หนึ่งในพฤติกรรมของลูกน้อยที่คุณพ่อคุณแม่กังวลใจหนีไม่พ้นการกิน เพราะเด็กจำนวนมากชอบรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์อย่างขนมกรุบกรอบ ฟาสต์ฟู้ด น้ำหวาน ฯลฯ และติดในรสชาติเค็ม หวาน มัน จนแก้ไม่ตก ไม่ว่าจะพยายามปรับเปลี่ยนอย่างไรก็ไม่เป็นผล มีแต่งอแงร้องไห้จ้า ไม่เอาของที่ไม่ชอบกิน แล้วอย่างนี้จะทำอย่างไร เพราะหากปล่อยทิ้งไว้นานจนกลายเป็นนิสัยติดตัวอาจจะนำมาซึ่งโรคอ้วนและอีกหลายๆ โรคที่จะตามมา
อันที่จริงปัญหานี้แก้ไม่ยากเลย แพทย์หญิงอนุตรา โพธิกำจร กุมารแพทย์โรคระบบต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ แนะนำว่า วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหานี้คือ ต้องปรับสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้มีคุณภาพ โดยเริ่มจากการเปลี่ยนพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่เอง เพราะการที่เด็กติดรสชาติหวาน มัน เค็ม หรือติดการรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ มาจากการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้องของครอบครัว หลายบ้านเมื่อลูกโตขึ้นพอที่จะกินอะไรได้ คุณพ่อคุณแม่มักจะให้ลองชิมน้ำหวาน ขนม ไอศกรีม พอเด็กได้ลองก็กลายเป็นชอบและติดในที่สุด หรือบางบ้านผู้ใหญ่ในครอบครัวรับประทานฟาสต์ฟู้ดและขนมเป็นประจำอยู่แล้ว ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เด็กจะอยากรับประทานของเหล่านั้นด้วย ฉะนั้นการที่เขาจะติดรสอะไรหรือจะเลือกกินอาหารแบบไหน ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ที่เลี้ยงดูมาเป็นหลัก
สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ หากไม่อยากให้ลูกติดรสชาติที่ปรุงแต่งจนเยอะเกินไป แนะนำให้ดูแลเรื่องอาหารสำหรับเจ้าตัวเล็ก ดังนี้
อายุแรกเกิดถึง 6 เดือน ให้กินแต่นมแม่ ในกรณีที่นมแม่ไม่พอหรือกินนมแม่ไม่ได้ ให้กินนมผงสำหรับทารกแรกเกิดแทน ซึ่งในนมแม่และนมผงประเภทนี้มีปริมาณสารอาหารที่เพียงพอสำหรับเด็ก ปริมาณของโซเดียม แคลอรี ไขมัน และโปรตีนที่จำเป็นต่อร่างกายกำลังดี
อายุ 6 - 9 เดือน ให้กินอาหารเสริมวันละมื้อควบคู่กับนม โดยเน้นอาหารให้ครบ 5 หมู่ และต้องไม่ปรุงรสใดๆ เน้นรสธรรมชาติ
อายุ 9 - 12 เดือน เพิ่มอาหารเสริมเป็น 2 มื้อ และกินผลไม้เป็นของว่างได้
อายุครบ 1 ขวบ ให้กินอาหาร 3 มื้อ เช้า กลางวัน เย็น เหมือนผู้ใหญ่ แต่ไม่ปรุงมาก เน้นรสธรรมชาติ ส่วนนมถือว่าเป็นของว่างช่วงสาย บ่าย และก่อนนอน
สามารถจัดสัดส่วนเพื่อให้ลูกได้รับปริมาณสารอาหารที่ครบถ้วนและเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตง่ายๆ คือ เน้นผักใบเขียว 40%เสริมด้วยผลไม้ แป้ง หรือคาร์โบไฮเดรต 25% โปรตีนคุณภาพดี คือโปรตีนเนื้อๆ ไม่เอาหนังไม่เอามัน 25% และผลไม้ 10% ที่สำคัญมากคือ อย่าส่งเสริมให้เด็กรับประทานโปรตีนแปรรูป พวกไส้กรอก หมูแฮม เบค่อน กุนเชียง ปูอัด หมูหยอง เพราะมีสารเคมีค่อนข้างเยอะ รวมถึงมีโซเดียมและไขมันอิ่มตัวสูง
ส่วนเด็กบ้านไหนที่ลิ้นติดรสหวาน รสเค็ม หรือรสอื่นๆ ไปแล้ว วิธีเปลี่ยนลิ้นลูกทำได้โดยเลิกปล่อยให้เด็กรับประทานอาหารจั๊งค์ฟู้ด ของหวาน น้ำหวาน และขนมกรุบกรอบ แล้วจัดสภาพแวดล้อมรอบตัวของเขาให้มีแต่ของดีๆ มีประโยชน์ วิธีนี้ไม่ใช่การบังคับลูกให้รับประทานผักหรือทานหวานน้อยลง แต่เป็นการปรับสิ่งแวดล้อมโดยรวม เช่น ถ้าไม่อยากให้ลูกรับประทานไอศกรีม ก็ไม่ควรมีไอศกรีมอยู่ในบ้าน เพื่อไม่ให้เด็กนึกถึง ส่วนเวลาไปเที่ยวก็เลือกพาลูกไปเดินสวนสาธารณะ ปั่นจักรยานแทน แทนการพาไปในสถานที่ที่มีขนมหวานจำหน่าย นี่คือการปรับสภาพแวดล้อมและปรับพฤติกรรมทั้งครอบครัว ซึ่งจะช่วยตัดปัญหาเรื่องการกินและโรคภัยต่างๆ ได้
คุณแม่ที่ทำอาหารให้ลูกรับประทานเองต้องจำไว้ว่า อาหารที่ดีที่สุดคืออาหารรสธรรมชาติ ฉะนั้นทุกครั้งที่ทำอาหารให้ลูกต้องผ่านการปรุงรสน้อยที่สุด ส่วนเครื่องดื่มให้เน้นเป็นน้ำเปล่าและนมรสจืดพร่องมันเนยเท่านั้น นมช็อกโกแลต นมหวาน น้ำอัดลม น้ำผลไม้ ชา กาแฟ ไม่ควรให้เด็กรับประทาน รวมถึงน้ำผลไม้ แม้จะคั้นเองก็ไม่แนะนำ เพราะในน้ำผลไม้มีปริมาณน้ำตาลสูงซึ่งจะทำให้เด็กติดหวานได้ หากอยากให้ลูกกินผลไม้ก็ควรให้กินผลไม้เป็นชิ้นๆ เพราะมีใยอาหารและวิตามินอื่นๆ รวมอยู่ด้วย
สรุปง่ายๆ คือ ถ้าอยากจะเปลี่ยนลิ้นและสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้กับลูก ต้องเริ่มแก้ที่พ่อแม่ก่อน ด้วยการสร้างสิ่งแวดล้อมในบ้านให้เฮลท์ตี้และไม่มีทางเลือก เมื่อไม่มีทางเลือก ลูกก็จะกินสิ่งที่เราอยากให้กิน และจะค่อยๆ ติดเป็นนิสัยชอบที่จะรับประทานแต่สิ่งดีๆ ในที่สุด
อยากเตือนไว้สักนิดว่า หากยังแก้ปัญหาการกินของลูกไม่ได้ ตามใจปล่อยให้เลือกกินแต่ขนมและน้ำหวานเหมือนเดิม ลูกๆ อาจจะกลายเป็นเด็กอ้วนที่หลายคนมองว่าน่ารักจ้ำม่ำ แต่ที่น่ากลัวคือจะนำมาซึ่งโรคต่างๆ อีกมากมาย ทำให้คอเลสเตอรอลหรือไขมันในเลือดสูง น้ำตาลสูงจนเป็นเบาหวานได้ และยังทำให้ความดันโลหิตสูงด้วย ที่สำคัญคือ น้ำหนักที่ผิดปกติจะทำให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงในเส้นเลือด จนเส้นเลือดมีความผิดปกติ มีโอกาสที่จะเป็นโรคหัวใจได้ ดังนั้นหากยอมให้เด็กติดขนม ติดอาหารที่ไม่มีประโยชน์ แม้ว่า ณ ตอนนี้จะยังไม่เป็นโรคต่างๆ ที่กล่าวมา แต่ก็อันตรายไม่น้อย ที่ร้ายยิ่งกว่าคือ ถ้าเราปล่อยให้เด็กรับประทานอาหารจั๊งค์ฟู้ดตั้งแต่เล็กๆ เขาจะติดกับการกินอาหารแบบนั้นจนเลิกไม่ได้ และจะกลายเป็นผลเสียระยะยาว เชื่อเถอะว่ากันไว้ดีกว่าแก้แน่นอน
เรียบเรียงโดย แพทย์หญิงอนุตรา โพธิกำจร กุมารแพทย์โรคระบบต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 10 มีนาคม 2565