bih.button.backtotop.text

ผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ กับนวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า

รู้จักกับสองเทคโนโลยีล่าสุดในการป้องกันผลข้างเคียงจาก ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะซึ่งได้แก่ การใส่อุปกรณ์ปิดรยางค์หัวใจ ห้องบนซ้าย เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว และการฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจแบบไร้สาย สำหรับผู้ป่วยหัวใจเต้นช้าผิดจังหวะเพื่อป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลว

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดจากความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในหัวใจที่ควบคุมกลไกการเต้นของหัวใจ ส่งผลให้หัวใจของคนเราเต้นไม่เป็นไปตามจังหวะธรรมชาติซึ่งมีอัตราการเต้นอยู่ที่ประมาณ 60-100 ครั้งต่อนาที โดยอาจเต้นเร็วเกินไป ช้าเกินไป หรือเต้นเป็นจังหวะที่ไม่สม่ำเสมอ

ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดที่เป็นอันตรายจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพราะโรคนี้ไม่เพียงทำให้การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายด้อยประสิทธิภาพลงเท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรือเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้


Better Health ฉบับนี้พูดคุยกับ นพ.โชติกร คุณวัฒน์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ เกี่ยวกับนวัตกรรมล่าสุดในการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เป็นอันตรายสองประเภท ได้แก่ ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (atrial fibrillation) และหัวใจเต้นช้าผิดจังหวะ (bradycardia) ซึ่งจะเป็นทางเลือกใหม่ที่ช่วยลดความเสี่ยงจากผลข้างเคียงของโรคได้


หัวใจสั่นพลิ้วเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดที่พบมากที่สุดและจำเป็นต้องได้รับการรักษาคือ ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว ซึ่งเป็นภาวะที่หัวใจเต้นเร็วผิดปกติหรือเร็วกว่า 350 ครั้งต่อนาทีโดยมักพบในผู้สูงอายุ มีประวัติเป็นโรคหัวใจหรือความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (sleep apnea) ซึ่งเป็นภาวะที่กระตุ้นให้เกิดพังผืดในห้องข้างบนของหัวใจ ส่งผลให้การเดินไฟฟ้าของหัวใจผิดปกติ ขณะเดียวกันผู้ป่วยอายุน้อยที่เป็นโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษก็มีโอกาสเกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วได้เช่นกัน


“การที่หัวใจห้องบนบีบตัวเร็วเกินไปนั้น นอกจากจะทำให้หัวใจอ่อนแรงแล้ว ยังทำให้เลือดที่อยู่บริเวณห้องข้างบนของหัวใจไม่สามารถไหลเวียนได้ตามปกติ และมีเลือดบางส่วนที่ไม่เคลื่อนไหวไปรวมค้างอยู่บริเวณรยางค์หัวใจห้องบนด้านซ้าย (left atrium appendage: LAA) ซึ่งมีลักษณะเป็นกระเปาะขนาดเล็กแล้วเกิดเป็นลิ่มเลือดได้ หากลิ่มเลือดหลุดออกจากหัวใจเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือดก็อาจไปอุดตันหลอดเลือดสมอง ทำให้สมองขาดเลือดและเกิดโรคอัมพาต อัมพฤกษ์ได้” นพ.โชติกร อธิบาย


รู้จักกับ อุปกรณ์ปิดรยางค์หัวใจ

เนื่องจากผู้ป่วยภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าคนปกติถึง 5 เท่า การรักษาเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจึงมีความจำเป็นโดยขั้นตอนในการรักษาจะเริ่มด้วยการหาสาเหตุของการเกิดโรคเพื่อแก้ไขที่ต้นเหตุก่อน จากนั้นจึงเป็นการให้ยาคุมจังหวะ การเต้นของหัวใจไม่ให้เต้นเร็ว หรือไม่ให้เต้นผิดจังหวะ และการป้องกันการเกิดลิ่มเลือดเพื่อลดความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง


นพ.โชติกร อธิบายว่า ปัจจุบันแพทย์มีแนวทางในการป้องกันการเกิดลิ่มเลือด 2 แนวทาง ได้แก่


“ข้อจำกัดของยาละลายลิ่มเลือดคือ ยาอาจมีผลข้างเคียงที่ทำให้ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถใช้ติดต่อกันได้เป็นเวลานานหรือไม่สามารถใช้ยาละลายลิ่มเลือดได้ เช่น ผู้ป่วยที่มีโอกาสเกิดเลือดออกได้ง่าย อาทิ ผู้ป่วยที่มีเกล็ดเลือดต่ำมาก ผู้ป่วยตับวาย ไตวาย ผู้ป่วยที่ควบคุมความดันโลหิตสูงได้ไม่ดี ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่มีเลือดออกในสมองมาก่อนขณะรับประทานยาละลายลิ่มเลือด หรือผู้ป่วยที่มีเลือดออกในทางเดินอาหารอยู่บ่อยๆ และไม่สามารถหาจุดเลือดออกได้ ในกรณีเช่นนี้ การใส่อุปกรณ์ปิดรยางค์หัวใจห้องบนซ้ายก็เป็นทางเลือกใหม่ที่เข้ามาทดแทนการใช้ยาละลายลิ่มเลือดได้” นพ.โชติกร กล่าว


สำหรับขั้นตอนของการใส่อุปกรณ์ปิดรยางค์หัวใจห้องบนซ้ายนั้น แพทย์จะใส่อุปกรณ์ซึ่งมีลักษณะคล้ายร่มเล็กๆ ขนาดประมาณ 27 มิลลิเมตรด้วยสายสวนผ่านหลอดเลือดดำที่ต้นขาไปยังหัวใจด้านซ้าย เมื่ออุปกรณ์เข้าที่ แพทย์จะปล่อยให้อุปกรณ์เข้าไปปิดผนึกบริเวณรยางค์หัวใจห้องบนซ้ายและเมื่อเวลาผ่านไป เนื้อเยื่อหัวใจจะเจริญหุ้มอุปกรณ์ และรยางค์ดังกล่าวจะถูกปิดผนึกอย่างถาวรโดยขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
 

“ผู้ป่วยภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว มีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมอง สูงกว่าคนปกติถึง 5 เท่า” นพ.โชติกร คุณวัฒน์


Pacemaker ไร้สายทางเลือกใหม่เมื่อหัวใจเต้นช้า

สำหรับผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดเต้นช้าผิดปกติ และผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยง่าย วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม หมดสติ หรือความดันตก ถ้าไม่สามารถหาสาเหตุที่แก้ไขได้แพทย์อาจพิจารณาใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจหรือ pacemaker เพื่อป้องกันภาวะหัวใจล้มเหลวซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิต


“การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจเป็นวิธีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมานานกว่า 50 ปี วิธีการคือ แพทย์จะฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจไว้ใต้ผิวหนังบริเวณใต้กระดูกไหปลาร้า และสอดสายสื่อสัญญาณไฟฟ้าไปยังหัวใจ โดยเครื่องจะทำการตรวจจับจังหวะการเต้นของหัวใจ และสายสื่อสัญญาณไฟฟ้าจะเป็นตัวควบคุมและกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วพอที่จะสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้” นพ.โชติกร อธิบาย


อย่างไรก็ตาม การฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจแบบใส่สายสื่อสัญญาณนี้ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยบางราย เช่น มีเลือดออกหรือมีก้อนเลือดคั่งอยู่ใต้ผิวหนัง มีการติดเชื้อบริเวณที่ใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ สายสื่อสัญญาณไฟฟ้าหลุดเลื่อนจากตำแหน่งเดิม รวมถึงความรู้สึกไม่สบายตัวและไม่สวยงามที่เกิดจากการฝังเครื่องส่งสัญญาณ


นี่จึงเป็นที่มาของเทคโนโลยีล่าสุดที่ออกแบบมาเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว โดยมีการริเริ่มนำเครื่องกระตุ้นหัวใจแบบไร้สาย (leadless cardiac pacemaker) เข้ามาใช้ในการรักษาผู้ป่วยหัวใจเต้นช้าผิดจังหวะ ซึ่งเทคโนโลยีใหม่นี้จะรวมเอาตัวส่งสัญญาณกระตุ้นหัวใจและสายสื่อสัญญาณไฟฟ้าไว้ในแคปซูลขนาดเล็กที่มีความยาวเพียง 26 มิลลิเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 6.7 มิลลิเมตร และหนักเพียง 1.75 กรัม โดยแพทย์จะส่งแคปซูลด้วยสายสวนผ่านหน้าขาเข้าไปฝังบริเวณผนังหัวใจห้องล่างขวาเพื่อทำหน้าที่ควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ
 

“การใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบไร้สายเป็นทางเลือกที่เหมาะกับผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องการใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจเฉพาะห้องข้างล่างขวาเท่านั้น เช่น ผู้ป่วยสูงอายุ หรือเป็นโรคหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยยังสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้สะดวกและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามเครื่องกระตุ้นหัวใจแบบไร้สายนี้อาจมีข้อจำกัดและไม่สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยบางราย ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเป็นกรณีไป” นพ.โชติกร กล่าวทิ้งท้าย
 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 15 กุมภาพันธ์ 2564

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs