“ยิ่งเราเอารังสีไปไว้ให้ใกล้ตัวมะเร็งได้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งช่วยให้โอกาสหายขาดสูง และผลข้างเคียงที่มักจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยนั้นก็แทบจะไม่มี ผู้ป่วยจึงเหมือนได้ชีวิตที่ปกติกลับคืนมา” หนึ่งในการรักษามะเร็งแบบ
Brachytherapy ที่
นายแพทย์อภิชาต พานิชชีวลักษณ์ Senior Radiation Oncologist แผนกรังสีรักษา ศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็งฮอไรซัน (Horizon Cancer Center of Excellence) มีความเชี่ยวชาญและแนะนำให้กับผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องเข้าสู่
การรักษาด้วยรังสี
“ในฐานะแพทย์รังสีรักษา จะเป็นแพทย์ที่อยู่ในระยะหลังๆของการรักษามะเร็ง ซึ่งส่วนมากผู้ป่วยที่ได้ยินว่าต้องทำการฉายแสง ก็มักจะตกใจกลัว เพราะคิดว่าต้องตายแน่หากต้องฉายแสง ดังนั้นการทำความเข้าใจกับผู้ป่วยจึงสำคัญมาก” นายแพทย์อภิชาต อธิบายการทำความเข้าใจที่ดีกับผู้ป่วยที่เข้ารับรังสีรักษา “ตอนที่มาเจอหมอครั้งแรก เราต้องทำความเข้าใจกันก่อน แนะนำตัวให้รู้จักกัน และผู้ป่วยหรือญาติจำเป็นต้องรู้รายละเอียดของมะเร็ง ว่าเป็นบริเวณไหน ระยะของโรคถึงขั้นไหน รวมทั้งวิธีการรักษาในรูปแบบต่างๆมีอะไรบ้าง ซึ่งความจริงก็คือความจริง การที่หมอบอกนั้น ไม่ใช่หมอจะไม่รักษาผู้ป่วย แต่เราจะมาหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน เมื่อผู้ป่วยเข้าใจและมีเหตุผล ก็จะเกิดความเชื่อมั่นที่จะรักษากับเรา”
ความห่วงใย แม้แต่ผลข้างเคียงหลังการรักษา
การรักษาด้วยรังสี จะใช้เวลาในการรักษาต่อเนื่องและยาวนานเป็นเดือน บางครั้งต้องใช้การรักษาแบบอื่นร่วมด้วย เช่น
การใช้เคมีบำบัด การใช้ยาร่วม “ผู้ป่วยที่มารักษาด้วยรังสีกับเรานั้น อยู่กันนานจนเหมือนเป็นญาติพี่น้องกันเลยทีเดียว ยิ่งอยู่กับเรานานเขาจะยิ่งเข้าใจว่าเราแคร์เขามากขนาดไหน ไม่ใช่รักษาแล้วปล่อยเขาไป ระหว่างการรักษาเขาทรมาน เราก็ต้องพยายามช่วยเขา ให้เขาผ่านไปได้ด้วยดีที่สุด” การอธิบายผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยจึงมีความสำคัญมากเช่นกัน “ผลข้างเคียงที่มักจะเกิดกับผู้ป่วยมีอยู่ 2 แบบ คือผลข้างเคียงระหว่างรักษาและหลังการรักษา อย่างเช่นการรักษาในช่องปาก ระหว่างการรักษาจะมีอาการเจ็บปากและลำคอ ซึ่งมักเกิดกับทุกคน และเมื่อรักษาเสร็จก็อาจเกิดผลข้างเคียงที่ทำให้อวัยวะบางอย่างทำงานได้ไม่ดีเหมือนก่อน อย่างเช่นต่อมน้ำลายทำงานน้อยลง ปากแห้งซึ่งปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีใหม่ๆที่ลดผลข้างเคียงเหล่านี้ได้ดียิ่งขึ้น”
การฝังแร่ ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการรักษารูปแบบอื่น
การรักษาด้วยการฝังแร่กัมมันตรังสี (Brachytherapy) เป็นการรักษารูปแบบหนึ่งของรังสีรักษา โดยจะนำแท่งรังสีรักษาไปไว้ให้ใกล้ตำแหน่งมะเร็งมากที่สุด ทำให้สามารถรักษาได้อย่างตรงจุด และลดความเสียหายของเนื้อเยื่อปกติบริเวณรอบๆ ก้อนมะเร็งได้ การเกิดผลข้างเคียงก็จะลดลงได้อีกด้วย “ความยากของ Brachytherapy นั้น คือเราจะทำอย่างไรให้รังสีแตะกับตัวมะเร็งให้ได้มากที่สุด ซึ่งสำหรับศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็งฮอไรซันนั้น เราเชี่ยวชาญมาก โดยเฉพาะ
มะเร็งต่อมลูกหมาก ที่หมอรักษามามากเป็นอันดับต้นๆ” นายแพทย์อภิชาต อธิบายถึงเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ป่วยหายและมีชีวิตที่ดีจากการรักษาด้วย Brachytherapy “ต่อมลูกหมากนั้น อยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะ ซึ่งหากรักษาไม่ดีก็อาจกระทบกับอวัยวะรอบๆหลายส่วน การรักษาด้วย Brachytherapy จึงเหมาะกับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในระดับสูงนี้ แต่ต้องบอก ผู้ป่วยให้ทราบรายละเอียดของการรักษาทั้งหมด ต้องเข้าใจทุกอย่าง เช่นการต้องใช้เข็มขนาด 15 เซนติเมตร แทงผ่านลำตัวเข้าไปเพื่อฝังแร่ การใช้อัลตร้าซาวด์ในการบอกตำแหน่งที่แม่นยำ ซึ่งถ้าหมอสร้างความสัมพันธ์กับผู้ป่วยได้เร็วที่สุด สร้างความไว้ใจให้มากที่สุด เรื่องความเจ็บหรือผลลัพธ์ของการรักษาก็จะเป็นไปในทางที่ดี”
“การเตรียมตัวก่อนการรักษา หมอมักจะบอกว่า แค่เตรียมตัวมานอน และเตรียมตัวมาตื่น ก็เสร็จแล้ว เพราะขั้นตอนในการฝังแร่และเอาแร่ออกโดยไม่ตกค้างในร่างกายนั้น ใช้เวลาไม่นานขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนมะเร็ง พื้นที่และขอบเขต แต่ที่สำคัญนั้นไม่มีรังสีติดตัว สามารถกอดลูกหลานได้ ไม่เป็นอันตราย รวมทั้งตัวผู้ป่วยเองก็ยังปัสสาวะได้เป็นปกติ เพราะเราไม่ได้ตัดเส้นประสาทเขา ที่สำคัญการแข็งตัวของอวัยวะเพศยังคงดีอยู่ด้วย ตรงจุดนี้ที่ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่มาทำ Brachytherapy มักจะพอใจมากที่สุด และการฝังแร่ในต่อมลูกหมากของเราที่นี่เครื่องมือน่าจะดีที่สุดในโลก โปรแกรมเราน่าจะอัพเดทที่สุด ณ ตอนนี้เลยนะ” นายแพทย์อภิชาต พูดด้วยรอยยิ้มที่เห็นผลที่ผู้ป่วยพึงพอใจในการรักษาที่ผ่านๆมา
ทีมพร้อม ผู้ป่วยพร้อม มะเร็งก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่
นอกจากความเชี่ยวชาญของแพทย์รังสีรักษา ที่ต้องผ่าน learning curve หรือต้องผ่านการรักษามามากกว่า 50 ครั้งแล้ว
เรื่องของทีมสหสาขาวิชาชีพเฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง หรือ
Multidisciplinary Team ก็เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของการรักษาแบบ Brachytherapy “เรามีทีมแพทย์ที่พร้อมในทุกด้าน เพื่อผู้ป่วยทั้งวิสัญญีแพทย์ ที่ทำให้การรักษาราบรื่น มีศัลยแพทย์ที่ช่วยกัน identify structure หรือระบุขนาดและตำแหน่งที่ทำ มีอายุรแพทย์ ที่ช่วยวินิจฉัยความปลอดภัยทั้งเรื่องการใช้ยา การเปลี่ยนหรือหยุดยาในขณะรักษา รวมทั้ง Technician ที่ช่วยหมอในการควบคุมเครื่องมือในการรักษา ซึ่งทีมที่ดีนั้นก็จะนำมาสู่การรักษาที่ดี และส่งผลให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีสมบูรณ์แบบไปด้วยนั่นเอง”
“มะเร็งต่อมลูกหมาก หากวินิจฉัยว่าเป็นแล้ว อย่ากลัว เพราะโอกาสหายสูงมาก กว่า 90% ที่กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ดังนั้นหากเข้าใจ เข้าถึงเทคโนโลยีการรักษาที่ดีแล้ว ทุกอย่างก็ไม่จำเป็นต้องกังวลเลย” นายแพทย์อภิชาต กล่าวทิ้งท้าย
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: