การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สามารถลดความรุนแรงของอาการป่วยและลดการเสียชีวิตได้ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ถือเป็นภาวะฉุกเฉินของโลก จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลกกว่าร้อยล้านคน มีผู้เสียชีวิตมากกว่าสองล้านคน
Q: ทำไมเราจึงควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19?
- การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สามารถลดความรุนแรงของอาการป่วยและลดการเสียชีวิตได้ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ถือเป็นภาวะฉุกเฉินของโลก จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลกกว่าร้อยล้านคน มีผู้เสียชีวิตมากกว่าสองล้านคน โดยในปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนรวมทั่วโลกแล้วกว่า 100 ล้านโดส สำหรับประเทศที่มีการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 มากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา รองลงมาคือ ประเทศจีน และอังกฤษตามลำดับ (ข้อมูลวันที่ 9 ก.พ. 2564)
Q: วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 (COVID-19 vaccine) คืออะไร?
- วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งในขณะนี้มีด้วยกัน 4 ชนิดหลักๆ แบ่งตามเทคนิคที่ใช้ในการผลิตวัคซีน คือ
- mRNA vaccines เป็นการผลิตโดยใช้สารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย จะทำให้ร่างกายสร้างโปรตีนที่สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมา
- Viral vector vaccines เป็นการฝากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) เข้าไปในสารพันธุกรรมของไวรัสชนิดอื่นที่อยู่ในสภาพที่ไม่ก่อให้เกิดโรค เพื่อพาเข้ามาในร่างกาย ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมา
- Protein-based vaccines จะใช้โปรตีนบางส่วนของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) เช่น โปรตีนส่วนหนาม (spike protein) ฉีดเข้าไปในร่างกายเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส
- Inactivated vaccines ผลิตโดยการใช้ไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ที่ถูกทำให้ตายแล้ว เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส
Q: วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด มีอะไรบ้าง?
- ขณะนี้มีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ที่ได้รับการอนุมัติและใช้กันแล้วในต่างประเทศ ได้แก่ วัคซีนของ Pfizer-BioNTech (สหรัฐอเมริกา) วัคซีนของ Moderna (สหรัฐอเมริกา) วัคซีนของ Gamaleya (รัสเซีย) วัคซีนของ AstraZeneca (สหราชอาณาจักร) วัคซีนของ Sinovac (จีน) และวัคซีนของ Sinopharm (จีน) เป็นต้น
สำหรับประเทศไทยมีการพิจารณานำเข้าวัคซีน โดยวัคซีนที่นำมาใช้นั้น จะต้องผ่านการขึ้นทะเบียนและได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อย่างถูกต้อง รวมถึงมีการอนุมัติใช้แล้วในหลากหลายประเทศและได้รับการรับรองจากองค์กรอนามัยโลก (World Health Organization; WHO)
Q: ใครควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19?
- เป้าหมายของการให้วัคซีนคือ เพื่อลดการป่วยรุนแรง การเสียชีวิตจากโรคและการสร้างภูมิคุ้มกันในระดับประชากร เนื่องจากปริมาณของวัคซีนมีจำกัด กลุ่มเป้าหมายในระยะแรก คือ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสสัมผัสโรคสูง ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มเป้าหมายในระยะถัดไปเมื่อมีปริมาณวัคซีนมากขึ้น คือ ประชาชนทั่วไป
Q: เด็กสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้หรือไม่?
- ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็ก แต่จากคำแนะนำในการฉีดวัคซีนของแต่ละบริษัทผู้ผลิต ส่วนใหญ่จะแนะนำให้ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป ยกเว้นวัคซีนของ Pfizer-BioNTech ที่แนะนำให้ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป
Q: หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้หรือไม่?
- ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร อย่างไรก็ตาม จากคำแนะนำของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ หรือ Centers for Disease Control and Prevention (CDC) ของประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า หญิงตั้งครรภ์หรือหญิงให้นมบุตรอาจเลือกที่จะฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้ หากเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาระหว่างความรุนแรงที่เกิดหากติดเชื้อโควิด-19 กับอาการข้างเคียงของวัคซีนที่อาจเกิดขึ้น
Q: ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้หรือไม่?
- ได้ และควรได้รับการฉีดวัคซีนหากไม่แพ้ส่วนประกอบของวัคซีน เนื่องจากผู้ที่มีโรคประจำตัวดังกล่าวอาจมีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงถึงชีวิตหากติดเชื้อโควิด- 19
Q: ผู้ที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกันของร่างกาย (Immunosuppressant) สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้หรือไม่?
- ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในผู้ป่วยที่ได้รับยาบางชนิดที่กดภูมิคุ้มกัน รวมถึงผู้ป่วยโรคมะเร็ง ทั้งนี้อาจพิจารณาให้ฉีดวัคซีนหากไม่มีประวัติแพ้ส่วนประกอบของวัคซีน ภายใต้คำแนะนำจากแพทย์ของท่าน
Q: หากเคยติดเชื้อโควิด-19 มาแล้ว สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้หรือไม่?
- ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาแล้ว ถึงแม้จะมีการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ แต่พบว่าระดับภูมิคุ้มกันมีการลดระดับลงอย่างรวดเร็วจึงสามารถติดเชื้อซ้ำได้อีก แนะนำให้ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาแล้ว ฉีดวัคซีนหลังหายจากอาการป่วย ตรวจไม่พบเชื้อแล้วและพ้นระยะกักตัวตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข (14 วัน) ทั้งนี้แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีน
Q: เมื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เข็มแรกไปแล้ว เราสามารถฉีดเข็มที่ 2 ด้วยวัคซีนจากคนละบริษัทได้หรือไม่?
- ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลในด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ต่างชนิดกันระหว่างเข็มที่ 1 และ เข็มที่ 2 เพื่อให้มั่นใจในประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุดจึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนชนิดเดียวกัน แต่ทั้งนี้หากไม่สามารถหาวัคซีนชนิดเดิมสำหรับฉีดเข็มที่ 2 ได้ อาจพิจารณาเปลี่ยนยี่ห้อโดยอยู่ในการพิจารณาของแพทย์
Q: เราสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ร่วมกับวัคซีนอื่นๆ เช่น วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ได้หรือไม่?
- ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ร่วมกับวัคซีนอื่นๆ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สามารถติดตามประสิทธิภาพและอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่หรือวัคซีนอื่นๆ ก่อนเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างน้อย 14 วัน หรือหลังได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เข็มสุดท้ายอย่างน้อย 14 วัน
Q: ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 ภายในระยะเวลากี่วัน หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว?
- วัคซีนจะมีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิต้านทานสูงสุดในร่างกาย หลังจากที่มีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 เป็นเวลาเฉลี่ย 14-28 วัน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องได้รับวัคซีนให้ครบเพื่อประสิทธิภาพที่ดีที่สุด
Q: วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สามารถป้องกันโรคได้นานแค่ไหน? หากได้รับวัคซีนครบแล้วจำเป็นต้องฉีดกระตุ้นภายในระยะเวลาเท่าใด?
- ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลในด้านระยะเวลาของการป้องกันโรคหลังการฉีดวัคซีนว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้นานเพียงใด เบื้องต้นพบว่าสามารถป้องกันโรคได้นานประมาณ 6 เดือนขึ้นไป ส่วนข้อมูลในการฉีดกระตุ้นจำเป็นต้องติดตามคำแนะนำผู้เชี่ยวชาญต่อไปในอนาคต
Q: วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มีความปลอดภัยมากเพียงใด?
- แม้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มีระยะเวลาการศึกษาไม่นานและมีการผลิตใช้ในช่วงเวลาอันสั้น แต่วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่นำมาใช้ในประเทศไทย ผ่านการขึ้นทะเบียนและได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แห่งประเทศไทยตามมาตรฐาน รวมถึงมีข้อมูลประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนจากการใช้ในหลากหลายประเทศ อีกทั้งมีการติดตามอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดและรายงานตามระบบที่กำหนดไว้ แม้จะมีรายงานผลข้างเคียงที่พบบ่อย เช่น อ่อนเพลีย ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ และมีไข้ แต่สามารถหายได้เองหลังฉีดยาประมาณ 2 – 3 วัน ส่วนผลข้างเคียงรุนแรงนั้นพบน้อยมาก เช่น การแพ้ชนิดรุนแรง (anaphylaxis) เป็นต้น
Q: ข้อควรระวังและผลข้างเคียงของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในระยะยาว?
- ในปัจจุบันระยะเวลาการใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นานไม่ถึงปี ซึ่งข้อมูลผลข้างเคียงร้ายแรงของวัคซีนยังพบน้อย ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีการเฝ้าระวังและติดตามความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด
Q: หากต้องการติดตามข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กับทางโรงพยาบาลบํารุงราษฎร์ต้องทำอย่างไร?
- โรงพยาบาลบํารุงราษฎร์ มีการติดตามสถานการณ์และแนวทางเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างใกล้ชิด ท่านสามารถติดตามข้อมูลได้ที่โรงพยาบาลบํารุงราษฎร์ทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นทาง Bumrungrad Application, Website, Facebook page, Line Official Account หรือโทรศัพท์ที่ +66 2066 8888 พร้อมบริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง
ทบทวน กุมภาพันธ์ 2564
ศูนย์ข้อมูลยา โรงพยาบาลบํารุงราษฎร์
อาคารโรง
พยาบาลบำรุงราษฎร์
Tel: +66(0) 2 011 3399
Email:
[email protected]
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 26 พฤษภาคม 2565