ปวดข้อ อย่ารอนาน
ปัญหาปวดข้อไม่ใช่เรื่องปกติไม่ว่าคุณจะอยู่ในวัยใด อย่าถอดใจยอมแพ้ง่าย ๆ
เช้าวันนี้ อาจมีใครหลายคนที่ตื่นขึ้นมาพร้อมกับความรู้สึกสดชื่นจากการได้พักผ่อน จนกระทั่งนาทีที่จะลุกจากเตียงนั่นเอง ความรู้สึกปวดบริเวณข้อ โดยเฉพาะข้อเข่าและข้อสะโพกก็แล่นเข้ามาแบบเฉียบพลัน
เมื่อรู้สึกปวดข้อ คนส่วนใหญ่มักบรรเทาความกังวลใจด้วยการให้เหตุผลกับตัวเองว่า “สงสัยเพราะเราอายุมากขึ้น เรื่องปวดข้อก็น่าจะเกิดขึ้นบ้างเป็นธรรมดา”จนเวลาผ่านไปเป็นปี ๆ อาการปวดข้อกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เมื่อมีอาการก็รับประทานยาบรรเทา กิจกรรมอะไรที่ทำแล้วปวดจนทนไม่ไหวก็งดไปและเรียนรู้ที่จะปรับตัวอยู่กับมัน หากเรื่องทำนองนี้ฟังดูคุ้น ๆ Better Health ฉบับเรื่องข้อ มีคำตอบจาก
นพ. วศิน กุลสมบูรณ์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู มาฝากคุณ
ต้นตอของความปวด
เมื่อมีอาการปวดบวมบริเวณข้อการสรุปเอาเองว่ามีสาเหตุมาจาก วัย หรือ “สงสัยว่าข้อจะเสื่อม” อาจไม่ถูกต้องนัก เพราะในความเป็นจริง อาการปวดข้ออันเนื่องมาจากข้อเสื่อมนั้นเป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ สาเหตุของอาการปวดข้อเท่านั้นที่สำคัญสาเหตุส่วนมากไม่เกี่ยวข้องกับวัยหรืออายุเลย
“อาการปวดข้อโดยมากเป็นผลมาจากภาวะการอักเสบของข้อ” นพ. วศินอธิบาย “คำว่าข้ออักเสบเป็นคำที่ค่อนข้างกว้าง และเมื่อเรากล่าวถึงข้อ เราไม่ได้หมายถึงเฉพาะกระดูกสองหรือสามชิ้น แต่หมายความถึง ส่วนประกอบของข้อทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผิวข้อซึ่งเป็นกระดูกอ่อน หมอนรองข้อ หรือเส้นเอ็นบริเวณข้อ การจะวินิจฉัยหาสาเหตุที่ทำให้ข้ออักเสบจึงไม่ง่ายนัก ประกอบกับสาเหตุของข้ออักเสบที่เป็นไปได้นั้นมีอยู่มากกว่าร้อยชนิด”
ในบรรดาสาเหตุของข้ออักเสบนับร้อยนั้น สาเหตุที่เราคุ้นเคยกันมากที่สุด เห็นจะเป็นข้ออักเสบเนื่องจากอุบัติเหตุ ข้ออักเสบจากภาวะข้อเสื่อมข้ออักเสบรูมาตอยด์ และข้ออักเสบจากโรคเกาต์ ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ได้แก่ การติดเชื้อ
โรคภูมิแพ้บางชนิด โรคผิวหนังและโรคอื่น ๆ ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม มีการอักเสบบวม ปวดเรื้อรังเป็นเวลานานก็จะกลายเป็นสาเหตุของภาวะข้อเสื่อมซึ่งเป็นภาวะที่บั่นทอนประสิทธิภาพการใช้งานของข้อลงอย่างน่าเสียดาย
รู้ก่อน รักษาก่อน
“การใส่ใจดูแลข้อเมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นมาเป็นเรื่องสำคัญมากต่อสุขภาวะของข้อในระยะยาว” นพ. วศินกล่าว “เมื่อมีการอักเสบของข้อและมีอาการปวดสิ่งที่หลายคนมักทำก็คือรอดูอาการหรือรอให้หายไปเอง บางรายรับประทานยาบรรเทาปวดซึ่งช่วยให้ทุเลาลงได้จึงเลื่อนการพบแพทย์ออกไป ตรงนี้สำคัญเพราะเท่ากับว่าต้นตอของปัญหาไม่เคยได้รับการแก้ไขเลย”
นพ.วศินยกตัวอย่างเรื่องข้อเสื่อมซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยทั้งในผู้สูงอายุและผู้ที่มีน้ำหนักมาก ภาวะข้อเสื่อมเกิดขึ้นเมื่อผิวกระดูกอ่อนถูกทำลายโดยอาจมีการลอกหลุด หรือบางลงจนมีอาการปวดหรือข้อไม่อาจเคลื่อนไหวได้อย่างลื่นไหล คล่องแคล่ว และเต็มองศาการเคลื่อนไหวได้เหมือนเดิม
“เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการข้อติด ปวดบวม พักแล้วก็ไม่หาย สิ่งที่แรกที่แพทย์จะทำคือหาสาเหตุที่แท้จริงโดยการซักประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้น จากนั้นอาจมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการหรืออื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อให้การรักษาตรงตามขั้นตอนและสาเหตุอย่างแท้จริงอย่าง ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะข้อเสื่อมและมีน้ำหนักตัวมากเกินไป ผู้ป่วยก็จะได้รับคำแนะนำเพื่อช่วยลดน้ำหนักลงซึ่งก็จะช่วยในการบรรเทาอาการปวดลงได้” นพ. วศินกล่าว
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือมีโรคแทรกซ้อน แพทย์ก็จะช่วยเหลือและแนะนำวิธีการอื่น ๆ ที่เหมาะสมอย่างเช่นการใช้ยาบรรเทาอาการปวดและลดอาการอักเสบไปพร้อม ๆ กับการแก้ไขไปถึงต้นเหตุซึ่งอาจเป็นโรคเรื้อรังหรือความผิดปกติอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อเนื่องมายังข้อการฉีดยา การรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู การใช้อุปกรณ์ประคองข้อการถนอมการใช้ข้อ การทำกายภาพบำบัด เป็นต้น แต่หากอาการของผู้ป่วยหนักหนาสาหัสจริง ๆ แพทย์ก็จะเลือกใช้การผ่าตัด
หลังการรักษา
ปัจจุบัน เทคโนโลยีการผ่าตัดข้อนั้นก้าวหน้าไปมากและผู้ป่วยก็มีความบอบช้ำน้อยลง แพทย์จึงมักแนะนำให้ผู้ป่วยเริ่มทำการฟื้นฟูให้เร็วที่สุดเพื่อฟื้นฟู คง หรือเพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อ ตลอดจนความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อ ในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าหรือข้อสะโพกเทียม แพทย์มักแนะนำให้เริ่มทำการฟื้นฟูภายใน 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด สำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อ นพ. วศิน มีคำแนะนำดังต่อไปนี้
อย่าอยู่นิ่ง ผู้ป่วยบางรายอาจเข้าใจว่าภายหลังการผ่าตัดใหม่ ๆ แล้วควรอยู่เฉย ๆ นิ่ง ๆ พักข้อไว้ก่อนเนื่องจากยังมีอาการปวดอยู่ ตรงนี้เป็นความเข้าใจผิด ถึงแม้ว่าจะยังมีอาการปวดอยู่ แต่การที่ผู้ป่วยพยายามเคลื่อนไหวข้อหลังการผ่าตัดเท่าที่จะทำได้ ไม่เพียงช่วยฟื้นฟูพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อเท่านั้น ยังช่วยให้ข้อเทียมที่ใส่เข้าไปกระชับเข้าที่ ตลอดจนลดโอกาสในการเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันที่ขา ช่วยฟื้นฟูกำลังกล้ามเนื้อรอบข้อ ซึ่งเป็นการยืดอายุการใช้งานของข้อใหม่อีกด้วย
- ท่าบริหารง่าย ๆ ที่สามารถทำได้ในช่วงแรก ๆ คือการนอนหงาย แล้วค่อย ๆ งอเข่านำข้อเท้าเข้าหาสะโพกให้มากที่สุดก่อนยืดให้สุดอีกครั้ง ทำซ้ำประมาณ 5-10 ครั้ง วันละ 2-3 รอบ หรือเท่าที่ผู้ป่วยจะทำไหว นอกจากนี้ผู้ป่วยยังควรบริหารกล้ามเนื้อควบคู่ไปด้วยโดยการกระดกข้อเท้าขึ้นลงช้า ๆ ในท่านอน หรือเหยียดเกร็งเข่าโดยมีหมอนรองรับที่ข้อเท้า เป็นต้น
- ลดอาการปวด อาการปวดเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญทำให้ผู้ป่วยไม่อาจขยับข้อเพื่อการฟื้นฟูข้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยอาจใช้วิธีประคบเย็นวันละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 20 นาที หรือในรายที่ปวดมาก ๆ แพทย์อาจช่วยด้วยยาบรรเทาปวด
- ใช้อย่างถนอม การผ่าตัดเปลี่ยนข้อจะทำให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะสามารถใช้ข้อที่เปลี่ยนใหม่ได้อย่างอิสระเต็มที่เหมือนตอนอายุน้อย ๆ เพื่อรักษาให้ข้อใหม่มีอายุการใช้งานให้นานที่สุด พึงใช้งานอย่างระมัดระวัง หลีกเลี่ยงพฤติกรรมทำลายข้อ อาทิ นั่งยอง ๆ วิ่งขึ้นลงบันได นั่งขัดสมาธิ พับเพียบ หรือนั่งกับพื้น เป็นต้น
ปัญหาเรื่องข้อและความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นคงไม่ใช่เรื่องที่หลายคนจะปรับตัวให้ชินได้ง่ายนัก หากต้องแลกมาด้วยการต้องคอยพึ่งพาผู้อื่นตลอดเวลาแม้ในการทำกิจกรรมพื้น ๆ เมื่อสังเกตหรือรู้สึกถึงปัญหา อย่ามองว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะการปล่อยปละละเลยจนเวลาเนิ่นช้าออกไป เรื่องเล็ก ๆ อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่เปลี่ยนชีวิตคุณได้เลยทีเดียว
|
“ภาวะข้อเสื่อมเกิดขึ้นเมื่อ
ผิวกระดูกอ่อนถูกทำลาย
โดยอาจมีการลอกหลุด
หรือบางลงจนข้อไม่อาจเคลื่อนไหวได้อย่าง
คล่องแคล่ว และเต็มองศาการเคลื่อนไหว”
นพ. วศิน กุลสมบูรณ์
|
|
|
อาการปวดข้อเกิดจากอะไรได้บ้าง
|
สาเหตุที่ทำให้ข้ออักเสบและปวดข้อมีมากมายหลายประการโดยสาเหตุที่พบได้บ่อย เช่น
- ภาวะข้อเสื่อม
- การบาดเจ็บของข้อและเนื้อเยื่อข้อ
- ข้ออักเสบรูมาตอยด์
- โรคเกาท์
- โรคกระดูกพรุน
- โรคแพ้ภูมิตนเอง
- ข้ออักเสบจากโรคสะเก็ดเงิน
- ภาวะติดเชื้อในกระดูกหรือข้อ
- ภาวะติดเชื้อจากโรคอื่น ๆ เช่น หนองใน เนื้องอกหรือมะเร็งที่กระดูก
|
|
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 29 มกราคม 2566