ตัวเลขล่าสุดจากสำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา อุบัติการณ์โรคงูสวัดในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยสูงสุดคือ กลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป สอดคล้องกับข้อมูลจากภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลที่จัดให้โรคงูสวัดเป็น 1 ใน 3 โรคติดเชื้อที่สำคัญร่วมกับไข้หวัดและปอดบวม ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากการติดเชื้อที่พบบ่อยที่สุดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี โดยพบได้ราวร้อยละ 20-30 ในประชาชนทั่วไป และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 ในผู้ที่มีอายุถึง 85 ปี
โรคงูสวัดจึงไม่เพียงเป็นโรคที่สร้างความเจ็บปวดทรมานให้แก่ผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังเป็นอันตรายมากกว่าที่คิด
รู้จักกับโรคงูสวัด
พญ.ลิลลี่ ชัยสมพงษ์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ อธิบายถึงสาเหตุของการเกิดโรคงูสวัดว่าเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันกับไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคอีสุกอีใส เมื่อโรคอีสุกอีใสหายแล้ว เชื้อไวรัสนี้จะหลบซ่อนอยู่ตามปมประสาทต่างๆ เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายอ่อนแอ ไวรัสก็จะกำเริบขึ้นมาได้อีก
“เมื่อภูมิต้านทานไม่แข็งแรง ไม่ว่าจะเกิดจากวัยที่เพิ่มมากขึ้น หรือจากปัจจัยอื่นๆ เช่น เป็นโรคเรื้อรัง โรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน หรือโรคที่ต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง โอกาสที่จะเป็นงูสวัดก็เพิ่มมากขึ้น” พญ.ลิลลี่ กล่าว
ทั้งนี้ ลักษณะของโรคงูสวัดจะแตกต่างจากโรคอีสุกอีใสซึ่งเป็นตุ่มแดงอักเสบเห่อขึ้นมาทั้งตัว แต่งูสวัดจะเป็นตุ่มหรือผื่นขึ้นเฉพาะตามปมประสาทที่ไวรัสซ่อนตัวอยู่ โดยขึ้นเป็นแถบตามแนวเส้นประสาทไม่กระจายตัว เริ่มจากเกิดตุ่มแดงแล้วจึงกลายเป็นตุ่มนูน ตุ่มใส ในที่สุดจะแตกและตกสะเก็ด พบได้บ่อยตามลำตัว เอว หลัง รวมถึงบริเวณใบหน้าและดวงตา ซึ่งเป็นกรณีที่อันตรายและอาจทำให้ตาบอดได้
อาการปวดแสบปวดร้อน
อาการที่เด่นชัดของโรคงูสวัดนอกเหนือจากตุ่มหรือผื่นผิวหนังก็คือ อาการปวดเส้นประสาทที่เรียกว่า neuropathic pain คือปวดแสบปวดร้อนตามแนวเส้นประสาท บางรายปวดเหมือนโดนไฟช็อต รวมถึงเจ็บตามตุ่มเนื่องจากการอักเสบ
“ผู้สูงอายุบางท่านมีอาการปวดมากตั้งแต่เริ่มมีตุ่มแดง บางท่านยังไม่มีตุ่มขึ้นเลยแต่มีอาการปวดนำก่อน ยิ่งมีตุ่มมากก็ยิ่งปวดมาก เรียกว่าแค่สัมผัสกับเสื้อผ้าบางๆ ก็ปวดแล้ว บางท่านนอนไม่ได้เพราะนอนท่าไหนก็ปวด เรียกว่าเป็นโรคที่ค่อนข้างทรมาน” พญ.ลิลลี่ กล่าวเสริม
นอกจากนี้แล้ว ในผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนของโรคเกิดขึ้นได้ อาทิ การอักเสบติดเชื้อที่ตุ่มหรือผื่นผิวหนัง และอาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลังเป็นงูสวัดหรือ postherpetic neuralgia ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้มากถึงร้อยละ 70-80 ในผู้ป่วยที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป* โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดค้างอยู่แม้จะหายจากโรคแล้วก็ตาม โดยอาจปวดเป็นเดือน เป็นปี หรือปวดตลอดชีวิต
“อาการปวดตามแนวเส้นประสาทเป็นได้กับทุกคน แต่เราพบมากในผู้สูงอายุเนื่องจากเป็นกลุ่มที่ป่วยเป็นโรคงูสวัดมากที่สุด เป็นภาวะแทรกซ้อนที่รบกวนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก เพราะหมดความสุขสบายในชีวิตบางรายต้องรับประทานยาแก้ปวดชนิดออกฤทธิ์แรงซึ่งอาจทำให้ง่วงได้ พอง่วงก็จะหกล้ม และเกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา”
“ผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสทุกคนมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคงูสวัด หากภูมิคุ้มกันในร่างกายไม่แข็งแรงพอ” พญ.ลิลลี่ ชัยสมพงษ์
การรักษาและป้องกัน
ในรายที่อาการไม่รุนแรงและไม่มีภาวะแทรกซ้อน โรคงูสวัดอาจหายได้ภายในหนึ่งสัปดาห์จากการรักษาตามอาการ อย่างไรก็ตาม เมื่อทราบว่าเป็นโรคงูสวัดอย่าปล่อยทิ้งไว้แต่ควรรีบมาพบแพทย์ เพราะยิ่งได้รับยาต้านเชื้อไวรัสเร็วก็จะยิ่งลดความรุนแรงของโรคลงได้แม้จะไม่ทั้งหมด
“ผู้ป่วยสูงอายุหลายท่านไม่ทราบว่าตัวเองเป็นอะไร คิดว่าแพ้หรือเป็นตุ่มแมลงกัดต่อย กว่าจะมาพบแพทย์ก็ผ่านไป 3-4 วันแล้วซึ่งอาการจะเริ่มรุนแรง กรณีนี้ลูกหลานหรือผู้ดูแลต้องหมั่นสังเกต หากพบว่ามีตุ่มหรือผื่นบริเวณผิวหนังร่วมกับอาการปวด ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นโรคงูสวัด”
และเนื่องจากการรักษาโรคงูสวัดไม่สามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ 100% การป้องกันโรคจึงเป็นทางเลือกที่แพทย์แนะนำ นั่นคือเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดซึ่งมีให้บริการแล้วในประเทศไทยและพบว่าสามารถลดอุบัติการณ์ของโรคได้ถึงร้อยละ 51.3 ในกลุ่มผู้ที่มีอายุระหว่าง 60-70 ปี*
สำหรับอายุที่เหมาะสมในการฉีดวัคซีนคือ 60 ปีขึ้นไป แต่ในกรณีของผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือมีโรคอื่นๆ ที่ทำให้ภูมิต้านทานไม่แข็งแรง ผู้ป่วยอาจเข้ารับการฉีดวัคซีนก่อนอายุ 60 ปีก็ได้เช่นกัน ปัจจุบันวัคซีน 1 เข็มมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ดีที่สุดคือประมาณ 10 ปีนับจากวันที่ฉีด
“การฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดนั้นไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ไม่เป็นโรคเลย แต่เป็นการช่วยลดโอกาสของการเกิดโรคได้กว่าครึ่งและลดความรุนแรงของโรคลงได้” พญ.ลิลลี่ กล่าวในท้ายที่สุด
*ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
วัคซีนสุขภาพดี ทางเลือกเพื่อสุขภาพผู้สูงวัย
เพราะการป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา คลินิกสุขภาพผู้สูงอายุนิวไลฟ์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ปรารถนาให้ผู้สูงวัยมีสุขภาพดีด้วย โปรแกรมวัคซีนสุขภาพดีสำหรับผู้สูงวัย ซึ่งประกอบไปด้วยวัคซีนที่จำเป็นต่อการป้องกันโรคที่พบบ่อยในผู้สูงวัยอันได้แก่
- วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด แนะนำให้ฉีดวัคซีนโรคงูสวัด 1 เข็ม ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
- วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก 1 เข็ม โดยส่วนใหญ่จะมีภูมิต้านทานอยู่ประมาณ 10 ปี
- วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ แนะนำให้ฉีดเป็นประจำทุกปีในช่วงปลายฤดูฝนถึงช่วงฤดูหนาว
- แพ็กเกจวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ 2 ชนิด คือ ชนิดคอนจูเกต 13 สายพันธุ์ 1 เข็ม และชนิดโพลีแซคคาไรด์ 23 สายพันธุ์ 1 เข็ม
ทั้งนี้ คลินิกสุขภาพผู้สูงอายุนิวไลฟ์ พร้อมให้คำแนะนำในการรับวัคซีนจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุและบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร 0 2667 2000
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 21 กุมภาพันธ์ 2565