รู้จักกับโรคหลอดเลือดสมอง
โรคหลอดเลือดสมอง เป็นความผิดปกติของหลอดเลือดที่ทำหน้าที่ส่งผ่านเลือดไปเลี้ยงสมอง แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
หลอดเลือดสมองตีบ หรือ
อุดตัน ภาวะสมองขาดเลือด หรือ
Ischemic stroke อันเนื่องมาจากหลอดเลือดอุดตันนั้นเป็นสาเหตุใหญ่ของโรคหลอดเลือดสมอง โดยร้อยละ 80 มีสาเหตุมาจากการอุดตันของลิ่มเลือด อันที่จริง การสร้างลิ่มเลือดนั้นเป็นกลไกที่สำคัญในการห้ามเลือด และซ่อมแซมหลอดเลือดที่เสียหาย แต่ลิ่มเลือดที่ก่อตัวขึ้นในหลอดเลือดหรือที่หนึ่งที่ใดอย่างผิดที่ผิดทางนั้น สร้างความเสียหายอย่างมากเมื่อลิ่มเลือดนั้นไปกีดขวางไม่ให้เลือดไหลเวียนผ่านหลอดเลือดได้อย่างสะดวก
ภาวะสมองขาดเลือดจากการอุดตันของลิ่มเลือด เกิดขึ้นได้ 2 กรณี
กรณีแรก คือเกิดลิ่มเลือดขึ้นในบริเวณอื่น ๆ และไหลไปตามกระแสเลือดจนไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง ส่วนอีกกรณีหนึ่ง คือมีลิ่มเลือดก่อตัวอยู่ในหลอดเลือดสมอง เวลาผ่านไป ลิ่มเลือดจะมีขนาดใหญ่ขึ้นจนอุดตันหลอดเลือดสมองในที่สุด นอกจากลิ่มเลือดแล้ว หลอดเลือดยังอาจตีบแคบได้เนื่องจากการสะสมตัวของไขมันในหลอดเลือดจนส่งผลให้หลอดเลือดตีบลง มีความยืดหยุ่นน้อยลง และลดประสิทธิภาพในการลำเลียงเลือดลงไป
หลอดเลือดสมองปริแตก หรือฉีกขาด ส่งผลให้ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองลดลงอย่างฉันพลัน ทั้งยังก่อให้เกิดเลือดออกในสมอง ส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองอย่างร้ายแรง โรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากหลอดเลือดสมองแตกนั้น คิดเป็นประมาณร้อยละ 20 ของโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดขึ้นทั้งหมด
สาเหตุที่นำไปสู่การปริแตกของหลอดเลือด เป็นไปได้ 2 กรณี คือ
การที่หลอดเลือดมีความเปราะบาง ณ บริเวณใดบริเวณหนึ่ง ประกอบกับผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตสูง ส่งผลให้บริเวณที่เปราะบางนั้นโป่งพอง และแตกออก ส่วนอีกกรณีหนึ่ง ได้แก่การที่หลอดเลือดนั้นสูญเสียความยืดหยุ่นจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดปริแตกได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตสูง
อาการของโรค
เมื่อเลือดที่จะไปเลี้ยงสมองมีปริมาณลดลง หรือถูกจำกัด สมองส่วนนั้นจะไม่สามารถทำงานได้ตามปกติซึ่งจะมีอาการแสดงต่าง ๆ แต่จะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรง และตำแหน่งของสมองที่ขาดเลือด
อาการที่สำคัญของโรคหลอดเลือดสมองมีดังนี้ คือ
- ชาบริเวณแขน ขา ใบหน้า หรือบริเวณข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย
- สับสน มีปัญหาทางการสื่อสาร พูดไม่เข้าใจ
- เห็นภาพซ้อน ตามัว (เพียงข้างเดียว)
- เวียนศีรษะ หรือปวดศีรษะอย่างรุนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- วิงเวียน ทรงตัวไม่อยู่ บางรายอาจเป็นลมหมดสติ
หากคุณ หรือคนใกล้ชิดมีอาการดังที่กล่าวข้างต้น ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมอง และรีบจัดการส่งตัวผู้ป่วยให้ถึงมือแพทย์โดยทันที เนื่องจากอาการของโรคหลอดเลือดสมองนั้นเป็นอาการร้ายแรงซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต หรืออาจไม่ถึงชีวิต แต่ก็ส่งผลให้ผู้ป่วยกลายเป็นผู้พิการ ป่วยเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต และต้องใช้เวลาฟื้นฟูสุขภาพต่อไปอีกนาน
ปัจจัยเสี่ยง1
ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองมีหลายประการประกอบกัน และส่วนมากมาจากสุขภาพโดยรวมและรูปแบบการดำเนินชีวิต ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง มีดังนี้
ความดันโลหิตสูง จัดว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ที่มีปัญหาความดันโลหิตสูง มีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นประมาณ 4 ถึง 6 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่มีความดันปกติ (120/80 มิลลิเมตรปรอท)
โรคเบาหวาน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่า นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานยังมีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาเรื่องอื่น ๆ อาทิ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และโรคหัวใจ ซึ่งเมื่อปัจจัยทั้งหมดนี้รวมกัน ความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองย่อมเพิ่มขึ้นไปด้วย
ไขมันในเลือดสูง คนส่วนมากทราบกันดีว่า ภาวะไขมันในเลือดสูงนั้นเป็นความเสี่ยงที่สำคัญของโรคหัวใจ หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องก็คือ โรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเกิดจากภาวะไขมันสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือด กีดขวางการลำเลียงเลือด ลักษณะเช่นนี้ เป็นความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองเช่นเดียวกัน
การสูบบุหรี่และดื่มสุรา การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอีกประการหนึ่ง หากไม่คิดรวมปัจจัยเสี่ยงประการอื่น ๆ การสูบบุหรี่เพียงอย่างเดียว เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองขึ้นถึงร้อยละ 3.5 และความเสี่ยงดังกล่าวนี้จะลดลงทันทีเมื่อเลิกสูบบุหรี่
สำหรับการดื่มสุราซึ่งส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ก็เป็นความเสี่ยงประการหนึ่งของหลอดเลือดสมองอยู่แล้ว การดื่มสุราในปริมาณมาก ๆ นั้นส่งผลให้เลือด “อ่อนตัว” เลือดออกง่าย แต่หยุดยาก เมื่อเกิดการปริแตกของหลอดเลือดในสมอง ประกอบกับความดันโลหิตสูง และภาวะเลือดออกง่ายจากการดื่มสุรา ความเสียหายต่อเนื้อเยื่อสมองย่อมต้องมากขึ้น2
นอกจากปัจจัยเสี่ยงหลัก ๆ ที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่ การไม่ออกกำลังกาย ความอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ ความผิดปกติของลิ้นหัวใจ ประวัติครอบครัว และปัจจัยเรื่องอายุ
โรคหลอดเลือดสมอง ป้องกันได้
ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลาย ๆ ประการ อาทิ
ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในหลอดเลือด การดื่มสุรา การสูบบุหรี่หรือการออกกำลังกายล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งสิ้น งดสูบบุหรี่ ลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ ควบคุมน้ำหนัก ปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหารให้เหมาะสม และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ย่อมจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคลงไปได้มาก
ข้อมูล:
- US National Institute of Neurological Disorders and Stroke
- Medical University of South Carolina
มีอาการ อย่ารอช้า
อาการของโรคหลอดเลือดสมองเกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันที แต่ส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรง ผู้ป่วย หรือคนใกล้ชิดจำเป็นต้องตระหนักถึงอาการ และพาผู้ป่วยพบแพทย์ให้ได้อย่างทันท่วงที เมื่อพบเห็นผู้ป่วย หรือสงสัยว่ามีอาการของโรค ให้ผู้ป่วยหรือญาติสังเกตอาการดังต่อไปนี้
- ยิ้ม และสังเกตว่าปากเบี้ยว หรือมุมปากตกหรือไม่
- ยกแขนขึ้นทั้งสองข้าง ปล่อยค้างประมาณ 10 วินาที ดูว่ามีข้างใดข้างหนึ่งตก หรือยกไม่ขึ้นหรือไม่
- ชวนพูด สังเกตว่าพูดไม่ชัด และมีปัญหาในการสื่อสารหรือไม่
- อย่าเสียเวลา หากมีอาการดังกล่าวข้างต้น
หากมีอาการดังกล่าวข้างต้น อย่างใดอย่างหนึ่งควรรีบพาผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาลภายในเวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมง หรือ โทร.
0 2667 1175-76
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 29 มีนาคม 2565