หลายคนอาจมีคำถามว่า ควรถ่ายหนักบ่อยครั้งแค่ไหนจึงจะเรียกว่าปกติ คนแต่ละคนมีอุปนิสัยการถ่ายหนักแตกต่างกันออกไป จึงไม่สามารถบอกได้อย่างเฉพาะเจาะจงว่าควรถ่ายหนักวันละกี่ครั้ง โดยทั่วไป คนปกติถ่ายหนักวันละครั้ง บางคนถ่ายหนักทุก 2-3 วัน หรือบางคนอาจถ่ายหนักถึงวันละ 2-3 ครั้ง การที่จะบอกว่าคนๆนั้นถ่ายหนักบ่อยครั้งกว่าปกติจึงต้องดูรูปแบบการถ่ายหนักของแต่ละคนประกอบด้วย
รูปแบบการถ่ายอุจจาระบ่อยแบบไหนที่เรียกว่าผิดปกติ
การถ่ายอุจจาระมากกว่า 3 ครั้งต่อวันถือว่าบ่อยมากกว่าปกติ อาจจำเป็นที่ต้องรับการตรวจจากแพทย์เพื่อหาสาเหตุของการถ่ายบ่อย ปัจจัยที่ทำให้ถ่ายอุจจาระบ่อยกว่าปกติ อาจเกิดจากลักษณะอาหารที่ทาน ลักษณะของอุจจาระ และกิจกรรมในแต่ละวันก็เป็นได้
สาเหตุของการถ่ายอุจจาระบ่อย หรือท้องเสีย
เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
- ภาวะติดเชื้อในลำไส้
- อาหารเป็นพิษ
- มีการย่อยสารอาหารบางชนิดได้ไม่ดี
- การอักเสบของลำไส้
- กลุ่มอาการลำไส้แปรปรวน
- ยาบางชนิด
- การดูดซึมอาหารไม่ปกติ
- มีประวัติการได้รังสีรักษา
เราสามารถแบ่งอาการท้องเสียได้เป็น 2 ชนิดดังนี้
- ท้องเสียชนิดเฉียบพลัน เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุและอาการอาจน้อยไปจนถึงรุนแรง อาการท้องเสียเล็กน้อยอาจเกิดขึ้นเพียง 1-2 วัน และมักหายได้เองหรือซื้อยามากินเองได้ แต่หากกินแล้ว อาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการท้องเสียเรื้อรังควรมาพบแพทย์ ท้องเสียชนิดเฉียบพลันเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น อาการเป็นพิษ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือเกิดจากเชื้อปรสิต (parasite) ซึ่งปัจจุบันพบได้น้อยมาก นอกจากนี้ยังเกิดได้จากยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะบางตัว หรือบางคนไวต่ออาหารบางอย่างทำให้กินแล้วท้องเสีย
- ท้องเสียชนิดเรื้อรัง สามารถแยกย่อยออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มท้องเสียเรื้อรังที่มีเลือดออกซึ่งถือว่าอันตรายกว่ากลุ่มท้องเสียเรื้อรังที่ไม่มีเลือดออก
- กลุ่มท้องเสียเรื้อรังที่มีเลือดออก ได้แก่ กลุ่มมะเร็งลำไส้ ผู้ป่วยมักมีอาการท้องเสียและมีมูกเลือดปนอยู่ในอุจจาระ อีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มลำไส้ใหญ่อักเสบ คือลำไส้บวมแดง มีจุดเลือดออก แบ่งแยกย่อยลงไปได้อีก คือ ลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังจากการติดเชื้อ เช่น เชื้อปรสิต และลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น โรคโครห์น (Crohn's Disease)
- กลุ่มท้องเสียเรื้อรังชนิดไม่มีเลือดออก เรียกว่า กลุ่มลำไส้แปรปรวน ซึ่งผู้ป่วยมีอาการท้องเสียเรื้อรังโดยไม่มีสาเหตุ
วินิจฉัยได้อย่างไร
สำหรับกลุ่มท้องเสียเรื้อรัง แพทย์จะวินิจฉัยด้วยการซักประวัติ ตรวจอุจจาระและ
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เพื่อตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ ถ้าส่องกล้องเข้าไปแล้วเจอก้อนเนื้องอก แพทย์จะตัดก้อนเนื้อไปตรวจว่าเป็นมะเร็งหรือเป็นก้อนเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง แล้วทำการตรวจรักษาเพิ่มเติม เช่น
ตรวจด้วย CT scan เพื่อดูระยะของโรค กลุ่มโรคพวกนี้เราวินิจฉัยได้ด้วยการส่องกล้อง ตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ
รักษาได้หรือไม่
- กลุ่มที่เป็นเป็นมะเร็ง มะเร็งลำไส้ระยะแรกๆสามารถรักษาหายได้เป็นส่วนใหญ่ แต่หากปล่อยทิ้งไว้โอกาสในการรักษาหายจะลดลง ดังนั้นจึงควรรีบมาพบแพทย์ทันทีท่าสังเกตเห็นว่ามีอาการถ่ายหนักมีเลือดปน
- กลุ่มลำไส้ใหญ่อักเสบ แพทย์จะรักษาโดยการใช้ยาและส่วนใหญ่สามารถควบคุมได้ สำหรับผู้ป่วยที่รักษาทางยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจเลือกรักษาโดยการผ่าตัดส่องกล้อง ซึ่งการผ่าตัดมักได้ผลดีและค่อนข้างปลอดภัย รวมถึงแผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก เนื่องจากโรคเหล่านี้เป็นโรคที่พบได้น้อยในคนไทย ดังนั้นการผ่าตัดจึงจะเป็นต้องทำแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางเท่านั้น
- กลุ่มสำไส้ใหญ่แปรปรวน แพทย์จะให้ยาบรรเทาอาการเพื่อให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ หากมีอาการไม่รุนแรง การปรับเปลี่ยนอาหาร การใช้ชีวิตและจัดการกับความเครียดอาจทำให้ผู้ป่วยควบคุมโรคได้ อย่างไรก็ตามโรคลำไส้ใหญ่แปรปรวนมักเป็นโรคที่เป็นๆหายๆ หรือเรื้อรัง ดังนั้นการดูแลตัวเองให้หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เช่น อาหารบางประเภท ความเครียดและความวิตกกังวล รวมถึงการพบแพทย์ตามนัดหมายจะช่วยให้คุณจัดการกับอาการได้ดียิ่งขึ้น
ศูนย์ศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก บำรุงราษฎร์ ให้บริการดูแลรักษาอย่างครอบคลุม นอกจากแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะด้านแล้ว เรามีสหสาขาวิชาชีพผู้มีประสบการการณ์ที่พร้อมให้การดูแล เช่น พยาบาลวิชาชีพ นักโภชนาการและนักรังสีวิทยา รวมถึงเครื่องมือและเทคโนโลยีขั้นสูงทางการแพทย์ในการช่วยวินิจฉัยและรักษา
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 04 กรกฎาคม 2566