bih.button.backtotop.text

การปิดรยางค์หัวใจห้องบนซ้าย (LAAC)

การปิดรยางค์หัวใจห้องบนซ้าย (Left Atrial Appendage Closure: LAAC) คือ การใช้อุปกรณ์ปิดรยางค์หัวใจห้องบนซ้าย เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดหลุดไปอุดตันหลอดเลือดสมองในกลุ่มผู้ป่วยที่มีหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด atrial fibrillation

ภาวะหัวใจสั่นพลิ้ว
ภาวะหัวใจสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation: AF) เป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบบ่อยที่สุด ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดที่เป็น atrial fibrillation มีโอกาสที่จะเกิดลิ่มเลือดในหัวใจและเกิดผลแทรกซ้อนที่สำคัญตามมา คือ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดสมอง (embolic stroke) ทำให้เกิดอัมพฤกษ์หรืออัมพาตได้ ซี่งความเสี่ยงจะมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะดังกล่าวประมาณ 5-6 เท่า โดยลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นมักเป็นลิ่มเลือดที่เกิดจากรยางค์หัวใจห้องบนซ้าย (left atrial appendage)

เพื่อป้องกันผลแทรกซ้อนที่สำคัญจากการมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด atrial fibrillation ในปัจจุบันจึงมีเทคโนโลยีที่ช่วยป้องกันลิ่มเลือดหลุดไปอุดตันหลอดเลือดสมองและช่วยลดภาวะเสี่ยงในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานยาป้องกันลิ่มเลือดได้ เนื่องจากอาจมีภาวะเลือดออกรุนแรง
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการทำหัตถการ
  1. งดอาหารและเครื่องดื่ม 8 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการทำหัตถการ
  2. สอบถามแพทย์ว่าต้องงดยาชนิดใดหรือไม่
  3. อาจต้องได้รับการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงในการตรวจการทำงานของหัวใจผ่านหลอดอาหาร (transesophageal echocardiogram: TEE) เพื่อประเมินภายในห้องหัวใจว่ามีลิ่มเลือดอยู่หรือไม่
  1. การทำหัตถการนี้จะทำที่ห้องปฏิบัติการสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ (Cardiac Electrophysiology Laboratory)
  2. ผู้ป่วยจะได้รับสารละลายและยาทางหลอดเลือดดำ
  3. ผู้ป่วยจะได้รับการติดอุปกรณ์เพื่อวัดสัญญาณชีพตลอดในขณะทำหัตถการ
  4. ผู้ป่วยจะได้รับยาทางหลอดเลือดดำจากวิสัญญีแพทย์เพื่อให้หลับ จากนั้นแพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณขาหนีบเพื่อใส่สายสวนเข้าหลอดเลือดดำ
  5. เมื่อแพทย์ใส่สายสวนเข้าหัวใจห้องบนขวาแล้ว จะทำการเจาะผ่านผนังกั้นห้องหัวใจเพื่อนำสายสวนเข้าสู่หัวใจห้องบนซ้าย
  6. วัดขนาดของอุปกรณ์ที่จะปิดรยางค์หัวใจห้องบนซ้าย (left atrial appendage) โดยการฉีดสารทึบรังสีเข้าในรยางค์หัวใจห้องบนซ้าย และตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงในการตรวจการทำงานของหัวใจผ่านหลอดอาหาร (transesophageal echocardiography: TEE)
  7. เมื่อได้ขนาดของอุปกรณ์ที่ต้องการแล้วแพทย์จะใส่อุปกรณ์ไปที่รยางค์หัวใจห้องบนซ้าย (left atrial appendage) และฉีดสีซ้ำอีกรอบพร้อมทั้งทำการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงในการตรวจการทำงานของหัวใจผ่านหลอดอาหาร (transesophageal echocardiogram: TEE) เมื่อได้ตำแหน่งที่พอเหมาะจึงทำการปล่อยอุปกรณ์ให้ปิดรยางค์หัวใจห้องบนซ้าย (left atrial appendage)
  8. ถอดสายสวนออกพร้อมกดห้ามเลือดที่บริเวณขาหนีบ
การปฏิบัติตัวภายหลังการทำหัตถการ
  1. แพทย์จะให้ผู้ป่วยพักที่แผนกผู้ป่วยวิกฤติหัวใจ (Cardiac Care Unit: CCU) 1 คืนเพื่อเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดและย้ายไปห้องพักธรรมดาอีก 1-2 วัน
  2. ผู้ป่วยต้องนอนพัก โดยต้องนอนราบ 4-6 ชั่วโมงเพื่อป้องกันมิให้เลือดออกบริเวณที่ใส่สายสวน
  3. โดยทั่วไปผู้ป่วยจะต้องพักอยู่ที่โรงพยาบาล 1-2 วัน
  4. โปรดเลี่ยงกิจกรรมที่ใช้แรงมากและห้ามยกของหนักประมาณ 1-2 สัปดาห์ บริเวณที่ใส่สายสวนอาจเจ็บอยู่ระยะหนึ่งและอาจฟกช้ำหรือนูนขึ้นมาเล็กน้อย
การปฏิบัติตัวภายหลังกลับบ้าน
 
  1. รับประทานยาป้องกันลิ่มเลือด เช่น วาร์ฟาริน (warfarin) แอสไพริน (aspirin) ตามที่แพทย์สั่ง ห้ามลดขนาดยาหรือหยุดยาเองโดยเด็ดขาด
  2. ในกรณีที่จำเป็นต้องทำการผ่าตัดหรือทำฟันที่ต้องหยุดรับประทานยาละลายลิ่มเลือด ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เพื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงของภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดสมอง
  3. หลังจากทำหัตถการได้ 45 วัน แพทย์จะนัดมาทำการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงในการตรวจการทำงานของหัวใจผ่านหลอดอาหาร (transesophageal echocardiogram: TEE) เพื่อประเมินว่าอุปกรณ์ที่ปิดรยางค์หัวใจห้องบนซ้าย (left atrial appendage) ปิดสนิทหรือไม่ และพิจารณาหยุดยาวาร์ฟารินเพื่อเปลี่ยนเป็นยารับประทาน clopidogrel (Plavix®) จนถึง 6 เดือนจากวันที่ทำหัตถการ
  4. มาพบแพทย์ตามนัด
ความสำเร็จจากการทำหัตถการขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์
 
ถ้าไม่ทำหัตถการนี้จะเกิดอะไรขึ้น
ผู้ป่วยจะมีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดสมอง (embolic stroke) ทำให้เกิดอัมพฤกษ์หรืออัมพาตได้ และในกรณีที่รับประทานยาป้องกันลิ่มเลือดอาจจะเกิดภาวะเลือดออกรุนแรงได้
 
ทางเลือกอื่นในการรักษา
  1. การรับประทานยาป้องกันลิ่มเลือด
  2. การจี้ไฟฟ้าหัวใจด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง
  1. มีอาการบวม เลือดออกหรือติดเชื้อบริเวณที่ใส่สายสวน
  2. หลอดเลือดได้รับความเสียหาย
  3. แพ้ยาหรือสารทึบรังสีที่ได้รับระหว่างการทำหัตถการ
  4. กล้ามเนื้อหัวใจฉีกขาด หรือหลอดเลือดได้รับความเสียหาย
  5. มีภาวะเลือดออกในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ
  6. เกิดลิ่มเลือดอุดตัน ทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดในสมองตีบ กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
  7. เสียชีวิต
คำแนะนำเกี่ยวกับการเดินทางก่อนและหลังเข้ารับหัตถการ

ก่อนทำหัตถการ
  • ผู้ป่วยควรอยู่ในประเทศไทยประมาณ 1-2 สัปดาห์ตลอดระยะเวลาการรักษา
  • แนะนำให้พักโรงแรมใกล้โรงพยาบาลเพื่อความสะดวกในการเดินทางมาโรงพยาบาลทั้งก่อนและหลังผ่าตัดหรือทำหัตถการจนถึงวันนัดพบแพทย์
หลังทำหัตถการ
  • ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจร่างกายและดูแลแผลผ่าตัดในวันนัด และได้รับเอกสารรายงานการผ่าตัดหรือการทำหัตถการและเอกสารที่เกี่ยวข้อง
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้แรงในการดึง ผลัก ดัน หรือยกขึ้น รวมถึงการนั่งคุกเข่า ซึ่งจะมีผลทําให้เลือดออกบริเวณที่แทงเข็มที่ขาหนีบ
  • ดูแลบริเวณรอยเข็มแทงที่ขาหนีบให้แห้งและสะอาดเสมอจนกว่าแผลจะหายสนิท ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีอาการแดง บวม และปวดมาก นอกจากนี้หากมีอาการเลือดออกที่รอยเข็มแทง ให้กดบริเวณรอยเข็มอย่างน้อย 10 นาที ถ้าเลือดยังไม่หยุดให้รีบปรึกษาแพทย์
  • ในการเดินทางกลับประเทศโดยเครื่องบิน หากผู้ป่วยนั่งชั้นประหยัดแนะนำให้เลือกที่นั่งแถวหน้า และลุกเดินบ่อยๆ ทุก 15-30 นาที รวมถึงกระดกข้อเท้า (foot ankle pump) บ่อยๆ เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่ขา
  • รับประทานยาตามแพทย์สั่ง ผู้ป่วยควรพกพายาประจำตัวอย่างเพียงพอไว้ในสัมภาระถือขึ้นเครื่องสำหรับการเดินทาง และสำรองปริมาณยาเพิ่มเติมสำหรับอีกหนึ่งหรือสองวัน รวมถึงควรพกใบสั่งยาติดตัวไว้ตลอดเวลาเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นที่จุดตรวจของศุลกากร
แก้ไขล่าสุด: 30 กันยายน 2564

Related conditions

Doctors Related

Related Centers

ศูนย์หัวใจเต้นผิดจังหวะ

ดูเพิ่มเติม

สถาบันโรคหัวใจ (Heart Institute)

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 8.22 of 10, จากจำนวนคนโหวต 18 คน

Related Health Blogs