เวลาเห็นเด็กพุงพลุ้ยแก้มกลมดูจ้ำม่ำ หลายๆ คนมักมองเป็นความน่ารักน่าหยิกของเด็กน้อยมากกว่าจะมองว่าเป็นปัญหา โตเข้าหน่อยก็สมส่วนเข้าที่เข้าทางเอง จึง ไม่ใส่ใจปัญหาน้ำหนักเกินมาตรฐานของเด็กๆ กันสักเท่าไหร่
แต่ไม่มีอะไรการันตีได้หรอกว่า เด็กตัวกลมในวันนี้จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีหุ่นมาตรฐานในวันหน้า ในทางตรงกันข้าม มีสถิติยืนยันว่าเด็กอ้วนมักเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนเช่นกัน หากปล่อยให้ก้อนไขมันสะสมในตัวมากเข้า ความจ้ำม่ำตุ้ยนุ้ยก็กลายเป็นต้นเหตุสำคัญของโรคเรื้อรังต่างๆ ในเด็ก ไม่ว่าจะเป็น
โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง รวมไปถึง
ความดันโลหิตสูงอีกด้วย!
ข้อมูลเกี่ยวกับเด็กอ้วน
- โลกใบนี้มีเด็กที่ต้องเผชิญกับภาวะโรคอ้วนเพิ่ม และไม่มีแนวโน้มว่าจะจดลง
- ในปี 2014 มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบประมาณ 41 ล้านคนที่ประสบปัญหาน้ำหนักเกิน แบ่งเป็นทวีปเอเชียสูงถึง 48% และอีก 25% อยู่ในทวีปแอฟริกา
- เด็กที่อ้วนมีแนวโน้มจะมีความไปเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน
อ้วนมาจากไหน
โรคอ้วนเกิดจากการใช้พลังงานไม่สมดุล คือกินเพื่อรับพลังงานมากกว่าใช้หรือเผาผลาญพลังงานออกไป โดยมีพฤติกรรมและวิถีชีวิตแบบนั่งๆ นอนๆ (Sedentary Lifestyle) นับเป็นสาเหตุหลักถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของเด็กที่มีภาวะโรคอ้วนทั้งหมด
แต่นอกเหนือไปจากนั้น เด็กที่มีภาวะโรคอ้วนบางรายอาจเกิดจากสาเหตุอื่น บางกรณี อาจมีปัจจัยทางอ้อมที่ส่งผลต่อความอ้วนของเด็ก เช่น เด็กที่มีปัญหาทางจิตใจหรือมี
อาการซึมเศร้า อาจรับประทานอาหารในปริมาณที่มากเกินความต้องการได้ หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมน บางรายอาจมีปัจจัยด้านพันธุกรรมร่วมด้วย เช่น อาจมีความบกพร่องทางพันธุกรรม ขาดยีนบางตัว หรือมียีนผิดปกติ ซึ่งควรได้รับการรักษาอย่างถูก
แค่ไหนคืออ้วน
วิธีวัด : เทียบน้ำหนักกับส่วนสูง (ดัชนีมวลกาย Body Mass Index: BMI) บนตารางอายุและเพศ ถ้าเกิน 85-95 เปอร์เซ็นไทล์ ถือว่าอยู่ในระยะอวบ แต่ถ้าเกิน 95 ถือว่าอ้วน แต่ในบางราย คุณหมออาจตรวจเลือดเพื่อดูเบาหวาน ระดับไขมันในเลือด ค่าตับ ค่าไต ฮอร์โมนคอร์ติซอลและระดับวิตามืนดี รวมถึงตรวจดูว่ามีปัญหาไทรอยด์หรือไม่ ประกอบกับการสอบประวัติควบคู่กันไปด้วย
รัก (ษา) ลูกอ้วนให้ถูกทาง
เพื่อที่จะแก้ปัญหาความอ้วนได้ถูกวิธี คุณหมอจะวินิจฉัยหาสาเหตุของความอ้วนนั้นๆ ก่อน เริ่มจากตรวจดูว่าฮอร์โมนผิดปกติหรือไม่ เช่น ขาดไทรอยด์ฮอร์โมน หรือมีสเตียรอยด์ฮอร์โมนมากเกินไป ซึ่งอาจเกิดจากโรคบางอย่างที่ต้องใช้สเตียรอยด์ในการรักษา เช่น โรคภูมิแพ้ตัวเองหรือโรคมะเร็งบางชนิด หรือที่พบได้บ่อยคือร่างกายสร้างสเตียรอยด์ฮอร์โมนมากกว่าปกติจากต่อมหมวกไต ซึ่งสำหรับเด็กที่อ้วนจากฮอร์โมนทำงานผิดปกติ จะมีจุดสังเกตตรงที่มักมีภาวะเตี้ยร่วมด้วย
