bih.button.backtotop.text

มะเร็งไต

มะเร็งไต (kidney cancer) เป็นชนิดของโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นภายในไต โดยเกิดจากเจริญเติบโตของเซลล์เนื้อเยื่อไตและกรวยไตที่ผิดปกติ เซลล์เหล่านี้จะแบ่งตัวอย่างควบคุมไม่ได้และหากไม่ได้รับการรักษาก็จะแพร่กระจายออกไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ปอด และกระดูก

ชนิดของมะเร็งไต

โรคมะเร็งไตแบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลักๆ ได้แก่
  1. มะเร็งไตชนิด renal cell carcinoma (RCC) เป็นมะเร็งของเซลล์เนื้อเยื่อไตซึ่งพบมากถึงร้อยละ 90 ของมะเร็งไตทั้งหมด 
  2. มะเร็งไตชนิด transitional cell carcinoma (TCC) เป็นมะเร็งของเซลล์เยื่อเมือกกรวยไตซึ่งมีลักษณะเป็นโพรงอยู่ระหว่างไตกับท่อไต มะเร็งไตชนิดนี้พบได้ประมาณร้อยละ 5-10 ของมะเร็งไตทั้งหมด 
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคมะเร็งไต แต่พบว่าปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้เพิ่มโอกาสในการเกิดโรคได้
  • อายุ ยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มอายุที่พบมากคือช่วงอายุ 50-70 ปี
  • เพศ พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2 เท่า
  • สูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคมะเร็งไตมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ และ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยมะเร็งไตมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่
  • โรคอ้วน
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • ผู้ป่วยภาวะไตวายเรื้อรังที่ต้องฟอกเลือดต่อเนื่องเป็นเวลานาน
  • มีโรคทางพันธุกรรมบางอย่าง ซึ่งเป็นความผิดปกติหรือการกลายพันธุ์ของยีนบางชนิด 
  • มีบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคมะเร็งไต
  • การสัมผัสสารเคมีหรือสารพิษบางชนิดต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น แร่ใยหิน และแคดเมียม
ผู้ป่วยมะเร็งไตทั้งชนิด RCC และ TCC ในระยะเริ่มแรกจะยังไม่มีอาการ จนกระทั่งก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น อาการของโรคจึงปรากฏให้เห็น ซึ่งได้แก่ 
  •     ปัสสาวะมีเลือดปน โดยสีของปัสสาวะจะเปลี่ยนเป็นสีชมพู แดง หรือน้ำตาล
  •     ปวดบริเวณบั้นเอว
  •     คลำพบก้อนบริเวณชายโครง
  •     อ่อนเพลีย
  •     เบื่ออาหาร น้ำหนักลด 
  •     มีไข้เรื้อรัง 
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งไตได้โดยการสอบถามอาการ ประวัติครอบครัวและประวัติการเจ็บป่วย ร่วมกับการตรวจร่างกาย และตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ ได้แก่
  • การตรวจเลือดและตรวจปัสสาวะ
  • การตรวจภาพไตด้วยการอัลตราซาวด์, การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือการตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อหาก้อนเนื้องอกหรือความผิดปกติอื่นๆ ในไต ซึ่งการตรวจภาพไตมักให้ข้อมูลที่เพียงพอว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งหรือไม่โดยไม่จำเป็นต้องตรวจชิ้นเนื้อ 
  • การตรวจชิ้นเนื้อ (biopsy) สำหรับผู้ป่วยบางรายที่การตรวจด้วยภาพไม่ชัดเจนเพียงพอ แพทย์อาจจำเป็นต้องทำการผ่าตัดเพื่อนำตัวอย่างเนื้อเยื่อจากก้อนเนื้องอกหรือจากบริเวนที่สงสัยมาตรวจ
  • ในกรณีที่พบเซลล์มะเร็ง แพทย์จะตรวจเพิ่มเติมเพื่อประเมินระยะของโรค เช่น เอกซเรย์ทรวงอก และตรวจกระดูก (bone scan) เพื่อดูว่ามะเร็งลุกลามไปยังปอดและกระดูกหรือไม่ และวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป 
ระยะของมะเร็งไตกำหนดจากขนาดของก้อนมะเร็ง ลักษณะและการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง รวมถึงการแพร่กระจายของมะเร็ง โดยมะเร็งไตชนิด RCC ซึ่งพบเป็นส่วนใหญ่จะแบ่งระยะของโรคออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 ก้อนมะเร็งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 7 เซนติเมตร และยังไม่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งออกนอกไต
ระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 7 เซนติเมตร ยังไม่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งแพร่กระจายจากไตไปยังเนื้อเยื่อโดยรอบและต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียง 
ระยะที่ 4 เซลล์มะเร็งแพร่กระจายจากไตไปยังต่อมน้ำเหลืองหลายกลุ่ม ต่อมหมวกไต และอวัยวะอื่นๆ เช่น กระดูก ตับ และปอด
ในการรักษาโรคมะเร็งไตนั้น แพทย์จะกำหนดวิธีการรักษาโดยคำนึงถึงชนิดและระยะของมะเร็ง รวมถึง ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย เช่น อายุ สุขภาพร่างกายโดยรวม และความต้องการของผู้ป่วย โดยแนวทางหลักในการรักษามะเร็งไต ได้แก่ การผ่าตัด การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด รังสีรักษา การรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง และการให้ยาเคมีบำบัด 

การผ่าตัด เป็นการรักษาหลักที่ช่วยให้ผู้ป่วยหายขาดได้ในกรณีที่มะเร็งยังไม่แพร่กระจายออกนอกไต โดยสามารถทำได้ 2 ลักษณะ ขึ้นอยู่กับระยะ ขนาด และตำแหน่งของก้อนมะเร็ง 
  1. การผ่าตัดเอาเนื้อไตออกทั้งหมด (radical nephrectomy) เป็นการตัดไตข้างใดข้างหนึ่งออกทั้งหมด และอาจรวมถึงบริเวณโดยรอบซึ่งได้แก่ ต่อมหมวกไต ต่อมน้ำเหลือง และเนื้อเยื่อไขมัน
  2. การผ่าตัดเอาเนื้อไตออกบางส่วน (partial nephrectomy) เป็นการผ่าตัดเอาเฉพาะส่วนที่เป็นเนื้องอกร้ายออก ใช้ในกรณีที่ก้อนมะเร็งยังมีขนาดเล็ก และแพทย์พิจารณาแล้วว่าเนื้อไตส่วนที่เหลือยังสามารถทำหน้าที่ได้ 
ทั้งนี้ การผ่าตัดรักษามะเร็งไตทำได้ 2 วิธี คือ 
  1. การผ่าตัดเปิดหน้าท้องแบบดั้งเดิม วิธีนี้ผู้ป่วยอาจเสียเลือดมากและเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากแผลผ่าตัดที่มีขนาดใหญ่ รวมถึงต้องใช้เวลาพักฟื้นนานถึง 8-12 สัปดาห์ 
  2. การผ่าตัดแบบแผลเล็กด้วยวิธีการส่องกล้อง (laparoscopy) หรือการใช้แขนกลช่วยผ่าตัดด้วยระบบดาวินชี (robotic–assisted da Vinci surgical system) ซึ่งเป็นระบบที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความแม่นยำ และปลอดภัยให้กับการผ่าตัดที่มีความซับซ้อนในบริเวณที่เข้าถึงได้ยาก โดยเฉพาะไตซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่ลึกและมีลำไส้ซ้อนอยู่ ทั้งยังอยู่ใกล้หลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ ทำให้ศัลยแพทย์ต้องใช้ความแม่นยำอย่างมาก นอกจากนี้ แขนกลหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดยังให้ผลดีกับผู้ป่วย คือ
  • ใช้เวลาในการผ่าตัดน้อยลง ผู้ป่วยจึงเสียเลือดน้อย
  • ลดภาวะแทรกซ้อนภายหลังการผ่าตัด เช่น ลดการติดเชื้อของแผลผ่าตัด ลดการกระทบกระเทือนต่ออวัยวะหรือเนื้อเยื่ออื่นรอบๆ ไต
  • ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยลง ใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลน้อยลง และฟื้นตัวเร็วขึ้น
  • รอยแผลเป็นจากการผ่าตัดมีขนาดเล็กมาก
การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (immunotherapy หรือ biological therapy) เป็นการรักษาโดยอาศัยหลักการทำงานของภูมิคุ้มกัน คือ เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันจะถูกกระตุ้นให้ทำการกำจัดสิ่งแปลกปลอมนั้นออกจากร่างกาย โดยแพทย์จะใช้ยาที่ส่งเสริมให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานเพื่อให้สามารถกำจัด หรือควบคุมเซลล์มะเร็งในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ วิธีนี้จะใช้ในกรณีที่มะเร็งแพร่กระจายออกนอกไตหรือ มะเร็งไตที่กลับมาเป็นซ้ำ

รังสีรักษา  เป็นการใช้รังสีพลังงานสูงทำลายสารพันธุกรรม (DNA) ภายในเซลล์มะเร็งเพื่อหยุดยั้งการเจริญเติบโตและทำให้เซลล์มะเร็งตายไปในที่สุด รังสีรักษามักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาสุขภาพจนไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือใช้ร่วมกับวิธีการรักษาอื่นๆ เพื่อบรรเทาอาการที่เกิดจากโรค เช่น อาการปวด มีเลือดออก หรืออาการอื่นๆ ที่เกิดจากการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง โดยเฉพาะการแพร่กระจายไปยังกระดูกและสมอง

การรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (targeted therapy) เป็นการรักษาโดยให้ยาหรือสารไปยับยั้งกระบวนการส่งสัญญาณระดับเซลล์ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเจริญเติบโตและแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง โดยปัจจุบันยาที่ใช้มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงเซลล์มะเร็งทำให้มะเร็งแพร่กระจาย และกลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งกลไกภายในเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของมะเร็ง  

การให้ยาเคมีบำบัด เป็นการให้ยาเพื่อทำลายหรือหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยมะเร็งไตมักไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยเคมีบำบัด วิธีนี้จึงไม่ใช่วิธีหลักในการรักษาแต่แพทย์อาจเลือกใช้หากใช้วิธีรังสีรักษา และการรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งแล้วไม่ได้ผล
โรคมะเร็งไตสามารถป้องกันได้โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค อาทิ
  • งดสูบบุหรี่
  • ควบคุมน้ำหนัก 
  • ควบคุมความดันโลหิต
  • หลีกเลี่ยงหรือป้องกันตัวเองจากสารเคมีหรือสารพิษที่เป็นสารก่อมะเร็ง โดยการสวมหน้ากากป้องกัน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมะเร็งไตยังเกิดจากปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ความผิดปกติที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพราะยิ่งตรวจพบเร็วก็ยิ่งเพิ่มโอกาสในการรักษาโรคให้หายขาดมากขึ้น

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์มะเร็งฮอไรซัน

ดูเพิ่มเติม

ศูนย์โรคไต

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 9.22 of 10, จากจำนวนคนโหวต 23 คน

Related Health Blogs