รังสี UV แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ รังสี UV-A และ UV-B โดยรังสี UV มีผลต่อผิวหนังทั้งในแง่ก่อให้เกิดประโยชน์ เช่น กระตุ้นการสร้างวิตามินดี และกระตุ้นการสร้างเม็ดสีที่ผิว เพื่อปกป้องผิวจากแสงแดด แต่รังสี UV ก็ให้โทษได้เช่นกัน โดยรังสี UV-A สามารถทะลุผ่านผิวหนังถึงชั้นหนังแท้ เข้าไปทำลายเนื้อเยื่อคอลลาเจนและเส้นใยอิลาสติก ทำให้เซลล์ผิวเกิดภาวะแก่ก่อนวัย ส่วนรังสี UV-B เมื่อได้รับเป็นเวลานานจะทำให้ผิวหนังบวมแดง พองและลอกออก เกิดอาการไหม้แดด (sunburn) และเมื่อได้รับรังสีอย่างต่อเนื่อง ก็อาจพัฒนาให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้
การใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดทาผิวก่อนออกแดด เป็นวิธีการหนึ่งในการปกป้องผิวจากรังสี UV ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์กันแดดจำนวนมากและหลากหลาย ดังนั้น หากผู้บริโภคมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กันแดด จะทำให้สามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดได้อย่างเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการปกป้องผิวจากรังสี UV
ผลิตภัณฑ์กันแดดปกป้องผิวได้อย่างไร?
ในผลิตภัณฑ์กันแดดประกอบด้วยสารที่ทำหน้าที่ป้องกันรังสี UV สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามคุณสมบัติในการป้องกันรังสี UV ได้แก่
- สารดูดซับรังสี
- สารสะท้อนรังสี
ประเภทของสารสำคัญ
|
ดูดซับรังสี |
สะท้อนรังสี |
คุณสมบัติ |
สารกลุ่มนี้จะ ดูดกลืนรังสี UV ไว้ ทำให้รังสี UV
ไม่สามารถทะลุผ่านเข้ามาทำอันตรายต่อผิวหนัง
หลังจากนั้นจึงค่อยๆ คายพลังงานออกมาในรูปรังสีที่ไม่เป็นอันตราย |
สารกลุ่มนี้จะเคลือบอยู่บนผิวหนังแล้ว สะท้อนหรือกระจายรังสี UV
เสมือนเป็นร่มให้กับผิวหนัง |
จุดเด่น |
สามารถป้องกันรังสี UV ได้ดี
เพราะสามารถดูดกลืนรังสีไว้ได้ทั้งหมด |
ไม่ถูกดูดซึมผ่านผิวหนัง
ทำให้มีโอกาสเกิดการแพ้ได้น้อย
มีความปลอดภัยสูงกว่ากลุ่มดูดซับรังสี |
จุดด้อย |
มีโอกาสเกิดการแพ้ต่อผิวได้มากกว่ากลุ่มสะท้อนรังสี
เนื่องจากโครงสร้างของสารกลุ่มนี้
สามารถซึมผ่านชั้นผิวหนังและก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ |
มีขนาดอนุภาคที่ค่อนข้างใหญ่
เมื่อทาที่ผิว จะเกิดการสะท้อนแสง
ทำให้เกิดปื้นขาวบริเวณที่ทา แลดูไม่เป็นธรรมชาติ |
ตัวอย่าง
สารสำคัญ |
แอนทรานิเลต (anthranilate),
เบนโซฟีโนน (benzophenone),
ซินนาเมต (cinnamate), ซาลิไซเลต (salicylate) |
ซิงก์ออกไซด์ (zinc oxide), ไททาเนียมไดออกไซด์ (titanium dioxide)
และ แมกนีเซียมออกไซด์ (magnesium oxide) |
ค่า PFA และ SPF ที่แสดงบนผลิตภัณฑ์กันแดด หมายถึงอะไร ?
ผลิตภัณฑ์กันแดดแต่ละตัวมีความสามารถในการป้องกันแดดได้แตกต่างกัน จึงมีการกำหนดค่าชี้วัดประสิทธิภาพในการป้องกันแดดที่สำคัญและเป็นมาตรฐานสากลไว้ 2 ชนิด ได้แก่ PFA และ SPF
1. PFA (Protection Factor of UV-A) คือ ค่าที่วัดประสิทธิภาพในการป้องกันอาการดำคล้ำของผิวหนังที่เกิดจากรังสี UV-A โดยสัญลักษณ์ในการแสดงระดับของประสิทธิภาพ ขึ้นอยู่กับมาตรฐานของแต่ละประเทศ เช่น ดังที่แสดงในตารางด้านล่าง เป็นมาตรฐาน JCIA (Japan Cosmetic Industry Association ค.ศ. 2012) ซึ่งแสดงระดับของประสิทธิภาพ หรือค่า PA ได้ดังนี้
ระดับของประสิทธิภาพ |
ค่า PFA |
การแสดงค่า PA |
ต่ำ |
ตั้งแต่ 2 ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 4 (2-4) |
PA+ |
กลาง |
ตั้งแต่ 4 ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 8 (4-8) |
PA++ |
สูง |
ตั้งแต่ 8 ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 16 (8-16) |
PA+++ |
สูงมาก |
ตั้งแต่ 16 ขึ้นไป (≥16) |
PA++++ |
2. SPF (Sun Protection Factor) คือ ค่าที่วัดประสิทธิภาพในการป้องกันการไหม้แดงของผิวหนังที่เกิดจากรังสี UV-B โดยใช้ตัวเลข แสดงระดับของประสิทธิภาพและความสามารถในการดูดซับรังสี UV-B แต่อย่างไรก็ตามค่า SPF ตั้งแต่ 30 ขึ้นไปจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UV-B ได้ไม่แตกต่างกัน
ระดับของประสิทธิภาพ |
ค่า SPF |
การแสดงค่า PA |
ต่ำ |
ตั้งแต่ 6 ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 15 (6-15) |
แสดงเป็นระดับของประสิทธิภาพ
หรือ เป็น SPF ตามจริง |
กลาง |
ตั้งแต่ 15 ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 30 (15-30) |
แสดงเป็นระดับของประสิทธิภาพ
หรือ เป็น SPF ตามจริง |
สูง |
ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 50 (30-50) |
แสดงเป็นระดับของประสิทธิภาพ
หรือ เป็น SPF ตามจริง |
สูงมาก |
ตั้งแต่ 50 ขึ้นไป (≥50) |
แสดงเป็นระดับของประสิทธิภาพ
หรือ เป็น SPF 50 + |
ผลิตภัณฑ์กันแดดมีรูปแบบใดบ้าง ?
ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์กันแดดหลากหลายชนิดให้เลือกใช้ตามความต้องการของผู้บริโภค ได้แก่ รูปแบบอิมัลชัน เจล สเปรย์หรือแอโรซอล แต่ละรูปแบบต่างมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน ดังนี้
รูปแบบผลิตภัณฑ์ |
ข้อดี |
ข้อเสีย |
อิมัลชัน
เช่น ครีม โลชั่น |
มีความสามารถในการกระจายตัวบนผิว
เคลือบและยึดติดผิวได้ดี |
ทำให้ผู้ใช้เกิดความรู้สึกเหนอะหนะได้ |
เจล |
มีจุดเด่นในเรื่องความสวยงามของเนื้อผลิตภัณฑ์ ใส และน่าใช้ |
ถูกชะออกโดยน้ำหรือเหงื่อได้ง่าย
ทำให้สูญเสียประสิทธิภาพในการกันแดดไป |
แอโรซอล
ผลิตภัณฑ์ชนิดฉีดพ่น หรือสเปรย์ |
ใช้กับผิวหนังบริเวณกว้างได้ง่าย |
มักเกิดฟิล์มที่ไม่ต่อเนื่อง
ทำให้ประสิทธิภาพในการปกป้องผิวจากรังสี UV ลดลง |
ครีมกันแดด กันน้ำหรือไม่ ?
ผลิตภัณฑ์กันแดดบางชนิด ระบุคุณลักษณะพิเศษในการกันน้ำ (water resistance) สามารถแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ
- Water resistance product คือ ผลิตภัณฑ์ที่สามารถคงสภาพ SPF ได้ตามที่กำหนด หลังจากแช่น้ำนาน 40 นาที
- Very water resistance product คือ ผลิตภัณฑ์ที่ยังคงสามารถคงสภาพ SPF ได้ตามที่กำหนด หลังจากแช่น้ำนาน 80 นาที
ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดอย่างไร ?
การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กันแดด ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น
- ความสามารถในการป้องกันรังสี UV: ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีทั้งค่า SPF และ PFA กล่าวคือเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถป้องกันได้ทั้งรังสี UV-B และ UV-A แต่หากต้องการอาบแดด เพื่อทำให้สีผิวเป็นสีแทน ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถป้องกันเฉพาะรังสี UV-B จะช่วยป้องกันอาการไหม้แดด แต่ไม่ป้องกันรังสี UV-A (ผลิตภัณฑ์ที่มีค่า PFA น้อยๆ) จึงทำให้รังสี UV-A ผ่านผิวหนังและกระตุ้นการสร้างเมลานินได้ โดยคุณสมบัติดังกล่าวสามารถพบได้ในผลิตภัณฑ์ที่ทำให้เกิดผิวสีแทน (sun-tanning products)
- รูปแบบของผลิตภัณฑ์: หากต้องไปทำกิจกรรมทางน้ำ ไม่ควรเลือกรูปแบบเจล หรือถ้าต้องการทาผิวเป็นบริเวณกว้าง เช่น ลำตัว แขน ขา อาจพิจารณาเลือกรูปแบบอิมัลชัน เนื่องจากเป็นรูปแบบที่กระจายตัวบนผิวได้ดี ทนต่อการชะล้างของเหงื่อได้ดีมากกว่ารูปแบบเจล และมีความสามารถในการเคลือบและยึดติดผิวได้ดี
- อายุ: ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 6 เดือนไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์กันแดด เนื่องจากอาจเกิดการระคายเคืองต่อผิวได้ง่าย หากเด็กอายุมากกว่า 6 เดือน อาจลองให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติเคลือบผิว เช่น ไททาเนียมไดออกไซด์ ซึ่งมีโอกาสเกิดอาการแพ้ได้น้อย และที่สำคัญควรเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากแอลกอฮอล์
- กิจกรรมที่ทำ: เลือกค่า SPF ตั้งแต่ 15 ขึ้นไป สำหรับการทำกิจวัตรประจำวันหรือกิจกรรมที่อยู่แต่ภายในอาคาร ส่วนค่า SPF ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป เหมาะสำหรับการทำกิจกรรมกลางแจ้ง และหากเป็นการทำกิจกรรมกลางแจ้งที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางน้ำ ก็เหมาะสำหรับการใช้ SPF ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป และมีความสามารถในการกันน้ำ
วิธีการใช้ผลิตภัณฑ์กันแดด
- ควรทาผลิตภัณฑ์กันแดดอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน แต่หากต้องการให้ได้ผลในการป้องกันผิวจากแสงแดดมากที่สุด แนะนำให้ทาผลิตภัณฑ์กันแดดทุกๆ 2 ชั่วโมง โดยเฉพาะเวลาที่มีเหงื่อออก หรือหลังจากว่ายน้ำ หรือเช็ดตัว
- ควรทาให้เป็นฟิล์มสม่ำเสมอและปกคลุมทั่วผิว แต่ไม่ต้องถูนวด
- ทาผลิตภัณฑ์กันแดดในปริมาณที่เหมาะสมกับบริเวณของร่างกายที่สัมผัสกับแสงแดด เช่น จมูก ใบหู โหนกแก้ม เป็นบริเวณที่สัมผัสแสงแดดได้มากกว่าบริเวณอื่น จึงอาจต้องทาผลิตภัณฑ์กันแดด ปริมาณมากกว่าบริเวณอื่น เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงบริเวณรอบดวงตาหรือเนื้อเยื่ออ่อน เพราะอาจเกิดการระคายเคืองหรือแพ้ได้ง่าย
- ควรทาก่อนออกแดดประมาณ 20 – 30 นาที เนื่องจาก ผลิตภัณฑ์ต้องใช้เวลาในการจัดเรียงตัวและปกคลุมผิวหนัง
หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชั่วโมง
เอกสารอ้างอิง
- Latha M S, Martis J, Shobha V, Shinde R S, Bangera S, Krishnankutty B et al. Sunscreening Agents A Review. J Clin Aesthet Dermatol 2013;6(1):16–26.
- Terry Slevin. How does sunscreen work? [internet]. January 19, 2018 [cited 2019 September 7]. Available from: https://www.cancercouncil.com.au/blog/how-does-sunscreen-work/
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 17 พฤษภาคม 2565