แต่หากความอ้วนของเด็กไม่ได้มีอะไรซับซ้อนไปกว่าพฤติกรรมการบริโภค การควบคุมอาหารและออกกำลังกายมักเป็นสิ่งที่คุณหมอแนะนำ แต่การรักษาจะได้ผลแค่ไหนก็ต้องขึ้นอยู่กับความใส่ใจของพ่อแม่ในการให้เด็กกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพในปริมาณที่เหมาะสม รวมถึงส่งเสริมให้เด็กออกกำลังกาย ส่วนบางกรณีในเด็กที่อ้วนมาก หรือเด็กที่ต้องใช้ยาร่วมในการรักษา คุณหมออาจแนะนำให้ไปพบนักโภชนาการและคุณหมอที่มีความเขี่ยวชาญด้านโภชนาการเพื่อออกแบบอาหารการกินที่เหมาะสมแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งการเริ่มต้นรักษาโรคอ้วนตั้งแต่ยังเล็กๆ จะได้ประสิทธิผลกว่าการรักษาในช่วงวัยรุ่น เพราะพ่อแม่จะช่วยสนับสนุนได้อย่างใกล้ชิดได้มากกว่านั่นเอง
โรคที่มากับความอ้วน
- ขาดวิตามินดี
- เด็กขาดความมั่นใจในตัวเอง เพราะถูกเพื่อนล้อ และอาจมีอาการซึมเศร้าตามมาได้
- ในเด็กโตเพศหญิงอาจเสี่ยงต่อภาวะ Polycystic Ovary Syndrome (PCOS) หรือภาวะที่รังไข่สร้างฮอร์โมนเพศชายออกมามากเกินไปทำให้ไข่ไม่ตก สังเกตได้จากเด็กประจำเดือนมาผิดปกติ ขนดกและสิวเยอะ
- ไขมันในเลือดสูง ทำให้มีโอกาสเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้นเมื่อเป็นผู้ใหญ่
- ความดันโลหิตสูง
- เบาหวานที่เกิดจากความอ้วน
- หยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea)
- อาการทางผิวหนังในเด็กอ้วน ที่บ่อยคือโรคเชื้อราที่ผิวหนัง ผิวหนังอักเสบติดเชื้อได้ง่าย
- โรคข้อและกระดูก เช่น มีอาการปวดกระดูกและกล้ามเนื้อตามส่วนต่างๆของร่างกาย
การจะให้เด็กลุกขึ้นมาคุมอาหารและออกกำลัง หากิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายทำเองคงไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นไปได้ง่ายๆ พ่อแม่จึงมีส่วนสำคัญที่จะเป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการให้เด็กลดน้ำหนักได้สำเร็จ และนี่คือวิธีที่คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามไปพร้อมๆ กัน!
- จัดตารางฟิต
- ควบคุมปริมาณอาหารของเด็ก และให้เด็กขยับตัว วิ่งเล่น ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละหนึ่งชั่วโมง
- ฟิตเป็นเพื่อนลูก
- การมีคู่หูในครอบครัวกินอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกายเป็นเพื่อนจะทำให้การลดความอ้วนสนุกขึ้นเยอะ
- แข็งใจ
- พ่อแม่ต้องห้ามตามใจเด็ดขาดเมื่อลูกงอแงรบกินขนมโปรด ขอเล่นเกมประจำ หรือพฤติกรรมเสี่ยงต่อการกลับไปอ้วน
- ไม่ช้อปของหวาน
- ถ้าเราเห็นอาหารที่ชอบอยู่ใกล้ๆ ก็มักจะหยิบเข้าปากได้ง่าย พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงการซื้ออาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูงเข้าบ้าน
- นอนให้พอ
- การนอนดึกอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของความอ้วน จึงควรฝึกให้ลูกนอนเป็นเวลาและให้เพียงพอ
- ลดจอ
- ทีวี คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์ มักมีความสามารถพิเศษในการดึงดูดเด็กให้ติด ไม่ขยับเขยื้อนไปไหน ส่งผลให้ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายหรือทำกิตกรรมอื่นๆ เด็กเล็ก 2-5 ขวบไม่ควรอยู่กับหน้าจอเกินหนึ่งชั่วโมงต่อวัน
- กำลังใจคือสิ่งสำคัญ
- การลดน้ำหนักต้องใช้พลังใจและความมุ่งมั่นที่ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ พ่อแม่ควรให้กำลังใจลูกอย่างสม่ำเสมอ
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 05 เมษายน 2564