bih.button.backtotop.text

แค่หาย อาจยังไม่พอ โรคข้อเสื่อมกับทางเลือกใหม่ในการรักษา

โรคข้อเสื่อม เป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนหลายล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะโรคข้อเข่าและข้อสะโพกเสื่อมซึ่งทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากต้องใช้ชีวิตอยู่กับความเจ็บปวดทุกครั้งที่เคลื่อนไหว ไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ และสูญเสียบุคลิกภาพที่ดีไป

ข้อเสื่อมเกิดจากอะไร

“โรคข้อเสื่อมเป็นโรคที่มาพร้อมกับวัย เพราะเมื่อใช้งานไปนานๆ ข้อต่อย่อมเกิดการสึกหรอ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งอายุเฉลี่ยของประชากรเพิ่มมากขึ้น จำนวนผู้ป่วยก็ยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย”  “โดยทั่วไปอาการของข้อเข่าเสื่อมจะเริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่อายุประมาณ 45-50 ปี และพบได้บ่อยในวัย 65 ปีขึ้นไป ส่วนข้อสะโพกเสื่อมจะเกิดช้ากว่า คือเกิดที่อายุประมาณ 60-75 ขึ้นไป”

นอกจากอายุแล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัยที่เร่งให้เกิดโรคข้อเสื่อมเร็วขึ้น อาทิ ภาวะน้ำหนักเกิน กระดูกและกระดูกอ่อนไม่แข็งแรง กล้ามเนื้อรอบข้อไม่แข็งแรงรวมถึงมีพฤติกรรมการใช้ข้อที่ไม่เหมาะสม เช่น การนั่งยอง นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ และนั่งคุกเข่า เป็นต้น

จะทราบได้อย่างไรว่าข้อเสื่อม

เนื่องจากโรคข้อเสื่อมเป็นโรคที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ผู้ป่วยจึงไม่รู้สึกถึงอาการของโรคในทันทีและมักมาพบแพทย์เมื่อเกิดอาการมากแล้ว  ได้ให้ข้อสังเกตถึงอาการของโรคไว้ว่า “ในกรณีของโรคข้อเข่าเสื่อม อาการที่ชัดเจนที่สุดคือมีเสียงดังในข้อและเป็นเสียงที่สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหว เกิดขึ้นต่อเนื่อง ไม่ได้เกิดครั้งเดียวแล้วหายไป ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดข้อ ซึ่งหากปวดมาก เข่าจะบวมเนื่องจากเกิดการอักเสบภายในข้อ เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์บางท่านอาจรักษาด้วยการดูดน้ำในข้อออกซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยหายปวดได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าข้อเข่าจะหายเสื่อม”

ในกรณีที่ข้อเข่าเสื่อมมาก เข่าจะเริ่มผิดรูปคือเริ่มโก่ง อาจเป็นการโก่งออกหรือโก่งเข้าในลักษณะของเข่าชนกันก็ได้ โดยผู้ป่วยจะรู้สึกปวดทุกครั้งที่เดิน เนื่องจากกระดูกอ่อนที่ทำหน้าที่รองรับแรงกระแทกและช่วยให้เคลื่อนไหวได้อย่างลื่นไหลมีความหนาลดลงจนกระทั่งหมดไป กระดูกจึงชนกันทำให้เจ็บมาก
 

สำหรับข้อสะโพกเสื่อมนั้น จะเห็นอาการบวมได้ไม่ชัดเจนเพราะเป็นข้อที่อยู่ลึก แต่ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดขณะเคลื่อนไหว เช่น ขณะลุกขึ้นยืน เมื่อข้อสะโพกเสื่อมมากขึ้น ผู้ป่วยจะเคลื่อนไหวไม่คล่องและทำได้ในวงแคบลง นั่นคือเริ่มเดินแบบก้าวสั้นๆ ซึ่งหากปล่อยไว้ ข้อสะโพกที่เสื่อมจะเริ่มติด ทำให้ขยับได้ลำบากมากขึ้น
 

การรักษาโรคข้อเสื่อม

เพราะไม่มีวิธีการรักษาใดที่จะเปลี่ยนข้อที่เสื่อมแล้วให้กลับมาเป็นข้อที่แข็งแรงดังเดิมได้จุดมุ่งหมายของแพทย์จึงเป็นความพยายามที่จะรักษาสภาพข้อเข่ากับข้อสะโพกของผู้ป่วยเอาไว้ให้นานที่สุด ซึ่งในเบื้องต้นแพทย์จะแนะนำให้แก้ไขที่สาเหตุของโรคและรักษาอาการควบคู่กันไป เช่น ลดน้ำหนัก ปรับท่าทางการนั่ง หมั่นบริหารกล้ามเนื้อบริเวณข้อสะโพกกับข้อเข่า รวมถึงดูแลร่างกายให้กระดูกแข็งแรง และเมื่อมีอาการปวดก็จะรักษาด้วยการใช้ยาก่อน ซึ่งในระยะแรกนี้ยาที่ใช้มักประกอบด้วย

  • ยารักษาตามอาการ เช่น อาการอักเสบ อาการปวด อาการกล้ามเนื้อเกร็งตัว เป็นต้น
  • ยาบำรุงหรือช่วยยับยั้งการทำลายของกระดูกอ่อนภายในข้อ เช่น กลูโคซามีนซัลเฟตกลูโคซามีนผสมคอนดรอยติน และไดอะเซอรีน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อนรับประทาน

“นอกจากนี้ยังมีการฉีดน้ำหล่อเลี้ยงข้อเทียม เพื่อให้ข้อเสียดสีน้อยลง แต่หากพยายามทุกทางแล้วอาการของผู้ป่วยยังไม่ดีขึ้น หรือผู้ป่วยยังรู้สึกรับกับสภาพที่เป็นอยู่ไม่ได้ ก็จะนำมาสู่การพิจารณาแนวทางการรักษาขั้นต่อไป ซึ่งก็คือการผ่าตัด”

อย่างไรก็ดีการผ่าตัดนั้น แพทย์จำเป็นต้องพิจารณาข้อบ่งชี้ดังต่อไปนี้ประกอบด้วย คือ

  1. ผู้ป่วยต้องมีอาการที่ได้พยายามรักษาโดยไม่ผ่าตัดแล้ว แต่ไม่เป็นผล
  2. เมื่อเอกซเรย์แล้วพบว่าข้อนั้นอยู่ในขั้นที่ต้องผ่า เพราะแม้ผู้ป่วยจะปวดมากแต่หากข้อยังไม่เสื่อมสภาพจนถึงขั้นผ่า แพทย์อาจไม่พิจารณาผ่าให้
  3. อายุของผู้ป่วยอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เนื่องจากข้อเทียมมีอายุการใช้งานประมาณ 10-20 ปี หากผู้ป่วยมีอายุน้อย ก็มีความเป็นไปได้ที่จะต้องผ่าตัดแก้ไขอีกครั้ง ดังนั้น แพทย์จึงมักไม่ผ่าตัดให้กับผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่า 50 ปี เพราะนอกจากอายุน้อยแล้วผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังอยู่ในวัยที่ต้องใช้งานข้อหนักและยิ่งทำให้ข้อเทียมสึกหรอเร็วขึ้น

ทั้งนี้ อาจมีผู้ป่วยบางประเภทที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดแม้จะมีอายุน้อย เช่น ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น

เมื่อต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม

ในการผ่าตัดรักษาโรคข้อเสื่อมนั้นสามารถทำได้ 2 กรณี คือ กรณีไม่ใช้ข้อเทียม เช่น การตัดต่อกระดูกเพื่อแก้ไขอาการขาโก่งโดยไม่เปลี่ยนข้อ และกรณีใช้ข้อเทียม ซึ่งทำได้หลายวิธี ได้แก่
 

  • การผ่าตัดด้วยวิธีดั้งเดิม (conventional surgery) เป็นกระบวนการผ่าตัดที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด เนื่องจากอาจมีโอกาสคลาดเคลื่อนซึ่งจะส่งผลต่ออายุการใช้งานของข้อเทียมได้
  • การผ่าตัดด้วยเทคนิคที่มีแผลผ่าตัดขนาดเล็ก (minimally invasive surgery) เป็นการผ่าตัดที่กระทบต่อกล้ามเนื้อรอบๆ น้อยลง ขนาดแผลเล็กลง และผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้นเมื่อเทียบกับวิธีผ่าตัดแบบดั้งเดิม
  • การผ่าตัดด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (computer-assisted surgery) สำหรับการผ่าตัดข้อเข่า โดยคอมพิวเตอร์จะทำหน้าที่ประมวลข้อมูลและวิเคราะห์ผลแบบ real time ช่วยให้แพทย์สามารถวางตำแหน่งข้อเทียมหลังการผ่าตัดได้แม่นยำถึงร้อยละ 94 ขณะที่การผ่าตัดด้วยวิธีปกติมีความแม่นยำเพียงร้อยละ 78 นอกจากนี้ยังช่วยให้การปรับสมดุลของกล้ามเนื้อบริเวณข้อเข่าในขณะผ่าตัดทำได้ละเอียดแม่นยำขึ้น
  • การผ่าตัดโดยใช้แขนกลหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (MAKOplasty®) ใช้ในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมด้านเดียวและการผ่าตัดเปลี่ยนสะโพกเทียม ช่วยให้แพทย์วางตำแหน่งข้อเทียมได้อย่างแม่นยำและไม่เสียกระดูกจากการตัดแต่งผิวกระดูกโดยไม่จำเป็น ข้อเทียมจึงมีอายุการใช้งานยืนยาวอย่างที่ควรจะเป็นและเนื่องจากเป็นผ่าตัดแผลเล็ก ผู้ป่วยจึงฟื้นตัวได้เร็ว

สำคัญที่ “ ความคาดหวัง ”

ในการเลือกวิธีผ่าตัดข้อเทียมนั้น นอกเหนือจากการประเมินอาการแล้ว แพทย์ยังจำเป็นต้องทราบถึงความคาดหวังของผู้ป่วยก่อนการผ่าตัดอีกด้วย “ปัจจุบัน เราพบว่าผู้ป่วยมีความคาดหวังมากขึ้น ไม่ใช่แค่หายปวด ขาหายโก่ง หรือแค่เดินได้ แต่ผลลัพธ์ต้องออกมาใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด เคยเล่นกีฬาได้ก็ต้องเล่นได้เหมือนเดิม ซึ่งจากการศึกษาพบว่าราวร้อยละ 20 ของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดข้อเข่าเทียมไม่พอใจกับผลการผ่าตัดเพราะไม่เป็นไปตามที่หวังไว้

ด้วยเหตุนี้ แพทย์จึงต้องหาวิธีการที่จะทำให้ผลการผ่าตัดเป็นไปตามความคาดหวังของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคในการผ่าตัด หรือการเลือกใช้ข้อเข่าเทียมที่ได้มาตรฐานและเหมาะสมกับการใช้งานของผู้ป่วย
 

นอกจากนี้ แพทย์ยังต้องวางแผนการรักษาสำหรับอนาคตไว้ให้ผู้ป่วยอีกด้วย เช่น ในกรณีที่ข้อเสื่อมไม่หมดก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนทั้งข้อแต่เลือกผ่าตัดเปลี่ยนเฉพาะบางส่วนซึ่งนอกเหนือจากจะให้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงธรรมชาติมากกว่าแล้ว หากผู้ป่วยต้องเปลี่ยนข้ออีกในอนาคตก็เปลี่ยนทั้งหมดได้ไม่ยาก แต่ถ้าตัดสินใจเปลี่ยนทั้งข้อทั้งที่ทำบางส่วนได้ ในอนาคตการแก้ไขจะทำได้ยากกว่าและมีค่าใช้จ่ายสูง

เราไม่ได้มองว่าการเปลี่ยนข้อเทียมเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะวันนี้ ต้องมองว่าใน 5 ปี 10 ปีข้างหน้า ถ้าผู้ป่วยมีปัญหาเราจะช่วยเขาได้อย่างไรด้วย

ปัจจุบัน การผ่าตัดข้อเทียมที่ประสบความสำเร็จจึงไม่ได้หมายถึงการผ่าตัดที่มีความปลอดภัยสูงสุดเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการผ่าตัดที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีดังที่คาดหวังทั้งในวันนี้และวันหน้าอีกด้วย
 


ศูนย์เวชศาสตร์การกีฬาและข้อ อาคาร A ชั้น 20 เคาน์เตอร์ D
เปิดบริการทุกวัน 08.00-20.00 น.
โทร. 02-066-8888 หรือ 1378
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

แค่หาย อาจยังไม่พอ โรคข้อเสื่อมกับทางเลือกใหม่ในการรักษา
คะแนนโหวต 9.33 of 10, จากจำนวนคนโหวต 3 คน

Related Health Blogs