bih.button.backtotop.text

อยู่อย่างไรให้พ้นภัยข้อเสื่อม


แม้อาการของโรคข้อเสื่อมจะเป็นผลมาจากวัยและการใช้งาน แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีทางหลีกเลี่ยงเสียทีเดียว Better Health ฉบับนี้มีข้อแนะนำหลายประการที่จะช่วยให้คุณเคลื่อนไหวได้อย่างไร้กังวลแม้อายุจะเพิ่มมากขึ้น
 

วันโรคข้อสากล เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2553 ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขแจ้งตัวเลขที่น่าตกใจว่า ปัจจุบันมีคนไทยเป็นโรคข้อเสื่อม กระดูกพรุนมากถึง 7 ล้านคน โดยมักพบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปและผู้สูงอายุ ที่สำคัญ จำนวนตัวเลขดังกล่าวมีแต่จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุที่มีมากขึ้นนั่นเอง
 

ข้อเสื่อม เป็นอาการที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนที่ฉาบผิวกระดูกข้อต่อไว้ไม่ให้มีการเสียดสีกันเมื่อเคลื่อนไหว ซึ่งเมื่อเราเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการลุก นั่ง ยืน หรือเดิน ข้อต่อจะทำงานสอดประสานกันอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อกระดูกอ่อนผุพังหรือบางลง กระดูกข้อต่อก็จะเสียดสีกันจนเป็นผลให้เกิดการอักเสบ

ซึ่งผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บปวดบริเวณข้อต่อจนไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามปกติ และส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก  
 

อย่างไรก็ตาม จากคำแนะนำของ นพ. สิทธิพร อรพินท์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกระดูกและข้อ ทำให้เราพบว่า การหลีกเลี่ยงอาการปวดข้อนั้นไม่ใช่เรื่องยากเลย หากคุณดูแลร่างกายเป็นอย่างดี และนี่คือ 4 วิธี ที่จะช่วยให้คุณห่างไกลจากโรคข้อเสื่อม

 

1. ควบคุมน้ำหนัก

หนึ่งในสาเหตุใหญ่ของอาการข้อเสื่อมก็คือ การที่มีน้ำหนักตัวเกิน หรืออ้วน เพราะยิ่งน้ำหนักตัว มากเท่าไร ข้อต่าง ๆ ในร่างกายก็ยิ่งต้องรับภาระมากเท่านั้น โดยเฉพาะข้อเข่า สะโพก และ หลัง ที่เป็นกำลังหลักในการรับน้ำหนักของร่างกาย

การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและการควบคุมน้ำหนักจึงเป็นการทนุถนอมข้อกระดูกทางหนึ่ง โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบแอโรบิคที่ช่วยเผาผลาญพลังงานได้เป็นอย่างดี แต่หากผู้ป่วยกังวล ว่าการออกกำลังกายจะเป็นอันตรายต่อข้อกระดูก ก็ควรเลือกประเภทของการออกกำลังกายที่ข้อไม่ต้องแบกรับภาระมากนัก เช่น ว่ายน้ำ การเดินในน้ำ เดิน หรือปั่นจักรยาน (ไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลัง)

2. ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ

“น้ำหนักน้อยก็ใช่ว่าจะไม่เป็นโรคข้อ หากทำอะไรที่ผิดท่า ไม่ว่าจะชอบนั่งยอง ๆ นั่งกับพื้น ผุดลุกผุดนั่งบ่อย ๆ หรือการขึ้นบันไดเป็นประจำ เหล่านี้ก็ทำให้ข้อเข่าเสียได้บางคนชอบยืนทิ้งน้ำหนักข้างเดียวซึ่งเป็นการสร้างภาระให้กับข้อข้างนั้นแทนที่จะลงน้ำหนักสองขาเท่า ๆ กัน อย่างนี้เป็นต้น” นพ. สิทธิพร อธิบาย

การนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน เช่น นั่งหลังงอและก้มคอทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันหลายชั่วโมงก็เป็นผลเสียต่อข้อต่อบริเวณคอ และกระดูกสันหลังส่วนเอวเช่นกัน ควรนั่งให้ถูกต้องโดยการนั่งพิงพนักเก้าอี้ และไม่ควรก้มคอนาน ๆ นอกจากนั้นทางที่ดี ควรหาโอกาสขยับตัว โดยลุกขึ้นมาเดินบ้าง ยืดแขนยืดขาบ้างเพื่อเป็นการบริหารข้อต่อ

3. เสริมสร้างกล้ามเนื้อ

แม้ว่าการออกกำลังกายจะเป็นสิ่งดี แต่หากออกกำลังกายหนักเกินไป ก็จะเป็นการสร้างภาระให้กับข้อกระดูกได้ โดยจะเห็นได้จากนักกีฬาอาชีพ ซึ่งมักมีปัญหาข้อกระดูกเสื่อมอย่างรวดเร็ว “ประเทศไทยอาจไม่มีตัวอย่างให้เห็นมากนัก อาจเพราะเรามีนักกีฬาอาชีพน้อย และกีฬาของเราก็ไม่ค่อยได้ใช้ข้อบริเวณไหล่กับสะโพก ในประเทศที่นิยมกีฬาอย่างเบสบอลซึ่งต้องใช้การขว้างลูกจะพบว่า มีนักกีฬาที่ประสบปัญหาข้อต่อไหล่และสะโพกเสื่อมกันมาก” นพ. สิทธิพรอธิบาย
 

ทั้งนี้ การป้องกันโรคข้อเสื่อมจากการออกกำลังกายสามารถทำได้โดยการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เพราะกล้ามเนื้อเป็นส่วนสำคัญในการแบ่งเบาภาระต่าง ๆ ของข้อต่อเมื่อร่างกายเคลื่อนไหวรุนแรง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณเอ็นข้อต่อซึ่งเป็นจุดสำคัญของการออกกำลังแทบทุกประเภท นอกจากนี้ การมีกล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อหลังที่ดีจะทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังรับภาระน้อยลง ซึ่งลดความเสี่ยงต่อความเสื่อมได้มาก อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะเริ่มฝึกกล้ามเนื้อใด ๆ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อไม่ให้การ ฝึกฝนนั้นไปสร้างภาระให้กับข้อกระดูก

4. อาหารและยา

การรับประทานยาจำพวก กลูโคซามีน และคอนโดรอิทีน ซึ่งเชื่อว่าจะมีประโยชน์ต่อการเสริมสร้างน้ำไขข้อและกระดูกอ่อนเคลือบผิวข้อได้ แต่ไม่ยืนยันว่าได้ประโยชน์มากเท่าใด ทั้งนี้ต้องใช้ในกรณีที่ข้อเสื่อมอยู่ในระยะแรกๆ เท่านั้น

ในส่วนของยานั้น นพ. สิทธิพร แนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิดบ่อยเกินความจำเป็น เพราะอาจมีผลต่อข้อกระดูก “สเตียรอยด์แบบฉีดเพื่อลดการอักเสบของข้อนั้น ถ้าใช้บ่อย ๆ ก็ทำให้ข้อเสียได้ แต่ถ้าเป็นสเตียรอยด์แบบรับประทานก็จะไม่มีผลต่อข้อ แต่มีผลต่อกระดูกโดยรวมเพราะจะทำให้กระดูกบางลง”

โรคข้อเสื่อมเป็นโรคข้ออักเสบที่พบได้บ่อยที่สุด และยากที่จะรักษาให้หายขาดหรือกลับคืนสู่สภาพปกติ ดังนั้นการรักษาข้อให้อยู่ในสภาพดีจึงจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเป็นหลักประกันว่า ในวันข้างหน้าคุณจะยังคงมีคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นเดียวกับวันนี้

 

การรักษาโรคข้อเสื่อม

เมื่อเกิดอาการข้อเสื่อมขึ้นแล้ว ความเจ็บปวดบริเวณข้อจะส่งผลอย่างยิ่งต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ดังนั้น การมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยความรุนแรงของโรคและหาแนวทางในการป้องกันและรักษาตามอาการจึงเป็นสิ่งจำเป็น

 

การวินิจฉัย

นพ. สิทธิพรเล่าถึงการวินิจฉัยว่า จะเริ่มจากการ ซักประวัติ และสอบถามอาการของผู้ป่วยก่อน เช่นเวลาที่เกิดอาการปวด เพราะโดยทั่วไป การปวดข้ออักเสบมักปวดในช่วงเช้า ขณะที่โรคข้อเสื่อม ผู้ป่วยจะปวดเมื่อต้องใช้งานบริเวณข้อต่อนั้น ๆ 


"ตามพื้นฐานของแพทย์แล้วเราจะตรวจด้วยการดู คลำ เคาะ ฟัง การดู คือ ดูว่ามีการบวมหรือไม่ ซึ่งทราบได้จากการที่ข้อไม่สามารถเหยียดงอได้ตามปกติจากการตึงและจะรู้สึกอุ่นบริเวณที่บวม ถึงตอนนี้แพทย์จะคลำส่วนของข้อเพื่อเปรียบเทียบอุณหภูมิกับอีกข้างหนึ่ง ซึ่งถ้ามีอาการก็จะรู้สึกได้เลยว่าข้างหนึ่งร้อน อีกข้างหนึ่งเย็น ทำให้เราทราบความผิดปกติได้ก่อนที่เครื่องเอ็กซ์เรย์จะตรวจพบเสียอีก”
นพ. สิทธิพรอธิบาย   

 

การรักษาเบื้องต้น

ในกรณีที่อาการปวดไม่รุนแรง แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยลดกิจกรรม
ในชีวิตประจำวันลง พักผ่อนให้มาก ใช้ข้ออย่างระมัดระวัง และรับประทานยาตามกำหนด ร่วมกับการประคบอุ่น ประคบร้อน

นอกจากนี้อาจใช้ยาระงับปวดอย่างพาราเซตามอลหรือยาบำรุงกระดูกอ่อน เช่น กลูโคซามีน และคอนโดรอิทีน ร่วมด้วย หากไม่ได้ผลแพทย์อาจสั่งยาแก้อักเสบแบบไม่มีสเตียรอยด์ เช่น แอสไพริน หรือไอบูโปรเฟน แต่แพทย์จะไม่แนะนำให้รับประทานยาแก้อักเสบเป็นระยะเวลานาน ๆ เพราะอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงอย่างแผลในกระเพาะอาหาร หรืออาจมีปัญหาต่อการทำงานของไต 

 

การรักษาเมื่อมีอาการมาก

หากผู้ป่วยมีอาการข้อเสื่อมอย่างรุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้รักษาข้อเข่าเสื่อมโดยการผ่าตัด ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธีด้วยกัน อาทิ

•    การผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องข้อ เป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็กโดยใช้กล้องขนาดเล็กเข้าไปตรวจสอบพยาธิสภาพของความผิดปกติบริเวณข้อได้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกับการผ่าตัดเปิดข้อแบบปกติ บางกรณี แพทย์จะสามารถทำการรักษาความผิดปกติทันที อาทิ ตัดแต่งผิวข้อต่อที่เสื่อม หรือฉีกขาด หยิบเศษกระดูกที่อาจจะลอยอยู่ในข้อ ออกจากบริเวณข้อ

•    การผ่าตัดเชื่อมกระดูก เป็นการเชื่อมกระดูกสองท่อนให้เป็นชิ้นเดียวกันเพื่อไม่ให้เกิดการเสียดสี ใช้กับข้อเล็ก ๆ ที่ไม่มีผลต่อการใช้งานมากนัก

•    การผ่าตัดเปลี่ยนแนวกระดูก ตัวอย่างเช่น การตัดแต่งแนวกระดูกให้ตรงและอยู่ในแนวใกล้เคียงปกติทำให้สามารถกระจายแรงได้ดีขึ้นเพื่อลดความเจ็บปวดของผู้ป่วย และอาจช่วยไม่ให้ผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมเร็วกว่ากำหนด

•    การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม เป็นการใส่วัสดุทดแทนข้อที่เสื่อมสภาพซึ่งเป็นวิธีที่แพทย์จะเลือกใช้เป็นวิธีสุดท้าย เฉพาะในกรณีที่ข้อถูกทำลายอย่างมากแล้วเท่านั้น 



 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 10 เมษายน 2566

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs