bih.button.backtotop.text

Endovascular Surgery เทคโนโลยีเพื่อผู้ป่วย โรคหลอดเลือดสมองตีบ


Better Health ฉบับนี้จะพาคุณไปรู้จักกับการรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบด้วยวิธี Endovascular Surgery ในฐานะที่โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้นำเทคโนโลยีนี้มาเป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วยนับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา และมีผู้ที่ผ่านการรักษาด้วยเทคนิคนี้แล้วกว่า 100 ราย

โดยเราได้มีโอกาสพูดคุยกับ นพ. ฤกษ์ชัย ตุลยาภรณ์โชติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาประสาทวิทยาด้านหลอดเลือดสมอง และ Endovascular ซึ่งจะช่วยให้คุณเห็นภาพของการ "ซ่อมแซม" หลอดเลือดที่อุดตันจากคราบไขมันและหินปูนได้อย่างชัดเจน

“ลองนึกภาพว่าหลอดเลือดก็เหมือนกับท่อน้ำ เมื่อท่อน้ำอุดตันก็จำเป็นต้องลอกท่อ จัดการเอาเศษขยะที่ไปสะสมปิดกั้นทางเดินน้ำออกให้หมด เพื่อให้น้ำไหลผ่านไปได้ หลอดเลือดก็เช่นกัน เมื่อผนังด้านในตีบตันเพราะมีคอเลสเตอรอลหรือคราบต่าง ๆ ที่เราเรียกว่าพลัค (Plague) มาเกาะอยู่มากถึงระดับหนึ่ง แพทย์ก็จำเป็นจะต้องทำการซ่อมแซมหลอดเลือดเพื่อเปิดทางให้เลือดไหลขึ้นไปเลี้ยงสมองได้สะดวก เป็นการป้องกันภาวะสมองขาดเลือดซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต”

แต่ก่อนจะไปถึงวิธีการผ่าตัดแบบ Endovascular ผู้ป่วยต้องผ่านการวินิจฉัยอย่างละเอียดเสียก่อนว่าอยู่ในข่ายที่ต้องเข้ารับบริการ “ลอกท่อ” หรือไม่? 

การวินิจฉัย

ในการตรวจวินิจฉัยว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดเปิดหลอดเลือดหรือไม่นั้น แพทย์จะพิจารณาจากผลการตรวจซึ่งสามารถทำได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
  • ตรวจหลอดเลือดสมองด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรือ อัลตร้าซาวด์บริเวณหลอดเลือดใหญ่ที่คอ (Carotid Duplex Ultrasound) ทั้งในส่วนที่ไปเลี้ยงสมองส่วนหน้าและสมองส่วนหลัง เพื่อดูว่ามีตะกอนไขมันสะสมที่ผนังด้านในของหลอดเลือดมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งดูการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงสมองด้วย
  • ตรวจหลอดเลือดสมองด้วยสนามแม่เหล็ก หรือ การทำ MRA (Magnetic Resonance Angiography) เป็นการใช้สนามแม่เหล็กที่มีความเข้มสูง และคลื่นความถี่วิทยุในการสร้างภาพโครงสร้างภายในหลอดเลือด
  • ตรวจหลอดเลือดสมองด้วยเครื่อง CT Angiogram โดยแพทย์จะทำการฉีดสารทึบรังสี เพื่อหาตำแหน่งที่มีการตีบตันของหลอดเลือดด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงแบบ 64 สไลด์ ซึ่งให้ภาพ 3 มิติที่มีความคมชัดสูง

ตีบแค่ไหน ที่ต้องผ่าตัด

ในกรณีที่ผลการตรวจบ่งชี้ว่า หลอดเลือดสมองเส้นใดเส้นหนึ่งตีบตันเกินกว่าร้อยละ 50 ของเส้นผ่านศูนย์กลาง แพทย์จะพิจารณาเปิดหลอดเลือดไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด เนื่องจากมีข้อมูลทางคลินิกชัดเจนว่าเมื่อหลอดเลือดตีบขนาดนี้ ปริมาณของเลือดที่ไหลไปเลี้ยงสมองจะเริ่มลดลง

“ที่ต้องใช้คำว่า พิจารณา เพราะไม่ใช่ผู้ป่วยหลอดเลือดตีบทุกคนจะต้องได้รับการเปิดหลอดเลือด แพทย์ต้องดูปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีโรคประจำตัวอย่างโรคหัวใจ หรือโรคไตหรือไม่ เราต้องชั่งน้ำหนักว่าโรคไหนรุนแรงกว่ากัน เนื่องจากการเปิดหลอดเลือดต้องทำการฉีดสีร่วมด้วยซึ่งจะกระทบถึงกันหมด” นพ.ฤกษ์ชัย อธิบาย

สำหรับผู้ป่วยที่ควรเข้ารับการเปิดหลอดเลือดอย่างยิ่ง คือ เมื่อหลอดเลือดตีบมากกว่าร้อยละ 70 เนื่องจากมีความเป็นไปได้มากว่าผู้ป่วยจะเกิดภาวะสมองขาดเลือดได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว แพทย์จะแนะนำให้เข้ารับการรักษาภายใน 2 สัปดาห์ ขณะที่การตีบที่อยู่ระหว่างร้อยละ 50 - 69.9 ยังต้องพิจารณาเป็นกรณีไป
 
“หลักสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ การผ่าตัดอะไรก็ตามมีความเสี่ยงทั้งนั้น ถ้าความเสี่ยงในการรักษามากกว่าการดำเนินโรค แพทย์ก็จะไม่เสี่ยงทำการผ่าตัด แต่ถ้าความเสี่ยงในการรักษาซ่อมแซมด้วยการเปิดหลอดเลือดมีน้อยกว่า และการปล่อยให้ดำเนินโรคต่อไปจะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย ดังนี้แล้วการตัดสินใจทำเลยจะเป็นผลดีกับผู้ป่วยมากกว่า”
นพ.ฤกษ์ชัย กล่าว 

รู้จักกับ Endovascular Surgery

เมื่อจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดเปิดหลอดเลือด แพทย์จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการผ่าตัดทั้งสองวิธี พร้อมผลการวิจัยและปัจจัยที่เกี่ยวข้องแก่ผู้ป่วยเพื่อพิจารณาเปรียบเทียบ

สำหรับการผ่าตัดแบบแผลเล็กเพื่อทำบอลลูนและใส่ขดลวดถ่างขยายนั้น เป็นการผ่าตัดที่ทำภายในหลอดเลือด โดยแพทย์จะสอดเครื่องมือเข้าทางหลอดเลือดใหญ่ที่สะดวกในการลำเลียงเครื่องมือมากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นที่ขา เพื่อเข้าไปวางบอลลูนและขดลวดถ่างขยายในตำแหน่งที่หลอดเลือดตีบตัน

ทั้งนี้ บอลลูนทำหน้าที่ไม่ต่างจากการขูดตะกรันในท่อน้ำ ขณะที่ขดลวด Stent เปรียบได้กับการใส่ตะแกรงเข้าไปกันเพื่อลดโอกาสที่หลอดเลือดจะตีบซ้ำอีก ในกรณีของการซ่อมแซมด้วย Balloon และใส่ Stent เรามักจะใส่ Protective device ขนาดจิ๋วซึ่งจะทำหน้าที่คอยป้องกันไม่ให้ลิ่มเลือดหลุดขึ้นไปยังสมองระหว่างการผ่าตัด

“การผ่าตัดวิธีนี้ใช้เวลาประมาณ 30 - 50 นาทีโดยเฉลี่ย และไม่เกินหนึ่งชั่วโมง โดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องดมยา เราต้องการแค่สองนาทีที่ผู้ป่วยต้องนิ่งจริง ๆ ระหว่างวางบอลลูนกับวางขดลวด”

สำหรับลักษณะของแผลผ่าตัดแบบสอดท่อจะเหมือนกับแผลฉีดสีที่ขาทั่วไป คือมีขนาดกว้างเพียง 2.6 มิลลิเมตร และเมื่อผ่าตัดแล้วผู้ป่วยจะใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 30 ชั่วโมง โดยผู้ป่วยต้องเข้ามาเตรียมตัวในช่วงเช้า เพื่อทำการผ่าตัดช่วงเย็น และสามารถกลับบ้านได้ในบ่ายวันรุ่งขึ้น โดยทั่วไปจะพักฟื้นในห้องไอซียูประมาณ 1 คืน

ผ่าแล้วมีโอกาสตีบได้อีก

แม้เทคโนโลยีจะช่วยให้การรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่หากผู้ป่วยไม่ระมัดระวังรูปแบบการดำเนินชีวิต และปล่อยปละละเลยสุขภาพของตัวเอง โอกาสที่หลอดเลือดเดิมจะกลับมาตีบอีกก็เป็นไปได้ โดยมีงานวิจัยระบุว่าตัวเลขการตีบตันซ้ำอยู่ที่ร้อยละ 4 ต่อปี นั่นคือร้อยคนมีสี่คนที่ตีบซ้ำ

“แน่นอนว่าเราลอกท่อให้คุณแล้ว แต่คุณยังทิ้งเศษขยะลงไปอีกท่อก็อุดตันแล้วก็ต้องกลับมาอีก ผมมีผู้ป่วยที่ซ่อมให้ทั้งตัว ทำขาให้คอให้ แต่เขาก็ยังสูบบุหรี่อยู่ ก็ซ่อมแล้วซ่อมอีกไปเรื่อย ๆ ซึ่งสภาพของหลอดเลือดก็ไม่เหมือนเดิม แบบนี้ไม่ดีกับสุขภาพอย่างยิ่ง” คุณหมอฤกษ์ชัย ทิ้งท้าย
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 29 มีนาคม 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs