bih.button.backtotop.text

อาการนอนกรน

การนอนกรนเกิดจากระบบทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบ กล่าวคือในขณะที่คนเรานอนหลับสนิทนั้น กล้ามเนื้อต่างๆ ในช่องปากจะผ่อนคลายและหย่อนลงมาปิดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้ลมหายใจไม่สามารถผ่านไปยังหลอดลมและปอดได้อย่างสะดวก ส่งผลให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ และเนื่องจากช่องลมถูกปิดกั้นจนเล็กลงจึงทำให้เกิดเป็นเสียงกรนขึ้น

Overview

การนอนกรนเพียงอย่างเดียวอาจส่งผลต่อสุขภาพไม่มากนัก แต่เนื่องจากการนอนกรนมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (sleep apnea) ซึ่งเป็นภาวะผิดปกติของการหายใจ คือมีอาการหยุดหายใจเป็นช่วงๆ ขณะนอนหลับ การนอนกรนจึงทำให้คุณภาพการนอนไม่ดี การนอนหลับไม่ต่อเนื่อง และกลายเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพทั้งทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ เช่น ร่างกายอ่อนเพลีย สุขภาพจิตเสีย สมาธิและความจำไม่ดี การเผาผลาญอาหารของร่างกายด้อยประสิทธิภาพลง ทำให้เกิดโรคอ้วนและเบาหวานได้

นอกจากนี้ อันตรายที่เกิดจากการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับยังรวมไปถึงการเกิดโรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับสมองและหลอดเลือดหัวใจ อาทิ โรคความดันโลหิตสูง ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคของหลอดเลือดสมอง และยังอาจทำให้ฮอร์โมนเพศชายลดลงส่งผลให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้

อาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับเกิดจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ได้แก่

  • น้ำหนักเกิน พบว่าผู้ที่มีน้ำหนักมากจะมีทางเดินหายใจส่วนบนแคบกว่าผู้ที่มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • มีอาการของโรคภูมิแพ้บริเวณจมูก
  • มีสันจมูกเบี้ยวหรือคด รูปหน้าหรือคางผิดปกติ เช่น คางเล็ก คางหลุบ
  • ต่อมทอนซิลโตขวางทางเดินหายใจ
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่เป็นประจำ
  • การรับประทานยาที่ทำให้เกิดอาการง่วง เช่น ยาแก้แพ้ ยานอนหลับ ยาคลายเครียด
  • ผู้ชายมีโอกาสนอนกรนมากกว่าผู้หญิง 6-10 เท่า
  • ผู้หญิงจะมีอาการนอนกรนเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าวัยหมดประจำเดือน
  • กรนเสียงดังมากจนรบกวนการนอนของผู้อื่น
  • กรนสลับกับหยุดหายใจเป็นช่วงๆ
  • กรนแล้วสะดุ้งเฮือกเพื่อหาอากาศหายใจ โดยที่ผู้นอนกรนอาจจะไม่ตื่นรู้สึกตัวเลย

 

ส่วนอาการร่วมอื่นๆ ได้แก่ ปัสสาวะกลางคืนบ่อยครั้ง รู้สึกไม่สดชื่นในตอนเช้าและพบว่ามีอาการวิงเวียน ปวดศีรษะ ง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน หากพบว่ามีอาการดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการตรวจทางห้องปฏิบัติการการนอน และหาแนวทางในการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

การตรวจวินิจฉัยการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับสามารถทำได้โดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการการนอน ซึ่งผู้เข้ารับการตรวจจำเป็นต้องนอนพักในโรงพยาบาล 1 คืน ทั้งนี้ การตรวจจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดยช่วงแรกจะเป็นการตรวจว่ามีการหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่และมากน้อยเพียงใด และช่วงที่สองเป็นช่วงของการบำบัดรักษาอาการ

            สำหรับการตรวจในช่วงแรก เจ้าหน้าที่จะเริ่มจากการวัดขนาดศีรษะของผู้เข้ารับการตรวจเพื่อติดตั้งอุปกรณ์วัดคลื่นสมองสำหรับตรวจสอบการนอนระดับลึกโดยจะติดไว้บริเวณศรีษะ ใต้หางตา และหน้าอก ติดเครื่องตรวจสอบภาวะการหยุดหายใจขณะหลับที่จมูก ติดไมโครโฟนเพื่อวัดระดับความดังของเสียงกรนบริเวณคอ และติดอุปกรณ์วัดออกซิเจนในเลือดที่ปลายนิ้วเพื่อวัดระดับออกซิเจน ซึ่งสัญญานจากการทำงานของเครื่องมือต่างๆ นี้จะถูกส่งไปประมวลผลในห้องควบคุมและสังเกตอาการตลอดเวลา

ในกรณีที่ผู้เข้ารับการตรวจมีอาการนอนกรนดังผิดปกติหรือหยุดหายใจขณะหลับ เจ้าหน้าที่จะใช้เครื่องช่วยหายใจแรงดันบวก (continuous positive airway pressure หรือ CPAP) ซึ่งเป็นหน้ากากติดครอบกับจมูกมาใส่ให้เพื่อเติมอากาศเข้าไปตลอดเวลา จึงเป็นการป้องกันไม่ให้ระบบทางเดินหายใจถูกปิดกั้น

ทั้งนี้ ในการใช้เครื่อง CPAP แพทย์จะต้องกำหนดค่าความดันที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล เพราะหากแรงดันมากเกินไปจะทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบากขณะนอนหลับ แต่หากความดันน้อยเกินไปอาจทำให้ทางเดินหายใจถูกปิดกั้นจนร่างกายขาดออกซิเจนได้

การตรวจทางห้องปฏิบัติการการนอนนี้จะช่วยให้แพทย์ทราบประเภทการนอนกรนและความรุนแรงของโรคของผู้ป่วยได้ว่าอยู่ในภาวะนอนกรนธรรมดาที่ไม่มีการหยุดหายใจร่วมด้วย (primary snoring) หรือกรนอันตราย (obstructive sleep apnea) ที่มีภาวะหยุดหายใจขาดอากาศขณะนอนหลับร่วมด้วยเพื่อให้การรักษาที่ได้ผลดีกับผู้ป่วยมากที่สุด

การรักษาภาวะนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่

  • ลดน้ำหนัก
  • ใช้เครื่องช่วยหายใจแรงดันบวกในทางเดินหายใจ (CPAP) เพื่อเปิดทางเดินหายใจที่ตีบแคบให้กว้างขึ้น
  • ใส่อุปกรณ์ดึงลิ้นหรือกรามให้เลื่อนไปด้านหน้า
  • จี้หรือผ่าตัดเพดานอ่อนและลิ้นไก่ด้วยเลเซอร์ หรือ Laser-assisted uvulopalatopharyngoplasty (LAUP)
  • ผ่าตัดเพดานในช่องปากหรือตัดกล้ามเนื้อบริเวณโคนลิ้น หรือ Uvulopalatopharyngoplasty (UPPPX)
  • ผ่าตัดเลื่อนกรามเพื่อให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น
แก้ไขล่าสุด: 30 สิงหาคม 2565

แพทย์ที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์รักษาที่เกี่ยวข้อง

คลินิกคุณภาพการนอนหลับ

ดูเพิ่มเติม

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

คะแนนโหวต 9.47 of 10, จากจำนวนคนโหวต 15 คน

Related Health Blogs