bih.button.backtotop.text

โรคอ้วนในเด็ก

เด็กอ้วนหรือเด็กจ้ำม่ำที่พ่อแม่มักเห็นว่าน่ารักสมบูรณ์ แท้จริงแล้วอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง ทั้งปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ทำให้เด็กอาจขาดความเชื่อมั่นในตนเองและซึมเศร้าได้ ดังนั้น การดูแลให้เด็กมีอัตราการเพิ่มน้ำหนักและส่วนสูงที่สมดุล ไม่มากหรือน้อยเกินไป จะช่วยให้เด็กเติบโตอย่างสมวัย เป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพกายและใจแข็งแรงต่อไป

สาเหตุของโรคอ้วนในเด็ก

โรคอ้วนในเด็กส่วนใหญ่เกิดจากความไม่สมดุลระหว่างพลังงานที่บริโภคเข้าไปกับการใช้พลังงาน ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยต่างๆ เช่น

  • พันธุกรรม พบว่าเด็กที่มีพ่อแม่พี่น้องอ้วนมีโอกาสที่จะเกิดโรคอ้วนได้ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันเชื่อว่าโรคอ้วนเป็นผลจากพันธุกรรมร่วมกับสิ่งแวดล้อม เช่น การรับประทานอาหารและการดำเนินชีวิต
  • ความผิดปกติของฮอร์โมน เช่น ขาดฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโต ขาดฮอร์โมนไทรอยด์ มีฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอยด์เกิน ซึ่งมักพบในกลุ่มเด็กที่อ้วนและเตี้ยที่มีระดับสติปัญญาปกติ
  • โรคหรือกลุ่มอาการจำเพาะ เช่น Prader Willi syndrome, Laurence-Moon-Biedl syndrome,pseudohypoparathyroidism เป็นต้น ซึ่งพบได้ในเด็กที่อ้วนและเตี้ย ในเด็กกลุ่มนี้มักมีระดับสติปัญญาด้อยกว่าปกติด้วย
  • พฤติกรรมการรับประทานอาหารและการดำเนินชีวิต เช่น รับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ให้พลังงานสูง ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

โรคอ้วนในเด็กสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้ เช่น

  • ไขมันในเลือดสูง ทั้งคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และไขมันชนิดแอลดีแอล (ไขมันชนิดไม่ดี) ซึ่งอาจทำให้มีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจมากขึ้นเมื่อเป็นผู้ใหญ่
  • ความดันโลหิตสูง
  • เบาหวาน หรือความผิดปกติของการเผาผลาญอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล
  • ความผิดปกติของกระดูกและข้อ เช่น กระดูกโค้งงอ ขาโก่ง เท้าแบน
  • โรคผิวหนัง เช่น เชื้อราที่ผิวหนัง ผิวหนังอักเสบติดเชื้อได้ง่าย
  • นอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ
  • โตก่อนวัย เป็นหนุ่มเป็นสาวเร็วกว่าปกติ
  • ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ มีบุตรยากเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่
  • ตับอักเสบและถุงน้ำดีอักเสบ
  • ไม่มั่นใจในตนเอง อายเพราะถูกเพื่อนล้อ และอาจพบภาวะซึมเศร้าตามมาได้

โดยทั่วไปการประเมินการเจริญเติบโตของเด็กควรพิจารณาจากน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นควบคู่กับอัตราการเพิ่มของความสูง ซึ่งทำได้โดย

  • คำนวณค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI) ซึ่งเป็นอัตราส่วนระหว่างน้ำหนัก (กิโลกรัม) ต่อส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง โดยในเด็กต้องเปรียบเทียบกับตาราง BMI chart ตามอายุ (มีความแตกต่างกันในแต่ละอายุ) ดูน้ำหนักตามเกณฑ์อายุเทียบกับส่วนสูงโดยใช้กราฟการเจริญเติบโต ซึ่งหากมากกว่า 95 เปอร์เซ็นไทล์ในกราฟแสดงการเจริญเติบโตถือว่าอ้วน
  • หากเด็กมีโอกาสเกิดโรคอ้วน แพทย์อาจทำการตรวจเลือดซึ่งประกอบด้วยการตรวจ
    • ระดับไขมันในเลือด
    • ระดับน้ำตาลในเลือดหลังงดอาหาร
    • ระดับฮอร์โมนที่อาจผิดปกติได้ในเด็กอ้วนหรือน้ำหนักเกิน เช่น ฮอร์โมนไทรอยด์ ฮอร์โมนอินซูลิน  
    • ระดับวิตามินดี

ทั้งนี้ การตรวจเลือดบางชนิดอาจต้องงดน้ำและอาหารก่อนการตรวจ ควรสอบถามแพทย์ถึงการปฏิบัติตัวก่อนเข้ารับการตรวจ 

แก้ไขล่าสุด: 18 กันยายน 2563

การรักษาที่เกี่ยวข้อง

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์กุมารเวช

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 9.48 of 10, จากจำนวนคนโหวต 66 คน

Related Health Blogs