bih.button.backtotop.text

รู้ทันโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน...เพราะทุกนาทีมีค่าต่อชีวิต

โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือที่รู้จักกันดีว่าหัวใจวาย (heart attack) เป็นโรคที่ทำให้มีการเสียชีวิตค่อนข้างสูง สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของโรคนี้และทำให้ผู้ป่วยสามารถมีคุณภาพชีวิตได้ดีตามปกติคือ การวินิจฉัยโรคอย่างรวดเร็วและได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ควรทำความรู้จักโรคนี้กันให้ดี เพราะทุกนาทีมีค่าต่อชีวิต
 
โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เกิดจากภาวะที่เกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลัน ซึ่งไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร ในบางรายอาจมีสุขภาพปกติ แข็งแรง แต่อยู่ๆ ก็กลับมีอาการผิดปกติ เช่น แน่นหน้าอก รู้สึกอึดอัด เหนื่อย เกิดขึ้น
 
อาการผิดปกติที่สำคัญที่สุดที่สามารถสังเกตได้ ได้แก่ อาการแน่นหน้าอก ซึ่งมักจะเกิดขึ้นตรงกลางอก และมักเป็นนานเกินนาทีขึ้นไป ร่วมกับมีอาการปวดร้าวขึ้นไปที่กรามหรือไหล่โดยเฉพาะไหล่ซ้าย แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการแน่นหน้าอก แต่จะมีอาการเหนื่อยและมีเหงื่อแตกร่วมด้วย
 
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ทราบกันดีอยู่แล้ว ในปัจจุบันหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พบว่า การนอนกรนรุนแรงที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้ เนื่องจากการหยุดหายใจขณะหลับทำให้ขาดออกซิเจน ซึ่งทำให้หลอดเลือดเสื่อมและส่งผลกระตุ้นให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดหัวใจ ดังนั้น ในคนที่มีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้จำเป็นจะต้องทำการตรวจหัวใจและปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิต รวมถึงทำการรักษาโรคที่เป็นอยู่ เพื่อป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
 
กุญแจสำคัญของการรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่เกิดจากการมีลิ่มเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน คือ เวลา ทุกนาทีที่เสียไปขณะที่เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน จะสามารถบอกได้ว่าอนาคตของผู้ป่วยจะเป็นอย่างไร ดังนั้นถ้ามีอาการผิดปกติต่างๆ เช่น แน่นหน้าอกเฉียบพลัน เหนื่อย หรือสงสัยว่าตนเองจะเป็นโรคหัวใจหรือไม่ อย่ารอช้า ควรรีบพบแพทย์ทันที เพราะแพทย์จะสามารถทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าและให้การวินิจฉัยได้ภายใน 5 นาที นอกจากนี้ในแต่ละโรงพยาบาลยังมีการกำหนด golden period ซึ่งเป็นเวลาที่จะต้องช่วยเหลือผู้ป่วยให้ทัน เช่น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์กำหนด golden period ไว้ที่ 60 นาที นั่นหมายถึง เมื่อผู้ป่วยมีอาการแน่นหน้าอกเฉียบพลันและมาถึงโรงพยาบาล แพทย์สามารถให้การรักษาโดยการเปิดเส้นเลือดหัวใจได้ภายใน 60 นาที ซึ่งจะช่วยให้สามารถรักษากล้ามเนื้อหัวใจที่ดีของผู้ป่วย ช่วยให้ผู้ป่วยรอดพ้นจากภาวะหัวใจโตและกลับมามีชีวิตได้ใกล้เคียงคนปกติมากที่สุด
 
นอกเหนือจากผู้ป่วยกลุ่มที่มีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดหัวใจแล้ว ยังมีผู้ป่วยอีกกลุ่มคือ ผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบซึ่งไม่ได้มีลิ่มเลือดอุดตัน ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการเมื่อหัวใจต้องทำงานหนัก เช่น ตอนที่ออกแรง หรือมีภาวะติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ซึ่งหัวใจจะเต้นเร็วและมีไข้สูง ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องควบคุมดูแลเรื่องปัจจัยเสี่ยง เช่น ควบคุมเบาหวาน ความดันโลหิต และไขมันในเลือดให้ดี ร่วมกับการรับประทานยา ซึ่งมักจะได้ผลค่อนข้างดี แต่ถ้าผู้ป่วยยังมีอาการ เช่น ขึ้นบันได 2-3 ชั้นแล้วเหนื่อย แน่นหน้าอก แพทย์อาจจะพิจาณาวิธีการรักษาอื่นๆ เช่น ขยายหลอดเลือด ทำบายพาส แต่ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ ความเร่งรีบของการรักษาจะไม่เร่งด่วนเท่ากับผู้ป่วยกลุ่มที่มีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลัน
 
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยกลุ่มใด หากพบอาการผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที อย่าละเลยหรือปล่อยทิ้งไว้โดยเด็ดขาด ควรระลึกอยู่เสมอว่าทุกนาทีมีค่าต่อชีวิต โดยเฉพาะโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน การได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องทันเวลา ย่อมส่งผลต่อชีวิตที่ดี สุขภาพที่แข็งแรง และสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข
 
เรียบเรียงโดย นพ.ชัยอนันต์ ชัยยามานนท์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 11 มีนาคม 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs