bih.button.backtotop.text

ป้องกันไวรัส HPV ตั้งแต่เล็กด้วยวัคซีน

ไวรัสเอชพีวี คืออะไร

ไวรัสเอชพีวี ย่อมาจาก Human papillomavirus ผู้ใหญ่ประมาณ 9 ใน 10 คน ได้รับเชื้อไวรัสนี้ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต ผู้ที่ติดเชื้อเอชพีวีส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการใด ๆ ดังนั้นจึงอาจแพร่เชื้อไวรัสไปยังผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว ร่างกายของผู้ที่ติดเชื้ออาจกำจัดเชื้อไวรัสออกไปได้เอง แต่สำหรับผู้ที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสออกไปได้ การติดเชื้อไวรัสเอชพีวีบางสายพันธุ์ ทำให้เกิดโรคร้ายแรง เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องปาก มะเร็งทวารหนัก และมะเร็งที่อวัยวะเพศของทั้งหญิงและชาย นอกจากนี้เชื้อไวรัสเอชพีวีบางสายพันธุ์ยังทำให้เกิดโรคหูดหงอนไก่บริเวณอวัยวะเพศได้อีกด้วย
 

ไวรัสเอชพีวี ติดต่อกันได้อย่างไร

ไวรัสเอชพีวีติดต่อโดยการสัมผัสทางผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อหรือจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อ ถึงแม้ผู้ที่ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการของโรคเลยก็ตาม


ผู้ปกครองจะป้องกันเด็กไม่ให้ติดเชื้อไวรัสเอชพีวีได้อย่างไร

ถึงแม้จะไม่มีวิธีการรักษาโดยเฉพาะ แต่ผู้ปกครองสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีให้แก่เด็กได้ โดยการให้เด็กฉีดวัคซีนเอชพีวีในวัยก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก หรือเมื่อเด็กมีอายุตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไป จนถึงอายุ 26 ปี
 

ข้อดีของการฉีดวัคซีนเอชพีวี

เชื้อไวรัสเอชพีวีมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ ส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย มีประมาณ 30 สายพันธุ์ที่สามารถติดต่อด้วยการสัมผัสผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อหรือการมีเพศสัมพันธ์ ไวรัสเอชพีวีสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ด้วยกันคือ 
  • กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ ไม่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งแต่อาจทำให้เป็นโรคหูดหงอนไก่ 
  • กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้เซลล์ร่างกายเกิดความผิดปกติและพัฒนาเป็นมะเร็งได้ 

สายพันธุ์ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมากที่สุด คือสายพันธุ์ที่ 16 กับ 18 เพราะเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ในปัจจุบันมีวัคซีนเอชพีวี 2 ชนิด คือ ชนิดที่มี 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ 16 กับ 18 และชนิดที่มี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ 16 กับ 18 รวมกับไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ 6 กับ 11 ที่ทำให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ โดยสามารถป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกและโรคหูดหงอนไก่ในหญิงและชายได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์
 

ฉีดวัคซีนเอชพีวีอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด

ปริมาณของวัคซีนที่ฉีด ขึ้นอยู่กับอายุของผู้รับวัคซีน โดยแพทย์จะฉีดยาเข้าทางกล้ามเนื้อ สำหรับประเทศไทย วัคซีนเอชพีวี  มีด้วยกัน 2  ชนิด คือ

1.วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกชนิด 2 สายพันธุ์ ประกอบไปด้วย สายพันธุ์ 16 และ 18  ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูก โดยมีวีธีการฉีดดังนี้

อายุขณะได้รับวัคซีนครั้งแรก

ตารางการฉีดวัคซีน

9 - 14 ปี

ฉีด 2  ครั้ง โดยให้ครั้งที่สองระหว่าง 5-13 เดือน หลังจากได้รับวัคซีนครั้งแรก หรือ ฉีด 3  ครั้ง โดยให้เดือนที่ 0, 1 , 6

15 – 25 ปี

ฉีด 3  ครั้ง โดยให้เดือนที่ 0, 1 , 6


2. วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกชนิด 4 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ 16 และ 18  ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูก และสายพันธุ์ 6 และ 11  ซึ่งป้องกันโรคหูดที่อวัยวะเพศ โดยมีวีธีการฉีดดังนี้  

อายุขณะได้รับวัคซีนครั้งแรก

ตารางการฉีดวัคซีน

9 - 13 ปี

ฉีด 2  ครั้ง โดยให้เดือนที่ 0,  6  หรือ 0, 12

ฉีด 3  ครั้ง โดยให้เดือนที่ 0, 2 , 6

14 – 26 ปี

ฉีด 3  ครั้ง โดยให้เดือนที่ 0, 2 , 6


ทั้งนี้การจะเลือกฉีดวัคซีนชนิดใดนั้น ควรได้รับการปรึกษาจากแพทย์


ความเสี่ยงและผลข้างเคียงในการฉีดวัคซีน

วัคซีนเอชพีวีมีความปลอดภัยและใช้กันอย่างแพร่หลายมากกว่าร้อยประเทศทั่วโลก เช่นเดียวกับวัคซีนประเภทอื่นๆ ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นมักไม่รุนแรงและอาการแพ้วัคซีนอย่างรุนแรงมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้ผู้ที่มีอาการดังต่อไปนี้ได้รับวัคซีนเอชพีวี
  • ผู้ที่แพ้ส่วนประกอบของวัคซีนและแพ้ยีสต์
  • เด็กกำลังเป็นไข้หรือมีอาการป่วยอยู่ 
  • หญิงตั้งครรภ์หรือผู้ที่วางแผนตั้งครรภ์ภายใน 6 เดือน
  • หากตั้งครรภ์ก่อนได้รับวัคซีนครบ ควรฉีดวัคซีนเข็มต่อไปหลังคลอด
 

ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนที่อาจเกิดขึ้นได้ มีดังต่อไปนี้

  • มีอาการปวด บวม ผิวหนังมีรอยแดง
  • รู้สึกคัน มีรอยช้ำ มีก้อนนูนบริเวณที่ฉีดยา
  • ปวดศีรษะ มีไข้
  • คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ 
  • เป็นลม

ถึงแม้วัคซีนเอชพีวีทั้ง 2 ชนิด (ทั้งแบบ 2 หรือ 4 สายพันธุ์) จะมีประสิทธิภาพสูง แต่ก็ไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวีได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์อื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ดังนั้นนอกจากการฉีดวัคซีน ผู้ปกครองควรดูแลแนะนำเด็กให้หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชพีวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ 



 
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:


แก้ไขล่าสุด: 09 กรกฎาคม 2565

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

Related Health Blogs