bih.button.backtotop.text

งูสวัด...โรคที่ผู้สูงอายุควรระวัง

“โรคงูสวัด” เป็นโรคที่หลายๆ คนคงรู้จักและเคยได้ยินกันมาแล้ว แต่ทราบหรือไม่ว่าโรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อยขึ้นตามอายุ และอาการปวดรวมถึงภาวะแทรกซ้อนในผู้สูงวัยก็มักจะรุนแรงและมีอาการยาวนานกว่าผู้ที่มีอายุน้อย อย่างไรก็ดีในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดที่จะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้
 

ทำความรู้จักโรคงูสวัด

โรคงูสวัดเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับโรคอีสุกอีใส คือ varicella zoster virus (VZR) เชื่อว่าเมื่อเชื้อไวรัสนี้ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใสแล้ว เมื่อหายจากโรคเชื้อจะค่อยๆ เคลื่อนตัวตามแนวเส้นประสาทเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในปมประสาทของร่างกายโดยไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติใดๆ แต่เมื่อใดที่ร่างกายมีภูมิต้านทานลดลงไม่ว่าจะจากวัยที่เพิ่มขึ้น หรือจากปัจจัยอื่นๆ เช่น เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต โรคที่เกิดจากภูมิต้านทานอย่างโรคเอชไอวี โรคเอสแอลอี หรือได้รับยากดภูมิต้านทาน เชื้อไวรัสก็สามารถกำเริบและก่อให้เกิดโรคงูสวัดขึ้นมาได้
 

อาการที่ควรสังเกต

ผู้ป่วยโรคงูสวัดจะมีผื่นแดงหรือตุ่มนูนขึ้นตามตัวคล้ายโรคอีสุกอีใส ที่แตกต่างกันคือ ผื่นหรือตุ่มในโรคงูสวัดจะไม่กระจายทั่วตัวเหมือนโรคอีสุกอีใส แต่จะเรียงเป็นกลุ่มหรือเป็นแถวยาวตามแนวของเส้นประสาท จากนั้นตุ่มนูนจะกลายเป็นตุ่มน้ำใส และแตกออกจนตกสะเก็ดในที่สุด

นอกเหนือจากผื่นหรือตุ่มแล้ว อาการที่เด่นชัดของโรคงูสวัด คือ อาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณผิวหนังตามแนวเส้นประสาท โดยบางรายอาจปวดเหมือนไฟช็อต ในขณะที่บางรายเพียงแค่สัมผัสเบาๆ หรือสัมผัสกับเสื้อผ้าบางๆ ก็มีอาการปวดแล้ว ทั้งนี้ในผู้ป่วยสูงวัยบางรายอาจมีอาการปวดตั้งแต่เริ่มมีตุ่ม แต่ในบางรายอาจมีอาการปวดนำมาก่อนที่จะมีตุ่มขึ้นก็ได้
 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคงูสวัด

ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อย ได้แก่ อาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลังการติดเชื้อ (postherpetic neuralgia) ซึ่งพบได้มากขึ้นในผู้ป่วยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยระยะเวลาในการปวดจะขึ้นกับแต่ละบุคคล บางรายอาจปวดเป็นเดือน บางรายอาจปวดเป็นปี หรือบางรายอาจปวดตลอดชีวิตก็ได้ นับว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้สูงวัยอย่างมาก สำหรับภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจพบได้ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดการอักเสบ ตาอักเสบ เป็นต้น
 

พบอาการผิดปกติอย่าละเลย รีบปรึกษาแพทย์

หากผู้สูงวัยมีอาการผิดปกติโดยเฉพาะมีผื่นหรือตุ่มบริเวณผิวหนังร่วมกับอาการปวด อย่าปล่อยทิ้งไว้ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที เพราะโรคงูสวัดหากได้รับยาต้านไวรัสเร็วก็จะยิ่งลดความรุนแรงของโรคลงได้ ในรายที่อาการไม่รุนแรงและไม่มีภาวะแทรกซ้อนอาจหายได้ภายในหนึ่งสัปดาห์ ทั้งนี้ลูกหลานหรือผู้ดูแลควรช่วยสังเกตอาการ เนื่องจากบางครั้งผู้สูงอายุอาจคิดว่าเป็นเพียงอาการแพ้หรือตุ่มนูนจากแมลงกัดต่อย ทำให้กว่าจะมาพบแพทย์อาการก็รุนแรงขึ้นแล้ว
 

ฉีดวัคซีนช่วยป้องกันความรุนแรงของโรค

ปัจจุบันประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดในผู้สูงอายุแล้ว แนะนำให้ฉีดในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป สำหรับผู้ที่มีโรคเรื้อรังหรือมีโรคอื่นๆ ที่ทำให้ภูมิต้านทานไม่แข็งแรง อาจเข้ารับการฉีดวัคซีนก่อนอายุ 60 ปีหรือตามคำแนะนำของแพทย์ โดยข้อมูลในปัจจุบันพบว่าวัคซีน 1 เข็มมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ดีที่สุดประมาณ 10 ปีนับจากวันที่ฉีด อย่างไรก็ดีการฉีดวัคซีนไม่ได้หมายความถึงจะไม่ทำให้เป็นโรคงูสวัดเลย แต่สามารถลดอุบัติการณ์ของการเกิดโรคหรือหากเกิดโรคก็อาจช่วยลดความรุนแรงของอาการได้
 

เรียบเรียงโดย พญ.ลิลลี่ ชัยสมพงษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คลินิกสุขภาพผู้สูงอายุนิวไลฟ์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แก้ไขล่าสุด: 09 มีนาคม 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs