที่เสี่ยงสังเกตอาการของตนเองขณะที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงจนถึงหลังออกจากพื้นที่เสี่ยง 21 วัน สำหรับผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรคฝีดาษวานร ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแนะนำให้ฉีดวัคซีนภายใน 4 วันหลังสัมผัสเพื่อป้องกันการติดโรค และฉีดวัคซีนภายใน 14 วันเพื่อลดความรุนแรงของโรค
 

วัคซีนฝีดาษวานร

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษวานรโดยตรง แต่พบว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ 2 ครั้ง ห่างกัน 28 วัน มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคฝีดาษวานรได้ถึงร้อยละ 80-85 วัคซีนจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ดีภายใน 14 วันหลังฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ทั้งนี้ประเทศไทยมีวัคซีนให้บริการที่สถานเสาวภา สภากาชาดไทย

ผู้ที่ควรได้รับวัคซีน คือ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปที่มีความเสี่ยง ดังนี้

  1. บุคคลที่มีการสัมผัสโรคแล้ว ได้แก่ ผู้ที่มีการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย เช่น มีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ ใกล้ชิดคลุกคลีหรือมีการสัมผัสกับรอยโรคของผู้ติดเชื้อ โดยให้เริ่มฉีดวัคซีนภายใน 14 วัน หลังสัมผัสโรค (ดีที่สุดคือภายใน 4 วัน)
  2. ฉีดวัคซีนแบบป้องกันก่อนสัมผัสโรคสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเชื้อฝีดาษวานร และผู้ติดเชื้อ HIV หรือกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะกลุ่มชายรักชายที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีคู่นอนมากกว่า 1 คน หรือ เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา

 

                                                                                                                         ข้อมูล ณ วันที่ 20 สิงหาคม 2567

 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs