เนื่องใน “วันโรคหืดโลก : World Asthma Day 2021” ซึ่งองค์การอนามัยโลก(WHO) และองค์การหืดโลก กำหนดขึ้นในวันอังคารแรกของเดือนพ.ค.ของทุกปี โดยปีนี้ตรงกับวันที่ 5 พ.ค.2021 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ปลดล็อคความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคหืด : Uncovering Asthma Misconception” จึงใช้โอกาสนี้รณรงค์ย้ำเตือนให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ
โรคหืด และการดูแลตัวเอง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิต
ปัจจุบันพบว่าอัตราการป่วยของผู้ป่วยโรคหืดลดลง แต่อัตราการตายจากอาการร่วมของโรคหืดกลับเพิ่มขึ้น เห็นได้จากข้อมูลของ worldlifeexpectancy.com
พบคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหืดวันละ 8-9 ราย คิดเป็น 3,142 รายต่อปี คิดเป็น 3.42 ต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งผู้ใหญ่จะเสียชีวิตมากกว่าเด็กประมาณ 5 เท่า
สาเหตุส่วนใหญ่ คือ ไม่ได้พ่นยาป้องกันหอบต่อเนื่อง และเวลามีอาการกำเริบก็จะพ่นยาไม่ทัน/ไม่ถูกวิธี เนื่องจากผู้ป่วยหรือผู้ดูแลขาดความรู้ความเข้าใจและการปฏิบัติที่ถูกต้องเมื่อมีอาการ ดังนั้น ทางสมาคมฯ จึงมีหน้าที่ให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง และสร้างความเข้าใจเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย
‘โรคหืด’ เป็นโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ และสามารถรักษาให้หายได้ แต่เป็นอันตรายต่อชีวิตสูงหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เป็นโรคที่เกิดจากภาวะหลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้นมากผิดปกติ ทั้งจากการติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ทำให้กล้ามเนื้อเรียบของหลอดลมหดเกร็ง ตีบแคบเป็นพักๆ ทำให้เกิดอาการเหนื่อย หายใจลำบากตามมา
ปัจจัยแวดล้อมเกิดขึ้นได้ทั้งจากทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมของผู้ป่วย หากครอบครัวมีประวัติหรือผู้ป่วยมีภาวะโรคพบร่วม อย่าง
ภาวะนอนกรนจนอุดกั้นทางเดินหายใจ
โรคอ้วน และ
อาการภูมิแพ้ รวมถึงสิ่งกระตุ้นให้อาการหอบกำเริบ เช่น ฝุ่นละอองในอากาศ PM 2.5 ฝุ่นละอองตามบ้านเรือน ควันบุหรี่ ขนสัตว์/สัตว์ เชื้อรา ละอองเกสรดอกไม้ สารเคมี เป็นต้น ล้วนเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหืดได้
“การรักษาผู้ป่วยโรคหืดไม่ใช่รักษาเฉพาะโรคหืดอย่างเดียว แต่จะรักษาโรคร่วม เช่น แพ้อากาศ ไซนัส ไอเรื้อรัง ภาวะนอนกรน
กรดไหลย้อน ภาวะอ้วน ทำให้โรคหอบหืดคุมอาการยาก” ขณะที่ คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าเป็นโรคหืดเป็นอาการเรื้อรัง รักษาไม่หาย ทำให้ขาดความสม่ำเสมอในการใช้ยา ที่ปกติคนไข้จะมียาติดตัว 2 ประเภท คือ
- ยาควบคุม สำหรับใช้ระยะยาว ช่วยให้รักษาหาย
- ยาฉุกเฉิน ใช้ในกรณีที่มีอาการหอบกำเริบ ช่วยขยายหลอดลม
แต่ในความเป็นจริง ‘โรคหืด’ สามารถรักษาหาย ยิ่งรักษาเร็วและต่อเนื่องยิ่งมีโอกาสหายสูง โดยในเด็กมีโอกาสหายมากกว่าร้อยละ 50 ส่วนผู้ใหญ่และผู้สูงวัยถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการรุนแรงกว่าเด็กและพ่นยาได้ยากกว่า เพราะบางคนชินกับอาการจนไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคหืด
ที่สำคัญการรักษาด้วยการใช้ยาสเตียรอยด์สูดพ่นต้องสม่ำเสมอเป็นประจำไม่ว่าจะแสดงอาการหรือไม่แสดงก็ตาม และต้องสามารถปรับลด/เพิ่มขนาดของยาตามผลการรักษาโรคได้เหมือนโรคเรื้อรังทั่วไป เช่น เบาหวาน ความดัน ไม่แนะนำให้หยุดยารักษาโรคหืดด้วยตัวเอง เพราะจะทำให้อาการกำเริบได้
โดยเฉพาะท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 หลายคนเกิดคำถามว่า โรคหืดจะเพิ่มความเสี่ยงในการติดโควิด-19 หรือไม่ คำตอบคือ ไม่
เพราะผลการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า คนปกติกับผู้ป่วยโรคหืดมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 ไม่แตกต่างกัน แต่หากผู้ป่วยโรคหืดได้รับเชื้อโควิด-19 อาจมีภาวะปอดอักเสบรุนแรงมากกว่า กลับกันการใช้ยาสเตียรอยด์สูดพ่นในผู้ป่วยโรคหืดเป็นประจำยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการติด
เชื้อโควิด-19 แบบรุนแรง หากแต่เมื่อเป็นโรคหืดแล้ว อัตราการสูญเสียทั้งชีวิต และคุณภาพชีวิตที่ผู้ป่วยต้องใช้เวลารักษาตัว และสูญเสียโอกาสในการดำเนินชีวิตกรณีที่ป่วยเป็นระยะยาวนานกว่า จากอาการเรื้อรังของโรค ซึ่ง Theme ของ World Asthma Day 2021 ที่มีหัวข้อว่า Uncovering Asthma Misconception หรือ ปลดล็อคความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับโรคนี้ ได้แก่
- โรคหืดเป็นโรคติดเชื้อและสามารถติอต่อกันได้ ซึ่งคำตอบที่ถูกต้อง คือ โรคหืดไม่ใช่โรคติดเชื้อ แต่การติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย อาจทำให้อาการหืดกำเริบ หรือมีอาการแย่ลงได้ การรักษาโรคหืดด้วยยาสูดพ่นสเตียรอยด์เป็นประจำจะช่วยลดการเกิดหืดกำเริบจากการติดเชื้อได้
- การรักษาหืดต้องใช้ยาสเตียรอยด์ที่สูดพ่นในขนาดสูงเพื่อรักษาโรค คำตอบคือ ไม่จริง การรักษาโรคหืดมีการปรับลดยา ขนาดของยาควบคุมโรคหืดสามารถจะปรับ ขึ้นๆ ลงๆ ตามผลการรักษาโรคได้เหมือนโรคเรื้อรังทั่วไป เช่น เบาหวาน อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้หยุดยารักษาโรคหืดเองในผู้ป่วยเพราะอาจทำให้โรคกำเริบได้
- โรคหืดทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถออกกำลังกายได้ และไม่ควรออกกำลังหากผู้ป่วยมีโรคหืด คำตอบคือ ไม่จริง การออกกำลังกายช่วยให้อาการหืดดีขึ้น แต่โรคหืดอาจแย่ลงในผู้ป่วยบางรายหลังออกกำลังกาย ดังนั้นในคนไข้กลุ่มนี้หากมีอาการหอบจากออกกำลังกายแนะนำให้ปรับเพิ่มยาควบคุมอาการและใช้ยาขยายหลอดลมก่อนออกกำลังกาย ซึ่งเป้าหมายในการรักษาโรคหืด นอกจากทำให้ผู้ป่วยไม่มีอาการแล้วยังต้องทำให้ผู้ป่วยมีความสามารถในการออกแรงเหมือนคนปกติทั่วไปที่ไม่มีโรคหืดอีกด้วย
- โรคหืดเป็นโรคที่พบได้ในเด็กโตขึ้นก็หายไป คำตอบคือ ไม่จริง เพราะถึงแม้โรคหืดจะพบได้ทั้งในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ แต่คนไข้เด็กเมื่อได้รับการักษาจนหายแล้ว ก็มีโอกาสมีอาการโรคหืดอีกเมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของโรคและการได้รับสิ่งกระตุ้น และในบางคนอาจเริ่มเป็นตอนอายุมากโดยไม่เคยมีอาการมาก่อนก็ได้
ในโอกาสวันโรคหืดโลกเดือนพฤษภาคมครั้งนี้ จึงอยากเน้นย้ำให้ทุกคนตื่นตัวถึงภัยของโรคหืด พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และดูแลตนเองด้วยการใช้ยาสม่ำเสมอ ไม่ลดหรือหยุดยาเองค่ะ
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 01 มิถุนายน 2565