รู้ลึกเรื่องกระเพาะ
อาการปวดท้อง กับโรคกระเพาะอาหาร
โรคที่เกี่ยวข้องกับกระเพาะอาหารดูจะเป็นโรคที่คุ้นเคยกันดีสำหรับคนทั่วไป เมื่อมีอาการปวดท้องหลายคนจึงคิดถึงโรคกระเพาะก่อนเป็นสาเหตุแรก
จริงหรือไม่ที่โรคกระเพาะอาหารทำงานผิดปกติต้องมาพร้อมกับอาการ ปวดท้อง อาการปวดท้องบอกอะไรกับเราบ้าง และปวดท้องแบบไหนที่คุณไม่อาจนิ่งนอนใจ
ปวดท้องบอกอะไร
เราทุกคนต่างก็ต้องเคยผ่านประสบการณ์ปวดหรือแน่นบริเวณช่องท้องกันมาแล้ว ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในรูปแบบที่แตกต่างกันไป อาจเป็นการปวดแน่น ปวดเกร็ง ปวดบีบ หรือปวดเบา ๆ อาการปวดท้องเหล่านี้ ส่งสัญญาณที่บอกถึงปัญหาสุขภาพได้หลายประการ ซึ่ง นพ. สิริวัฒน์ อนันตพันธุ์พงศ์ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ อธิบายว่าโดยทั่วไปแล้วอาการปวดท้องสามารถแบ่งตามบริเวณที่ปวดได้เป็น 2 ส่วน คือ
- ปวดท้องส่วนบน เป็นการปวดบริเวณเหนือสะดือซึ่งเกี่ยวข้องกับกระเพาะอาหาร ตับ ถุงน้ำดี ม้าม ตับอ่อน
- ปวดท้องส่วนล่าง เป็นการปวดบริเวณต่ำกว่าสะดือซึ่งจะเกี่ยวข้องกับลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก ไส้ติ่ง ไต มดลูกและปีกมดลูก เป็นต้น “เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดท้องเราต้องถามก่อนว่าปวดตรงไหน หรือเริ่มปวดจากตรงไหนก่อนเพื่อจะบอกได้ว่าเกี่ยวข้องกับอวัยวะส่วนใด จากนั้นแพทย์จะต้องวินิจฉัยอย่างรวดเร็วว่าเป็นการปวดจากสาเหตุใดเพื่อให้สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที”
ทั้งนี้สาเหตุของการปวดท้องเกิดได้จาก 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่
- ปวดท้องจากโรคทางศัลยกรรม เช่น ไส้ติ่งอักเสบ ลำไส้รั่ว ลำไส้อุดตัน เยื่อบุช่องท้องหรือเยื่อบุลำไส้อักเสบเฉียบพลัน มะเร็งลำไส้ หรืออาจเกิดจากนิ่ว ซึ่งโรคเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยศัลยกรรมผ่าตัดหรือศัลยกรรมส่องกล้องเท่านั้น
- ปวดท้องจากโรคทางอายุรกรรม เช่น โรคกระเพาะอาหาร ท้องอืด มีลมในกระเพาะอาหาร ท้องผูกเรื้อรัง โรคเกี่ยวกับตับ โรคติดเชื้อในระบบลำไส้ เป็นต้น
ปวดแบบไหนที่ใช่โรคกระเพาะ
สำหรับอาการปวดท้องจากโรคกระเพาะอาหารนั้น ผู้ป่วยจะปวดจุก แสบ แน่นบริเวณเหนือสะดือกลางท้องหรือบริเวณลิ้นปี่ โดยอาจเป็นได้ทั้งการปวดแบบเฉียบพลันและปวดแบบเรื้อรัง
ปวดท้องเฉียบพลัน เป็นการปวดรุนแรงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนซึ่งแพทย์ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดจากโรคอื่น ๆ นอกเหนือ จากกระเพาะก็ได้ เช่น นิ่วในถุงน้ำดี หรือตับอ่อนอักเสบ
ปวดท้องเรื้อรัง เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด นั่นคือปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ มาไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือน เป็นการปวดท้องที่เกี่ยวข้องกับมื้ออาหาร เช่น ปวดขณะหิวหรืออิ่ม แต่เป็นการปวดแบบทนได้ และเมื่อรับประทานยาลดกรดหรืออาหารแล้วมีอาการดีขึ้น
โรคในกระเพาะอาหารที่เกี่ยวข้องกับการปวดแบบเรื้อรังนั้น นพ. สิริวัฒน์อธิบายเพิ่มเติมว่าสามารถแบ่งออกได้เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของ กระเพาะอาหาร เช่น เป็นแผลในกระเพาะ เป็นแผลในลำไส้เล็กส่วนต้น กระเพาะอาหารอักเสบ หรือมะเร็งในกระเพาะอาหาร ซึ่งอัตราการเกิดโรคเหล่านี้มีประมาณร้อยละ 20 - 25 ของผู้ป่วยโรคกระเพาะเรื้อรัง
นอกจากนี้ โรคกระเพาะอาหารยังเกิดขึ้นได้แม้ไม่มีความผิดปกติทางกายภาพภายในกระเพาะเลย แต่เป็นการเกิดเนื่องจากการทำงานผิดปกติ เช่น การบีบตัวของกระเพาะกับลำไส้ไม่ประสานกัน หรือจากสภาพกรดในกระเพาะที่มากเกินไปแต่ไม่ทำให้เกิดแผล ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากถึงร้อยละ 70 - 75 ต้องมาพบแพทย์
อย่างไรก็ตาม ความผิดปกติในกระเพาะอาหารที่เกิดจากกรดนั้น ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมีอาการปวดท้องเสมอไป “ผู้ป่วยหลายรายมาเพราะอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระดำ ซึ่งเป็นผลมาจากแผลในกระเพาะอาหารที่เกิดจากกรดเกิน หรือมีอาการแสบแน่นที่หน้าอกเนื่องจากกรดไหลย้อนทำให้หลอดอาหารอักเสบ หรือไอเพราะอักเสบขึ้นมาถึงคออาการเหล่านี้เป็นเรื่องของกระเพาะอาหารทั้งสิ้น” นพ. สิริวัฒน์ อธิบาย
“ปัจจุบัน การส่องกล้องใช้เวลาไม่เกิน 5 นาทีแต่ให้ประสิทธิภาพสูงในการหาสาเหตุของอาการปวดท้องเรื้อรัง”
นพ. สิริวัฒน์ อนันตพันธุ์พงศ์
การวินิจฉัย
อาการปวดท้องเรื้อรังนั้น สามารถวินิจฉัยได้โดยการซักประวัติและตรวจร่างกายทั่วไป แต่หากต้องมีการตรวจเพิ่มเติม วิธีที่เห็นผลและแพร่หลายที่สุดคือ การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร (gastroscopy) เพื่อดูพยาธิสภาพในกระเพาะ ตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter Pylori (H. Pylori) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคในกระเพาะอาหาร รวมถึงเพื่อเอาชิ้นเนื้อไปตรวจ ซึ่งทำได้ด้วยการส่องกล้องเพียงครั้งเดียว
“ปัจจุบัน เรานิยมใช้การส่องกล้องเพราะรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที โดยแพทย์จะให้ยานอนหลับที่ออกฤทธิ์สั้นและปลอดภัยแก่ผู้ป่วย ก่อนจะสอดกล้องขนาดเล็กผ่านทางปากลงสู่ระบบทางเดินอาหาร วิธีนี้จะทำให้เราทราบสาเหตุของโรคและวางแผนการรักษาต่อไปได้ทันที”
นอกจากการส่องกล้องแล้ว บางครั้งแพทย์อาจเลือกใช้การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือการทำอัลตราซาวนด์ร่วมด้วย โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องเฉียบพลัน ส่วนการตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย H. Pylori นั้น หากไม่ส่องกล้องก็สามารถทำได้ด้วยการตรวจเลือด หรือทำ Breath test ซึ่งเป็นการเป่าลมหายใจเข้าไปในชุดการตรวจ
กินยาแล้วไม่หาย?
H.pylori อาจเป็นต้นเหตุ เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter Pylori หรือ H.pylori) เป็นแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในกระเพาะอาหาร คาดกันว่ามีผู้ติดเชื้อชนิดนี้มากกว่า 2,000 ล้านคนทั่วโลก ในประเทศไทยพบการติดเชื้อประมาณร้อยละ 40 ของผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารทั้งหมด โดยพบมากบริเวณภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งเชื้อเข้าสู่ร่างกายจากการรับประทานอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก
การรักษา และป้องกัน
โรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือกระเพาะอาหารอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อ H. Pylori นั้น แพทย์จะรักษาโดยการให้ยาลดกรดในกระเพาะอาหารเพื่อให้กรดลดลง และกระเพาะอาหารสามารถสมานแผลได้ดีขึ้น รวมถึงพิจารณาให้ยาในกลุ่มที่ใช้ป้องกันเนื้อเยื่อของกระเพาะอาหารร่วมด้วยส่วนโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ H. Pylori รักษาให้หายขาดได้โดยการรับประทานยาประมาณ 2 สัปดาห์
สำหรับโรคกระเพาะอาการที่เกิดจากการทำงานผิดปกติ อาจต้องรักษา โดยยาอีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่า Prokinetic ซึ่งเป็นยาที่ช่วยให้การเคลื่อนตัว ของกระเพาะกับลำไส้ หรือกระเพาะกับหลอดอาหารทำงานประสานกันได้ดีขึ้น
ทั้งนี้ โรคกระเพาะอาหารไม่ถือเป็นโรคอันตราย แต่หากปล่อยไว้จนเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น เช่น ภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหารกระเพาะทะลุ และกระเพาะอุดตัน ก็อาจทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้น นพ. สิริวัฒน์ มีคำแนะนำว่า ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกสะอาดในปริมาณไม่มากไม่น้อยเกินไป และให้เป็นเวลาไม่รับประทานอาหารรสจัด ควบคุมความเครียด ละเว้น แอลกอฮอล์ กาแฟ รวมถึงไม่รับประทานยาโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะยาที่ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร หากทำได้เช่นนี้ โรคกระเพาะอาหารก็ไม่ใช่โรคใกล้ตัวคุณอย่างแน่นอน
ปวดแบบไหนที่รอไม่ได้
ถ้าคุณมีอาการปวดท้องแบบเป็นๆ หายๆ เกิน 4 สัปดาห์ควรมาพบแพทย์ แต่ถ้าหากมีอาการปวดท้องร่วมกับสัญญาณเตือนต่อไปนี้ต้องรีบพบแพทย์ทันที
- ปวดท้องโดยมีอาเจียนร่วมด้วย
- ปวดท้องเปลี่ยนรูปแบบ เช่น จากที่เคยปวดแสบกลายเป็นปวดบีบ ปวดเกร็ง ปวดรุนแรงขึ้น
- มีภาวะโลหิตจาง อาจเกิดจากการเสียเลือดในกระเพาะอาหาร
- ตาเหลือง
- มีไข้เรื้อรัง 37.5 - 38 องศาตลอดเวลา
- น้ำหนักลดเกินร้อยละ 10 ภายใน 1 - 2 เดือน
- รับประทานยาลดกรดด้วยตัวเองแล้ว1 - 2 สัปดาห์แต่ไม่ดีขึ้น ยังปวดท้องอยู่หรือมีอาการอื่นเพิ่มเติม
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: