ผมร่วง ผมบาง เกิดจากอะไร?
สาเหตุของการเกิด
ผมร่วง อาจเกิดจากปัจจัยเดี่ยวหรือหลายๆ ปัจจัยเหล่านี้ร่วมกัน ได้แก่
- พันธุกรรม: การถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย มักจะพบเมื่อมีอายุมากขึ้น ทั้งในเพศชายและเพศหญิง
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและสภาวะเจ็บป่วย: การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเนื่องจากตั้งครรภ์ คลอดบุตร ภาวะประจำเดือนหมด หรือภาวะที่เกี่ยวข้องกับต่อมไทรอยด์ (Thyroid problems) เป็นสาเหตุของผมร่วงถาวรและชั่วคราวได้ นอกจากนี้สภาวะเจ็บป่วย เช่น การติดเชื้อบนหนังศีรษะ (เชื้อรา แบคทีเรีย และเชื้อไวรัส) มีการอักเสบที่รบกวนการเติบโตของเส้นผม หรือเป็นโรคดึงผมที่เรียกว่า Trichotillomania ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้หนังศีรษะบางได้เช่นกัน
- ยาและอาหารเสริม: การรับประทานยาหรืออาหารเสริมบางชนิด อาจมีอาการข้างเคียงทำให้ผมขาดหลุดร่วงได้ เช่น ยารักษาโรคมะเร็ง ยากดภูมิคุ้มกัน ยารักษาโรคไขข้อเสื่อม ยาลดความเครียด ยาโรคหัวใจและยาความดันบางชนิด เป็นต้น
- การฉายรังสีที่ศีรษะ: อาจเป็นสาเหตุของการเกิดผมร่วงถาวร
- ความเครียดสะสม: การงอกของเส้นผมคนเรานั้นอ่อนไหวและไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์และสภาวะกายใจ ความเครียดทางกายหรือทางใจ จึงอาจเป็นสาเหตุของอาการผมร่วงได้
- การใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม: การย้อม ดัด ยืดด้วยสารเคมี หรือการจัดแต่งทรงผมที่ดึงรั้ง เช่น การมัดผมรวบตึง การถักผมเปียถาวร ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมร่วงได้
ผมร่วง วินิจฉัยได้อย่างไร?
แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย สอบถามเกี่ยวกับประวัติการใช้ยาและประวัติการเจ็บป่วยของครอบครัว รวมทั้งอาจวินิจฉัยเพิ่มเติมได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- ตรวจเลือด (Blood test) เพื่อช่วยในการหาสาเหตุอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดผมร่วง
- การดึงผม (Pull test) แพทย์จะทำการดึงผมเพื่อดูจำนวนผมที่หลุดติดมือมา
- ตรวจชิ้นเนื้อหนังศีรษะ (Scalp biopsy) โดยนำตัวอย่างผิวหนังบริเวณที่เกิดอาการไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อหาสาเหตุของอาการผมร่วง
ผมร่วงแบบนี้ รักษาอย่างไร?
เราสามารถจำแนกประเภทของผมร่วงเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 2 กลุ่ม คือ
- ผมร่วงแบบมีแผลเป็นบนหนังศีรษะ (Scarring or cicatricial alopecias) ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคฝีหนองบนศีรษะ เชื้อกลากที่ศีรษะชนิดที่มีการอักเสบรุนแรง แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ทำให้รากผมถูกทำลายอย่างมากจนไม่สามารถสร้างเส้นผมใหม่มาทดแทนเส้นผมเดิม และเกิดพังผืดในชั้นหนังแท้ร่วมด้วย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง
- ผมร่วงแบบไม่มีแผลเป็นบนหนังศีรษะ (Non-scarring or Non-cicatricial alopecias) พบได้บ่อยกว่ากลุ่มแรก โดยแบ่งประเภท ดังนี้
ประเภท |
ลักษณะที่พบ |
การรักษา |
Alopecia areata |
ไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน มีผมร่วงเป็นหย่อมๆ ขอบเขตชัดเจน อาจจะมีผมเหลืออยู่เป็นตอสั้นๆส่วนใหญ่เป็นที่ศีรษะ |
อาจใช้ยา Topical steroid ชนิดแรง ทาเช้า-เย็น หรือฉีดยา Steroid ตรงบริเวณที่เป็น แต่เมื่อหยุดยาผมก็จะกลับมาร่วงอีก |
Anagen effluvium |
ผมร่วงทั่วศีรษะเป็นเวลาหลายวันจนถึงสัปดาห์ติดต่อกัน หลังจากได้รับยาเคมีบำบัด |
ผมจะขึ้นเมื่อหยุดสาเหตุที่ทำให้เกิดผมร่วง อาจใช้ยา Minoxidil ช่วยได้ |
Androgenetic alopecia
(ผมบางแบบพันธุกรรม) |
- มีประวัติครอบครัวที่มีอาการผมร่วง
- ในผู้ชาย มักพบบริเวณแนวชายผมด้านหน้าจะค่อยๆ ถอยร่นขึ้นไป โดยเฉพาะที่ขมับทั้ง 2 ข้าง จะเห็นเหมือนรูป M
- ในผู้หญิง มักพบผมบางบริเวณด้านบนของศีรษะ
|
อาจใช้ยา Minoxidil ทาที่หนังศีรษะ |
Telogen effluvium
(ภาวะผมร่วงระยะ Telogen) |
กระจุกผมร่วงเวลาสระผมหรือหวีผม มีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางกายภาพ เช่น ผมร่วงในหญิงหลังคลอด และความเครียด |
กำจัดสาเหตุทำให้เกิดผมร่วง ปกติจะหายเป็นปกติเองภายใน 2-6 เดือน |
Tinea capitis
(ผมร่วงจากเชื้อรา) |
ผมจะร่วงเปนกระจุก ผิวหนังในบริเวณที่ผมร่วงจะมีขุยหรือสะเก็ด |
ควรได้รับการรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อราแบบรับประทาน ได้แก่ Terbinafine , Itraconazole, Fluconazole หรือ Griseofulvin |
Trichorrhexis nodosa
(ผมร่วงจากผมเปราะ) |
เส้นผมแตกหักจากการบาดเจ็บหรือบอบบาง ซึ่งการบาดเจ็บอาจเกิดจากการหวีผมแรงเกินไป จัดแต่งทรงผมที่ดึงรั้ง ได้แก่ การมัดผมรวบตึง การถักผมเปียถาวร |
กำจัดสาเหตุที่ทำให้ผมร่วง |
Trichotillomania
(ผมร่วงจากการดึงผม) |
ผู้ป่วยชอบถอนผมตัวเอง อาจจะพบรอยแกะเกาเป็นสะเก็ดที่หนังศีรษะ เส้นผมที่เหลืออยู่มีความยาวต่างๆ กัน ในรายที่ถอนผมอยู่เป็นปีๆ อาจจะกลายเป็น Scarring alopecia ได้ |
หยุดการดึงผม หรือในรายที่เป็นมากอาจต้องปรึกษาจิตแพทย์ |
ผมร่วงป้องกันได้ !?!
ท่านสามารถป้องกันการเกิดผมร่วงได้ โดยปฏิบัติดังนี้
- ควรสระผมหรือหวีผมอย่างเบามือ
- หลีกเลี่ยงการจัดแต่งทรงผมที่ดึงรั้ง ได้แก่ การมัดผมรวบตึง การถักผมเปียถาวร รวมถึงหลีกเลี่ยงการม้วนบิดผม ดึงผมเล่น
- หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ดัดผม ม้วนผม หรือยืดผม การใช้น้ำมันทำทรีทเมนต์ผม และการย้อมผม ดัดผม หรือยืดผมด้วยสารเคมี
- หลีกเลี่ยงการใช้ยารักษาโรคที่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดผมร่วง
- หยุดสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่มีความสัมพันธ์กับการเกิดศีรษะล้านในผู้ชายได้
อย่างไรก็ตาม หากท่านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้วยังเกิดปัญหาเช่นเดิมหรืออาการผมร่วง/ผมบางไม่ดีขึ้น แนะนำให้เข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจะได้หาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
หากท่านต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ตลอด 24 ชั่วโมง
Contact information: Drug Information Service ศูนย์ข้อมูลยาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
Tel: +66(0) 2 011 3399 Email:
[email protected]
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: