bih.button.backtotop.text

วัณโรคหลังโพรงจมูก อันตราย ใกล้ตัวกว่าที่คิด

หลายคนได้ยินชื่อของ “วัณโรคหลังโพรงจมูก” เป็นครั้งแรกเมื่อทราบข่าวว่านี่คือโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนดังไปอย่างกะทันหันโดยไม่มีสัญญาณบ่งบอกอาการของโรคมาก่อน

     วัณโรคหลังโพรงจมูกเกิดจากอะไร แตกต่างจากวัณโรคที่เรารู้จักอย่างไร จะป้องกันและรักษาได้หรือไม่ เป็นส่วนหนึ่งของคำถามมากมายที่เกิดขึ้น และนี่คือคำตอบที่เรารวบรวมมาฝากกัน
 


รู้จักกับวัณโรคหลังโพรงจมูก

     วัณโรค (Tuberculosis หรือ TB) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis สามารถเกิดได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย แต่พบมากที่สุดคือที่ปอด (pulmonary TB) โดยพบมากถึงร้อยละ 80 ของวัณโรคทั้งหมด เนื่องจากเชื้อวัณโรคติดต่อผ่านทางลมหายใจจึงทำให้เชื้อเข้าไปฝังตัวที่ปอดเป็นอวัยวะแรก

     สำหรับวัณโรคหลังโพรงจมูกจัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า วัณโรคนอกปอด (extrapulmonary TB) ซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 20 ของวัณโรคทั้งหมด วัณโรคนอกปอดเป็นผลมาจากการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรียไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระดูกสันหลังและข้อ เยื่อหุ้มปอด ช่องท้อง ระบบทางเดินปัสสาวะ ลำไส้ เยื่อหุ้มสมอง เยื่อหุ้มหัวใจ ผิวหนัง มดลูก และในช่องปาก โดยวัณโรคหลังโพรงจมูกพบได้น้อยมาก คือพบน้อยกว่าร้อยละ 1 ของกลุ่มวัณโรคนอกปอด
 


โรคที่ทุกคนมีโอกาสเป็น

     วัณโรคติดต่อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งผ่านทางการหายใจ เมื่อผู้ป่วยที่มีเชื้อวัณโรคในเสมหะไอ จาม หรือแม้แต่พูดคุยโดยไม่ปิดปาก เชื้อวัณโรคจะกระจายไปกับละอองเสมหะขนาดเล็กที่สามารถล่องลอยอยู่ในอากาศได้นานถึง 30 นาที ผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยประมาณร้อยละ 30 จะติดเชื้อวัณโรคหลังจากสูดหายใจเอาละอองเสมหะที่มีเชื้อวัณโรคเข้าไป โดยเชื้อจะเข้าสู่ปอดและเริ่มแบ่งตัวเพิ่มจำนวนในถุงลมปอด

     นอกจากปอดแล้ว เชื้อวัณโรคส่วนหนึ่งจะเข้าสู่กระแสเลือดและแพร่กระจายไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ภายใน 2 – 8 สัปดาห์ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะทำหน้าที่ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อโรคซี่งหากทำได้สำเร็จ เราเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ผู้ติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง คือมีเชื้อวัณโรคแฝงอยู่ในร่างกาย แต่ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ และไม่สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ ปัจจุบัน มีผู้คนมากถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั่วโลกที่มีเชื้อวัณโรคซ่อนตัวอยู่เงียบๆ ในร่างกาย

     อย่างไรก็ตาม หากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่สามารถกำจัดหรือควบคุมเชื้อได้ เชื้อวัณโรคจะแบ่งตัวและเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ผู้ติดเชื้อวัณโรคระยะแฝงก็จะกลายเป็น ผู้ป่วยวัณโรค ที่อาจจะมีอาการหรือไม่มีอาการก็ได้ ซึ่งคนกลุ่มนี้มีเพียงร้อยละ 10 ของผู้ที่ได้รับเชื้อเท่านั้น โดยครึ่งหนึ่งจะป่วยเป็นวัณโรคภายใน 2 ปี ส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งจะป่วยเป็นวัณโรคหลังจาก 2 ปีไปแล้ว ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับการรักษาก็จะหายขาดจากโรคได้ แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยร้อยละ 50-65 จะเสียชีวิตภายใน 5 ปี
 


ยิ่งใกล้ ยิ่งแออัด ยิ่งเสี่ยง

     จุดเริ่มต้นของการเกิดวัณโรคไม่ว่าจะเป็นอวัยวะใดก็ตามก็คือ การอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค ยิ่งอยู่ด้วยกันบ่อยและอยู่เป็นเวลานานก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรค โดยเฉพาะหากเป็นการอยู่ในที่คับแคบ อากาศไม่ถ่ายเท เช่น อยู่บ้านเดียวกัน หรือทำงานในออฟฟิศเดียวกัน

       นอกจากนี้ การใช้ชีวิตในสถานที่ที่มีคนอาศัยอยู่หนาแน่นอย่างในเมืองใหญ่ก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรคมากขึ้น ส่วนเมื่อสัมผัสโรคแล้วจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรคหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยดังนี้ คือ
  • จำนวนเชื้อที่สูดเข้าสู่ร่างกาย
  • ระยะเวลาที่สัมผัสกับผู้ป่วยวัณโรค
  • ความรุนแรงของเชื้อ
  • ภาวะภูมิต้านทานของตัวเอง ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคตับ โรคไต โรคเอดส์ รวมถึงผู้ที่รับประทานยากดภูมินานๆ เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์ มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อมากกว่าผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง


มีหรือไม่มีอาการก็ได้

ในระยะเริ่มแรกของโรค ทั้งผู้ป่วยวัณโรคปอดและนอกปอดส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย โดยอาการที่น่าสงสัยว่าจะเป็นวัณโรคปอดได้แก่
  • ไอติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ อาจเป็นได้ทั้งแบบไอแห้งๆ ไอมีเสมหะ หรือไอมีเสมหะปนเลือด
  • มีไข้ต่ำๆ ช่วงบ่ายหรือค่ำ
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงผิดปกติ
  • เหงื่อออกมากผิดปกติช่วงกลางคืน
  • เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบ
     ส่วนผู้ป่วยวัณโรคหลังโพรงจมูกราว 1 ใน 3 อาจไม่มีอาการใดๆ และประมาณร้อยละ 70 มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต หรือมีก้อนบริเวณหลังโพรงจมูก

     ทั้งนี้ อาการของวัณโรคนอกปอดอื่นๆ จะขึ้นอยู่กับอวัยวะที่เกิดโรค เช่น วัณโรคต่อมน้ำเหลือง ผู้ป่วยจะมีไข้ ต่อมน้ำเหลืองที่คอหรือที่รักแร้โต ถ้าเป็นวัณโรคของกระดูกและข้อ ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดหลัง ถ้าเชื้อไปที่มดลูก ผู้ป่วยอาจมีอาการรอบเดือนมามากผิดปกติ หรือหากเป็นวัณโรคเยื่อหุ้มสมอง ผู้ป่วยอาจมีไข้ ปวดศีรษะเรื้อรัง มีภาวะสับสน หรือชัก เป็นต้น
 


เมื่อไม่มีอาการ จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นวัณโรค?

     เพราะวัณโรคนั้นจะสังเกตความผิดปกติได้เมื่อมีอาการแล้วเท่านั้น การตรวจสุขภาพประจำปีจึงเป็นวิธีที่จะช่วยให้ทราบถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ก่อนที่จะเกิดโรค และช่วยให้การรักษาทำได้ทันท่วงที ซึ่งการตรวจสุขภาพเบื้องต้นนั้น แพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อดูลักษณะของต่อมน้ำเหลืองว่าบวมหรือไม่ ฟังเสียงการทำงานของปอด และเอกซเรย์ปอด ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงอาจต้องรับการตรวจเสมหะด้วยกล้องจุลทรรศน์ และเพาะเชื้อวัณโรคเพิ่มเติม
      
     ในกรณีที่แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นผู้ติดเชื้อวัณโรคระยะแฝงและตรวจยืนยันแล้วว่าไม่ได้ป่วยเป็นวัณโรค แพทย์จะพิจารณาให้ยาป้องกันวัณโรคเพื่อป้องกันไม่ให้โรคพัฒนาไปเป็นการติดเชื้อวัณโรค ซึ่งยาป้องกันนี้ให้ผลการป้องกันการเกิดวัณโรคได้สูงถึงร้อยละ 90
      
      สำหรับผู้ที่ตรวจไม่พบความผิดปกติ แต่หากมีอาการบางอย่างที่ใกล้เคียงวัณโรค เช่น ไอเรื้อรัง เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ไข้ต่ำๆ ต่อเนื่อง 2-3 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อวัณโรคและรับการรักษาทันที
 


กินยาครบก็หายขาดได้

     วัณโรคสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรค โดยผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งยังอย่างเคร่งครัดอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของโรคจนกว่าแพทย์จะสั่งหยุดยา เพื่อไม่ให้เชื้อวัณโรคดื้อยาซึ่งจะเพิ่มความยากและระยะเวลาในการรักษาขึ้นไปอีก
 


วัณโรคหลังโพรงจมูกอันตรายถึงชีวิต?

     การติดเชื้อวัณโรครุนแรงจนนำไปสู่การเสียชีวิตเกิดขึ้นได้ในทุกอวัยวะ แต่วัณโรคในบางอวัยวะ ผู้ป่วยอาจมีอัตราการเสียชีวิตและพิการสูงกว่า เช่น วัณโรคเยื่อหุ้มสมองซึ่งเป็นวัณโรคชนิดรุนแรงของเยื่อหุ้มสมองและสันหลัง

     นอกจากนี้ การวินิจฉัยที่ถูกต้องและรักษาอย่างทันท่วงทีก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ในกรณีของวัณโรคหลังโพรงจมูกนั้น เป็นอวัยวะที่ตรวจพบและวินิจฉัยได้ยาก ในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคนี้น้อยมาก การวินิจฉัยซึ่งต้องทำด้วยการตรวจชิ้นเนื้อที่ก้อนหรือต่อมน้ำเหลืองเท่านั้นอาจใช้เวลามากเกินไปจนไม่สามารถรักษาชีวิตผู้ป่วยไว้ได้

     ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอีกประการหนึ่งคือ ผู้ป่วยมีภูมิต้านทานร่างกายที่ไม่แข็งแรง เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่มีภาวะขาดสารอาหาร หรือผู้สูงอายุที่มีโรคร่วม



ทำอย่างไรให้ห่างไกลวัณโรค

เพราะเชื้อวัณโรคนั้นล่องลอยอยู่ในอากาศซึ่งง่ายมากที่จะติดเชื้อ สิ่งที่เราควรทำจึงได้แก่
  • เตรียมร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอเพื่อสร้างภูมิต้านทานในการกำจัดเชื้อ โดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ งดการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ตรวจสุขภาพประจำปี
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค
  • สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่ออยู่ในบริเวณที่มีผู้คนแออัด หรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก เพราะสถิติระบุว่าผู้ป่วยวัณโรคที่อยู่ในระยะลุกลามและแพร่เชื้อ 1 คน ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ถึงปีละ 10-15 คน
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการได้รับเชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดวัณโรค
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อวัณโรคมากถึง 80,000 คน หนึ่งในนั้นอาจเป็นคนที่อยู่รอบตัวเรา วัณโรคในทุกอวัยวะจึงเป็นโรคติดเชื้อชนิดรุนแรงที่อยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด ดังนั้น มาร่วมกันลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรคด้วยการใส่ใจดูแลสุขภาพของตัวเองและคนรอบข้าง รวมถึงไม่ละเลยอาการผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อย เพียงเท่านี้...เราเชื่อว่าคุณทำได้!
 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:



แก้ไขล่าสุด: 17 พฤษภาคม 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs