เทคโนโลยีทางการแพทย์มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence; AI) มาใช้ในวงการแพทย์เพื่อให้แพทย์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ได้นำเทคโนโลยี AI ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาในปี 2564 มาใช้ในการช่วยรังสีแพทย์วินิจฉัยภาวะผิดปกติของปอดและ
มะเร็งเต้านม
AI คืออะไร
AI คือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่ช่วยรังสีแพทย์ประเมินและระบุตำแหน่งที่สงสัยว่ามีความผิดปกติในการตรวจวินิจฉัยทางรังสีวิทยา ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลจากภาพเอกซเรย์ปอดหรือแมมโมแกรม
AI ช่วยวินิจฉัยโรคอะไรได้บ้าง
AI ช่วยวินิจฉัยโรคปอดและมะเร็งเต้านม โดยช่วยตรวจพบความผิดปกติของภาพเอกซเรย์ปอด ณ ปัจจุบันได้ 10 ภาวะความผิดปกติ ซึ่งประกอบด้วยภาวะจุดและก้อนในปอด รอยโรคติดเชื้อในปอด ลมรั่วในปอด เป็นต้น และยังสามารถแสดงระดับความน่าจะเป็นของโรควัณโรคในระยะแสดงอาการ (TB analysis score)
ข้อดีของ AI มีอะไรบ้าง
- ช่วยในการวินิจฉัยโรคในระยะแรกเริ่ม เช่น โรคมะเร็งเต้านมและโรคมะเร็งปอด ทำให้โอกาสในการรักษาโรคสำเร็จสูงขึ้น จากสถิติพบว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดหากได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม จะทำให้มีอัตราการรอดชีวิต 5 ปี (5-year survival rate) 73% แต่หากวินิจฉัยช้า อัตราการรอดชีวิต 5 ปีจะเหลือเพียง 18%¹ ในขณะที่ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมหากได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรกเริ่มจะทำให้มีอัตราการรอดชีวิต 5 ปี (5-year survival rate) ถึง 99% แต่หากวินิจฉัยช้าอัตราการรอดชีวิต 5 ปีคือ 86% หรือ 29% (ขึ้นอยู่กับระยะของมะเร็งที่ตรวจพบ)²
- ช่วยในการตรวจหาภาวะความผิดปกติของภาพเอกซเรย์ปอด ในตำแหน่งที่ยากต่อการวินิจฉัย
- ช่วยวินิจฉัยภาวะฉุกเฉินบางอย่างได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น ภาวะลมรั่วในปอด น้ำในช่องปอด
- ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น เพราะ AI เปรียบเสมือนความคิดเห็นที่สอง ที่แพทย์จะนำข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ของ AI มาพิจารณาร่วมกับการวินิจฉัยของแพทย์อีกครั้งหนึ่ง
- ลดระยะเวลาในการวินิจฉัย
ข้อจำกัดของ AI มีอะไรบ้าง
AI ยังไม่สามารถใช้ช่วยวินิจฉัยในผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปี และบางภาวะโรค เช่น ภาวะกระดูกหัก เป็นต้น
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ประกอบด้วยทีมแพทย์ผู้ชำนาญในการวินิจฉัยและรักษาโรคปอดและมะเร็งเต้านม รวมถึงแพทย์เฉพาะทางด้านโรคปอด อายุรแพทย์ด้านโรคมะเร็ง ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญด้านโรคมะเร็งเต้านม พยาธิแพทย์ รังสีแพทย์ผู้ชำนาญเฉพะทางและสหสาขาวิชาชีพอื่นๆ ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ในการรักษาที่มีประสิทธิผลมากที่สุด
Reference
¹ CXR: Jang, Sowon, et al. “Deep Learning–Based Automatic Detection Algorithm for Reducing Overlooked Lung Cancers on Chest Radiographs.” Radiology, vol. 296, no. 3, 2020, pp. 652–661.,
https://doi.org/10.1148/radiol.2020200165.
² MMG: The American Cancer Society medical and editorial content team. “Survival Rates for Breast Cancer”, 2022,
https://www.cancer.org/cancer/breast-cancer/understanding-a-breast-cancer-diagnosis/breast-cancer-survival-rates.html
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
แก้ไขล่าสุด: 24 พฤษภาคม 2565