การใช้กล่องแบ่งยาสำหรับรับประทานในแต่ละวันหรือแต่ละสัปดาห์ สามารถทำได้หรือไม่?
ปัญหาการเก็บยาที่พบมากที่สุดในปัจจุบัน คือ การเเบ่งยาที่ต้องรับประทานแต่ละมื้อใส่กล่องเตรียมไว้สำหรับแต่ละวันหรือแต่ละสัปดาห์ เพื่อความสะดวกในการใช้ยา โดยการนำเม็ดยาออกจากเเผงยาหรือภาชนะบรรจุตั้งต้นแล้วนำเม็ดยามาใส่รวมกันในกล่อง ทำให้ยามีโอกาสสัมผัสกับแสงแดด ความชื้น อากาศ ดังที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งอาจส่งผลเร่งการแปรสภาพหรือเสื่อมสภาพของยา
ทั้งนี้แล้ว หากท่านมีความจำเป็นต้องเเบ่งยาออกมาจากแผงยาหรือภาชนะบรรจุตั้งต้นก็สามารถทำได้ ดังนี้
- ยาที่บรรจุในแผงยา วิธีการที่ดีที่สุดควรตัดเเผงยาออกเป็นขนาดเล็ก ตามจำนวนเม็ดที่ต้องรับประทาน เเล้วใส่ในกล่องแบ่งยา
- ยาเม็ดเปลือยที่บรรจุในกระปุกยาขนาดใหญ่ควรเเบ่งเม็ดยาใส่กล่องแบ่งยาออกมาทีละน้อย ไม่ควรเกินจำนวนที่รับประทานใน 1 สัปดาห์
นอกจากนี้ กล่องแบ่งยาที่ใช้ควรเป็นภาชนะที่ปิดมิดชิด สามารถป้องกันเเสงได้ และแยกยาในแต่ละมื้อหรือแต่ละวันออกจากกันอย่างชัดเจน
บริเวณที่เหมาะสมในการเก็บยา ?
การเก็บยาเพื่อให้ยาคงคุณภาพและปลอดภัยต่อสมาชิกทุกคนในบ้าน นอกจากหลีกเลี่ยงความร้อน ความชื้นและเก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสมแล้ว โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีคำแนะนำดีๆ ดังต่อไปนี้
- ควรแยกยารับประทานและยาใช้ภายนอกออกจากกันอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันความสับสนหรือการหยิบใช้ยาผิดประเภท
- เก็บยาในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่อับชื้น ไม่มีแสงแดดส่องถึงโดยตรง เช่น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เป็นต้น
- ควรเก็บยาให้พ้นมือเด็ก เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
- สำหรับยาบางชนิดอาจต้องเก็บในตู้เย็น การเก็บยาในตู้เย็น ควรเก็บในช่องธรรมดาที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส และควรแยกยาออกจากอาหาร หลีกเลี่ยงการเก็บยาบริเวณฝาตู้เย็นซึ่งเป็นบริเวณที่มีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิบ่อย และห้ามเก็บในช่องแช่แข็ง
- จัดเก็บยาพร้อมฉลากยาที่ได้รับมา
- ไม่ควรเก็บยาต่างชนิดกันในบรรจุภัณฑ์เดียวกัน
“วันหมดอายุของยา” สิ่งสำคัญที่มักหลงลืมกันไป
ยาบางชนิดอาจมีข้อจำกัดเกี่ยวกับการคงสภาพตลอดอายุของยา เช่น ยาหยอดตามีอายุ 1 เดือนหลังจากเปิดใช้ ยาปฏิชีวนะชนิดแขวนตะกอนบางชนิดที่ผสมน้ำแล้วมีอายุ 1 สัปดาห์ เมื่อเก็บที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส และมีอายุ 2 สัปดาห์ เมื่อเก็บในตู้เย็น เป็นต้น ท่านควรอ่านและปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากยาอย่างละเอียด หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเภสัชกรโดยตรง
ในแต่ละบ้านมีการเก็บยาต่างๆ ไว้มากมาย มีทั้งยาใหม่และยาเก่า แม้จะเก็บรักษาอย่างถูกวิธี แต่ต้องไม่หลงลืมกันไปว่ายาแต่ละตัวมีอายุการใช้งานที่แตกต่างกัน ดังนั้น ท่านควรตรวจสอบวันหมดอายุของยาบนบรรจุภัณฑ์ก่อนรับประทานยาทุกครั้ง และสังเกตลักษณะทางกายภาพของเม็ดยาว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติหรือไม่ หากพบว่ายาหมดอายุ หรือลักษณะเม็ดยาผิดปกติ เช่น มีสีเปลี่ยนไปจากเดิม มีจุดด่างบนเม็ดยา มีกลิ่นที่ผิดปกติ มีการตกตะกอนหรือจับกันของผงยา การแยกชั้นของเนื้อครีม เป็นต้น ท่านไม่ควรใช้ยาที่มีความผิดปกติดังกล่าว เพื่อป้องกันอันตรายจากยาที่เสื่อมสภาพ
จากที่กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นว่าการจัดเก็บยา เป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีผลต่อการรักษา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เห็นถึงความสำคัญในการเก็บยา เพื่อให้ยายังคงคุณภาพและมีประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีที่สุด ทางโรงพยาบาลได้มีการจัดเก็บยาที่เป็นแนวทางปฏิบัติเช่นเดียวกันทั้งโรงพยาบาล รวมทั้งมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยในการติดตามและควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ตลอดเวลา เพื่อให้ยาคงคุณภาพเฉกเช่นเดียวกับเมื่อแรกผลิตจากโรงงานยา ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ป่วยที่รับยาจากโรงพยาบาลได้ใช้ยาที่มีคุณภาพดีและส่งผลต่อการรักษาที่ดีที่สุด
หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชั่วโมง
Contact information: Drug Information Service ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
Tel: +66(0) 2 011 3399
Email:
[email protected]
Reference
1. คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. [Internet]. การเก็บรักษายา. 2019 [cited 24 September 2019]. Available from:
https://med.mahidol.ac.th/ramapharmacy/th/knowledge/general/11102015-0010-th
2. กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. [Internet]. เก็บยาอย่างไรให้คงสภาพ. 2019 [cited 24 September 2019]. Available from:
http://pca.fda.moph.go.th/public_media_detail.php?id=6&cat=62&content_id=1403
3. ปรียา อารีมิตร ภ.ม., รินดาวรรณ พันธ์เขียน ภ.ม.,ทเพียงเพ็ญ ชนาเทพาพร ภ.ม.. [Internet]. การเก็บรักษายา. 2013 [cited 24 September 2019]. Available from:
http://202.28.95.4/pharmacy/index.php?f=detail_rule&id=6
4. คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. [Internet]. ยาหมดอายุ ยาเสื่อมสภาพ... อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม. 2018 [cited 24 September 2019]. Available from:
https://med.mahidol.ac.th/ramapharmacy/th/knowledge/general/11092015-2303-th