อายุที่เพิ่มมากขึ้นไม่ได้หมายความว่าสุขภาพของคุณต้องเสื่อมตามไปด้วยเสมอไป
คนเคยกล่าวไว้ว่า “ชีวิตเริ่มต้นเมื่อ 40” เพราะเป็นช่วงที่ทุกอย่างแทบจะลงตัวหมดแล้ว แม้กระนั้น คุณผู้ชายหลายท่านกลับไม่รู้สึกว่าชีวิตได้เริ่มต้นแต่อย่างใด ตรงกันข้ามชีวิตกลับไม่น่ารื่นรมย์เอาเสียเลย
คุณรู้สึกเหนื่อยอย่างบอกไม่ถูก ไม่กระตือรือร้น หงุดหงิดโดยไม่มีเหตุผล เบื่อง่าย นอนไม่หลับ? บางครั้งแทบไม่อยากมองหน้าภรรยา เกิดผลกระทบต่อทั้งร่างกายจิตใจ อารมณ์ และสังคม ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง
อาการเหล่านี้ของคุณผู้ชายคล้ายคลึงกับอาการของ
ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน (Menopause) หลายคนเรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ว่าเป็น “
ภาวะวัยทอง” บ้าง “ภาวะวิกฤติวัยกลางคน” บ้าง บางคนบอกว่าเป็นเรื่องของสังขาร และบางครั้งก็ยกให้เป็นเรื่องของสภาพจิตใจ แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนแล้วแต่ฟังดูน่าหดหู่ใจทั้งสิ้น
แท้ที่จริงแล้วปรากฏการณ์ที่คุณกำลังเผชิญอยู่นั้นคืออะไร และคุณจะรับมือกับอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้ได้อย่างไร
ผศ.นพ. พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์ สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านฮอร์โมนต่อมไร้ท่อและการเจริญพันธุ์มีคำตอบให้คุณแล้ว
เพียงเพราะคุณ “แก่ลง” แน่หรือ
เมื่อก่อนแพทย์เชื่อว่าอาการประหลาด ๆ ที่คุณผู้ชายประสบอยู่นั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการแก่ชราและไม่ค่อยให้ความสำคัญกับ อาการเหล่านี้เท่าไรนัก แต่ในปัจจุบัน เป็นที่ทราบกันแล้วว่าอาการเหล่านี้ มีที่มาจากการที่ระดับฮอร์โมนเพศชายลดลงนั่นเอง
“เมื่อก่อน พอพูดถึงอาการเหล่านี้ในผู้ชายก็ต้องมีการนำไป เทียบเคียงกับอาการของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน จึงเป็นที่มาของคำว่า Male Menopause” ผศ.นพ. พันธ์ศักดิ์กล่าว “แต่เมื่อมีการศึกษา กันอย่างกว้างขวางขึ้นพบว่าคำนี้ไม่ตรงกับความจริงนัก เพราะแม้จะมี อาการคล้าย ๆ กันทั้งชายและหญิงแต่สาเหตุนั้นแตกต่างกันอย่างมาก”
ภาวะ Menopause หรือภาวะหมดประจำเดือนในผู้หญิงเกิดจาก การที่รังไข่หยุดทำงาน ไม่มีการสร้างฮอร์โมนเพศอีกต่อไป แต่สำหรับ ผู้ชายนั้น “ไม่มีวันขาดฮอร์โมน เพียงแต่ว่าสภาวการณ์บางอย่าง ของร่างกายทำให้การสร้างฮอร์โมนเพศลดลง จนเมื่อเกิดภาวะพร่อง ฮอร์โมน การทำงานและระบบต่าง ๆ ของร่างกายที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ ฮอร์โมนเพศ ก็ทำงานผิดเพี้ยนไป” ผศ.นพ. พันธ์ศักดิ์อธิบาย “ดังนั้นถ้าจะเรียกให้ถูก คำที่เหมาะสมน่าจะเป็น กลุ่มอาการที่เกิด จากภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย (Testosterone Deficiency Syndrome หรือ Androgen Deficiency of the Aging Male) หรือ Andropause ซึ่งเป็นคำที่คุ้นเคยมากกว่า”
ผู้ชายกับฮอร์โมน
เมื่อคุณผู้ชายเกิดภาวะพร่องฮอร์โมนนั้นอาการที่ เกิดขึ้นจะค่อยเป็นค่อยไปไม่แสดงออกอย่างชัดเจน ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์กล่าวถึงผลกระทบของภาวะพร่องฮอร์โมนว่า “การที่ฮอร์โมนเพศต่ำลงนั้นส่งผลต่อคุณภาพ ชีวิตของผู้ชายอย่างมากทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม ความคิด ความสัมพันธ์ และความเป็นอยู่
ผู้ชายที่มีระดับฮอร์โมนต่ำจะกระสับกระส่าย หงุดหงิด ง่าย ไม่กระฉับกระเฉง เฉื่อยชา มองโลกในแง่ร้าย กล้ามเนื้อ ลีบลง สะสมไขมันมากขึ้น นอนไม่หลับ สมองไม่เฉียบคม อารมณ์แปรปรวน ความต้องการทางเพศ ลดลง อวัยวะเพศแข็งตัวได้ไม่เต็มที่ ขาดความมั่นใจ บางรายถึงกับ มีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย”
ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์อธิบายต่อว่า “การที่ฮอร์โมนลดลงนั้นคือลดลงทั้งหมด ฮอร์โมนตัวสำคัญที่เริ่มลดได้แก่ ฮอร์โมนเมลาโทนินซึ่งถือว่า เป็นฮอร์โมนกลางคืนตามปกติเมื่อพระอาทิตย์ตกดิน ฮอร์โมนนี้จะเริ่มหลั่งทำให้เรารู้สึกง่วงและเข้านอน จนไปหลับสนิทเอาตอนเวลา ประมาณเที่ยงคืน เมื่อหลับสนิท ต่อมใต้สมองจะผลิตฮอร์โมนออกมาหลายชนิด ชนิดแรกคือ Growth Hormone หรือฮอร์โมนของความเป็นหนุ่มเป็นสาว ซึ่งจะทำเราคงสภาพความเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่เสมอ
ฮอร์โมนชนิดต่อไปได้แก่ฮอร์โมนจากต่อม ธัยรอยด์ซึ่งจะเปลี่ยน อาหารให้เป็นพลังงานผู้ที่มีฮอร์โมนนี้ในปริมาณที่พอเพียง ก็จะมีพลัง ในการทำงานต่าง ๆ อย่างกระฉับกระเฉง ชนิดต่อมาคือ ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันความเสื่อมชราจากชีวิตประจำวัน รวมทั้งเป็นสารเริ่มต้น ที่จะเปลี่ยนไปเป็นฮอร์โมนเพศชายหรือฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกาย
ชนิดสุดท้าย คือฮอร์โมนจากลูกอัณฑะ หรือ Testicular Hormone ที่เราเรียกว่า Testosterone ซึ่งเป็นฮอร์โมนของความเป็นชาย ความนึกคิดแบบชายตัดสินใจแน่วแน่ไม่ลังเล มองทุกอย่างด้วย
เหตุผลมองโลกในแง่ดีอารมณ์ดีฮอร์โมนเพศชายนี้เกี่ยวข้องกับความหนาของกระดูกกล้ามเนื้อ การเผาผลาญของไขมันการมีรูปร่างสมส่วนผู้ชายที่มี ฮอร์โมนเพศชายปกติจึงไม่ลงพุง กล้ามเนื้อแข็งแรง อารมณ์แจ่มใส”
ฮอร์โมนเพศชายประตูสู่สุขภาพ
ในระยะยาว การพร่องฮอร์โมน เพศชายเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่สำคัญอีกหลายประการ อาทิ โรคกระดูกบาง
กระดูกพรุน กล้ามเนื้ออ่อนแรง อวัยวะเพศไม่แข็งตัว
โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และอัมพฤกษ์ อัมพาต ฯลฯ
“เวลาที่ผู้ชายมีฮอร์โมนลดลง ไขมันในร่างกายจะสูง มีการสะสม มากบริเวณรอบเอวหรือเรียกง่าย ๆ ว่าลงพุง ดังนั้น การลงพุงจึง กลายเป็นสัญญาณอันดับแรก ที่แสดงถึงการพร่องของฮอร์โมนเพศชาย คือถ้ามี เส้นรอบเอวเกินกว่า 94 เซนติเมตรในคนตะวันตก และเกินกว่า 90 เซนติเมตรในคนตะวันออก” ผศ.นพ. พันธ์ศักดิ์อธิบาย
ลงพุงอันตราย
ในไขมันจะมีฮอร์โมนชื่อ Leptin ฮอร์โมนตัวนี้ที่มีอยู่ในไขมันจะไป ยับยั้งต่อมใต้สมองไม่ให้หลั่งฮอร์โมนที่กระตุ้นผลผลิตฮอร์โมนเพศชาย ออกมา รวมทั้งยับยั้งลูกอัณฑะไม่ให้ผลิตฮอร์โมนเพศชายด้วย ดังนั้น ผู้ชายที่อ้วนลงพุงจึงพร่องฮอร์โมนเพศชายไปโดยปริยาย ขณะเดียวกัน เมื่ออ้วนลงพุง ก็จะมีฮอร์โมนเพศหญิงซึ่งอยู่ในไขมันมากขึ้นส่งผลให้ สมดุลของฮอร์โมนเสียไป
“ลองคิดดู เมื่อเกิดภาวะอ้วนลงพุงแล้ว เราก็ไม่ค่อยอยากขยับ ทำกิจกรรมอะไรเท่าไร ไม่เคลื่อนไหว ไม่ใช้พลังงานก็มีไขมันสูง เมื่อไขมัน สูงก็ไปอุดตันที่เส้นเลือด ทำให้เส้นเลือดขาดความยืดหยุ่น กลายเป็น โรคความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ ยังอาจเกิดภาวะผิดปกติของไขมัน ที่เรียกว่า Dyslipidemia ซึ่งได้แก่ ภาวะที่มีคอเลสเตอรอลชนิดเลวเยอะ มีคอเลสเตอรอลชนิดดีน้อย เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและอัมพฤกษ์ อัมพาตตามมา
เพราะฉะนั้นผู้ชายที่เกิดอาการหย่อนสมรรถภาพ ทางเพศนั้นก็เพราะ เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะเพศอุดตันทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะเพศได้ไม่ดี พอสมองสั่งการให้อวัยวะเพศแข็งตัว จึงแข็งตัวได้ไม่เต็มที่ นอกจากนี้ เมื่อมีไขมันเยอะ ไขมันก็จะไปแทรกตัวอยู่ตามกล้ามเนื้อที่อวัยวะเพศชาย เวลาแข็งตัวก็แข็งตัวได้ไม่เต็มที่อีก จะเห็นได้ว่าทั้งหมดทั้งปวงนี้เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงกันไปทั้งระบบ”
ผู้ชายที่มีฮอร์โมนเพศชายพร่องส่วนมากจะมาพบ แพทย์ด้วย
อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือ Erectile Dysfunction ซึ่งเป็นภาวะ ที่อวัยวะเพศไม่แข็งตัว หรือแข็งตัวได้ไม่เต็มที่ ผศ.นพ. พันธ์ศักดิ์ เล่าว่า “เมื่อมีผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการ ‘นกเขาไม่ขัน’ แพทย์ก็จะตรวจระดับฮอร์โมนเพศชายด้วย เพราะพบว่าผู้ชายที่มีปัญหาดังกล่าว ส่วนหนึ่งจะมีฮอร์โมนเพศอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นแพทย์จึงมีปรัชญาว่า ให้รักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศก่อน และรักษาสุขภาพที่ดี ของผู้ชายไปด้วย”
ภาวะพร่องฮอร์โมนแก้ไขได้
การให้ฮอร์โมนเพศชายเสริม
มีคำกล่าวที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องของภาวะพร่องฮอร์โมนเพศที่ หลายคนเคยเชื่อกันว่าเป็นเพราะร่างกายแก่ชราลงว่า “Getting old is natural, feeling old is optional.” หมายความว่า แม้ความแก่ชรา จะเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่คุณไม่จำเป็นต้องรู้สึกแก่ชราไปด้วย แต่ปัจจุบัน รูปแบบการใช้ชีวิตเปลี่ยนไปจากเดิมมาก ทุกคนทำงานหนัก นอนดึก เครียด พักผ่อนน้อย รับประทานอาหารอย่างเร่งรีบ และขาดการออก กำลังกาย ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่เร่งให้เกิดภาวะฮอร์โมนพร่องก่อนวัย อันควรทั้งสิ้น
“เดี๋ยวนี้คนอายุ 30 กว่า ๆ ก็เริ่มมาปรึกษาหมอด้วยอาการ หย่อนสมรรถภาพทางเพศแล้ว” ผศ.นพ. พันธ์ศักดิ์กล่าว “ผู้ที่มีปัญหา จากภาวะพร่องฮอร์โมนนั้นจะเข้ามารับการรักษาจากหลายหน่วย บางราย มาด้วยอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ บางรายมารักษาเรื่องผมร่วง บางรายมาปรึกษาเรื่องอ้วน บางคนก็มาตรวจสุขภาพ แต่ไม่ว่าจะมาจาก หน่วยไหน เราก็ดูแบบองค์รวมอยู่แล้ว คือเรารักษาไปพร้อม ๆ กัน เพื่อการมีสุขภาพที่ดี
เมื่อเรารู้แล้วว่าตัวบ่งชี้เบื้องต้น ของสุขภาพเพศชายคือเรื่องของสมรรถภาพทางเพศ เราจึงเช็ค ทั้งหมด ตั้งแต่ระดับน้ำตาลในเลือด ไขมัน ภาวะต่าง ๆ ของร่างกาย ตรวจระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องทุกชนิด ต่อมลูกหมาก ดูไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตด้วยว่า เป็นอย่างไร ต้องปรับตรงไหนกันบ้าง เพราะฮอร์โมนผู้ชาย ไม่มีทางหมดเพียงแต่พร่องไป เพราะฉะนั้น เมื่อเราให้ฮอร์โมนเสริมไปสักระยะหนึ่ง ก็พบว่ามีพัฒนาการทางสุขภาพดีขึ้น น้ำหนักลดลง สดชื่นขึ้น สมรรถภาพ ทางเพศกลับมา ความสุขในชีวิตก็กลับมา”
การให้ฮอร์โมนเสริมเป็นวิธีการที่ได้ผลดีในผู้ที่ประสบกับภาวะพร่อง ฮอร์โมนส่วนใหญ่ แต่ทั้งนี้ต้องผ่านการตรวจอย่างละเอียด ภายใต้การ ดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะในระหว่างการให้ฮอร์โมนก็ต้องมีการ ตรวจติดตามเป็นระยะ ๆ
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ผศ.นพ. พันธ์ศักดิ์เน้นว่าเรื่องของฮอร์โมนเพศชายนั้น ผู้ชายมี ความต่างจากผู้หญิง “ร่างกายของผู้หญิงหยุดสร้างฮอร์โมนเพศหญิง เมื่อถึงวัยหมดประจำเดือนและไม่อาจเรียกกลับคืนมาได้อีก ในกรณีของ ผู้หญิง เมื่อมาพบแพทย์จึงต้องมีการรับฮอร์โมนทดแทน
สำหรับผู้ชายนั้นแม้จะมีอาการต่าง ๆ เกิดขึ้นจากการที่ระดับ ฮอร์โมนลดต่ำลง แต่ร่างกายไม่เคยหยุดสร้างฮอร์โมนเพศชาย ดังนั้น จึงสามารถฟื้นฟูประสิทธิภาพในการสร้างฮอร์โมนเพศชายได้ โดยแพทย์ จะแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตเพื่อกระตุ้นการสร้าง ฮอร์โมนให้กลับเป็นปกติอีกครั้ง ในกรณีที่เป็นไปได้ แต่ในผู้ชายสูงวัย ที่มีการพร่องฮอร์โมนเพศชายแน่นอน ก็จะมีการให้ฮอร์โมนเพศชาย เสริมต่อเนื่อง”
และวิธีการในการกระตุ้นร่างกายให้สร้างฮอร์โมนอย่างปกตินั้นไม่ใช่ วิธีการแปลกใหม่แต่อย่างใด ผศ.นพ. พันธ์ศักดิ์แนะนำวิธีการปฏิบัติตัว เพื่อกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนตามธรรมชาติดังต่อไปนี้ *เข้านอนตั้งแต่หัวค่ำเพื่อให้แน่ใจว่าคุณหลับสนิทได้ตอนประมาณเที่ยงคืน *ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการออกกำลังกายเพื่อกระตุ้นฮอร์โมนนี้ ต่างจากการออกกำลังกายเพื่อรักษาสุขภาพตามปกติ (30 นาที) กล่าวคือ ต้องทำอย่างน้อยวันละ 45 นาที หรือ 300 นาทีต่อสัปดาห์ *เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ *สุดท้าย สำคัญที่สุดคือ ต้องคิดบวก มองทุกอย่างในแง่ดี จะได้ไม่เกิด
ภาวะซึมเศร้าซึ่งอาจทำให้คุณ
นอนไม่หลับได้
ปัญหาเรื่องการพร่องฮอร์โมนเพศชายนั้นมาจากรูปแบบการใช้ชีวิต เป็นสำคัญ และสามารถเยียวยาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนแนวทางการ ดำเนินชีวิต ควบคู่ไปกับการดูแลอย่างดีจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้ เพื่อให้วัย 40 ของคุณเป็นการเริ่มต้นของความสุข และคุณภาพชีวิตที่ดี ดังคำกล่าวจอร์จ เบิร์นที่ว่า “วัยที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่คุณ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องแก่ลงไปตามวัยด้วย”
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 22 พฤษภาคม 2565