bih.button.backtotop.text

การฉายรังสีในผู้ป่วยมะเร็ง วิธีที่ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

15 พฤศจิกายน 2562
การฉายแสงก็เหมือนการเอ็กซเรย์ คนไข้จะไม่รู้สึกเจ็บปวดเลย ซึ่งระยะเวลาในการฉายแสงก็จะต่างกันออกไป อย่างมะเร็งต่อมลูกหมากอาจจะ 8 สัปดาห์ มะเร็งเต้านม 6 สัปดาห์ มะเร็งปอดก็จะอยู่ราวๆ 6-7 สัปดาห์ ที่เราฉายแสงใช้ช่วงเวลานานๆ เพราะว่า เราให้ปริมาณความเข้มข้นรังสีที่ไม่สูงเกินไป ผลก็จะไม่ไปกระทบต่อเนื้อเยื่อที่ดีนั่นเอง” หนึ่งในความใส่ใจจากแพทย์ผู้เชียวชาญด้านรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ผศ.พญ.สุนันทา ศรีสุบัติ-พลอยส่องแสง ที่อยากให้ผู้ป่วยหายดี มีผลข้างเคียงน้อยที่สุดและมีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนก่อนที่จะเผชิญโรคร้ายนี้
 

ค้นหาวิธีที่ดีที่สุด เพื่อผู้ป่วย

 
การฉายรังสีที่สร้างผลกระทบต่อผู้ป่วยน้อยที่สุดนั้น มักจะใช้ระยะเวลาที่นานกว่าปกติ ซึ่งระยะเวลาก็จะแตกต่างกันไปแล้วแต่ชนิดของมะเร็ง ผศ.พญ.สุนันทา ศรีสุบัติ-พลอยส่องแสง เป็นแพทย์ผู้เชียวชาญด้านรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ประจำที่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็งฮอไรซัน โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์  ได้อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า “การฉายแสงก็เหมือนการเอ็กซเรย์ คนไข้จะไม่รู้สึกเจ็บปวดเลย ซึ่งระยะเวลาในการฉายแสงก็จะต่างกันออกไป อย่างมะเร็งต่อมลูกหมากอาจจะ 8 สัปดาห์มะเร็งเต้านม 6 สัปดาห์ มะเร็งปอดก็จะอยู่ราวๆ 6-7 สัปดาห์ ที่เราฉายแสงใช้ช่วงเวลานานๆ เพราะว่า เราให้ปริมาณความเข้มข้นรังสีที่ไม่สูงเกินไป ผลก็จะไม่ไปกระทบต่อเนื้อเยื่อที่ดีนั่นเอง” คุณหมอเสริมอีกว่า “หากคนไข้ร้องขอ เพราะอยากจะหายเร็วๆ ใช้เวลาสั้นๆ ใช้ปริมาณความเข้มข้นของรังสีแรงๆ ไปเลยนั้น เราคงทำให้ไม่ได้ เพราะเราคำนึงถึงเรื่องคุณภาพชีวิตที่ดีหลังจากที่เขาหายด้วย”

 
“อาการข้างเคียงที่เกิดจากการฉายแสงนั้น เราต้องบอกผู้ป่วยล่วงหน้าเสมอ เพื่อให้เขาได้ยอมรับและเตรียมใจที่จะต้องเผชิญอาการเหล่านั้น ผู้ป่วยบางคนมีอาการ เจ็บปากเจ็บคอ น้ำลายแห้ง กลืนอาหารลำบาก น้ำหนักลดลง หมอก็จะให้คำแนะนำในเรื่องที่จะช่วยบรรเทาอาการเหล่านั้น หรือประสานไปทางฝ่าย Nutrition เพื่อให้เข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยต่อไป”

 
การฉายแสงหรือการใช้รังสี เป็นการรักษาผู้ป่วยมะเร็งชนิดหนึ่ง โดยการใช้รังสีพลังงานสูงฉายไปตำแหน่งของเซลล์มะเร็งเพื่อทำลายกลุ่มก้อนเซลล์มะเร็งนั้น พญ.สุนันทา ประจำที่ศูนย์มะเร็งฮอไรซัน มามากกว่า 23 ปี กล่าว “คนไข้ที่เป็นมะเร็งทุกคน เมื่อเคสมาถึงเรา หมอก็จะสังเกตุและสอบถามอาการต่างๆ อย่างเช่นผู้ป่วยมะเร็งปอด ก็จะดูอาการว่าหอบหืดไหม มีอาการไอหรือเปล่า มีไข้ด้วยไหม เพราะทุกอาการนั้น จะเชื่อมโยงกัน และอาจเกิดการอักเสบ ติดเชื้อ ตามมาได้ คุณหมอเล่าถึงการพบผู้ป่วยในครั้งแรก

 
“นอกจากนี้ เราต้องทราบด้วยว่าผู้ป่วยนั้น เป็นมะเร็งอยู่ตรงส่วนไหนของร่างกาย ขนาดเท่าไหร่ มีเลือดออกด้วยไหม แล้วจึงเลือกวิธีการรักษาที่ให้ผลกระทบกับผู้ป่วยน้อยที่สุด อย่างเช่นมะเร็งเต้านม ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเลือกการรักษาแบบ Breast Conservation คือไม่ตัดเต้านมทิ้ง เอาเฉพาะก้อนและต่อมน้ำเหลืองออก แล้วตามด้วยการฉายรังสี เราก็จะต้องพิจารณาอย่างละเอียด ต้องรู้ระยะของโรค (Staging) หรือรู้ทางเลือกอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นด้วย ทำให้เราออกแบบการรักษาได้ตรงจุดที่สุด”
 

ความเอาใจใส่ ที่มากกว่าแค่การรักษา

ด้วยความเป็นมืออาชีพ และมีประสบการณ์ทางด้านการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยด้วยการฉายแสงของ พญ.สุนันทา เธอมักใช้ความเข้าใจ และสร้างความรู้สึกที่ดีต่อผู้ป่วย ทำให้การรักษานั้นดูเป็นเรื่องที่ไม่น่ากังวล อย่างเช่นเรื่องการมีแพทย์ทางด้านเคมีบำบัด หรืออายุรแพทย์มะเร็งวิทยา มานั่งวินิจฉัยคนไข้ไปพร้อมๆ กัน “ตัวหมอเองเป็นคนที่ศึกษาเรื่องการดูฟิล์มเป็นอยู่แล้ว บวกกับหมอจะเชิญแพทย์เคมีบำบัด มานั่งดูฟิล์มและร่วมกันวินิจฉัย และอธิบายไปพร้อมๆ กับคนไข้ สิ่งเหล่านี้ทำให้คนไข้ลดความกลัว และความกังวลลงได้มาก”

เธอเล่าผ่านอารมณ์ขันจากประสบการณ์ที่เจอมา “มีคนไข้บางคนคิดว่าการฉายแสงจะเป็นแบบระเบิดปรมณู มันต้องใหญ่โต และเจ็บปวดมาก แต่จริงๆ แล้วไม่เลย หมอมักจะชอบให้ผู้ป่วยนั้น พาญาติมาด้วย พามาเยอะๆยิ่งดี เพราะจะมาช่วยกันจำสิ่งที่หมอบอก ตัวคนไข้เองตอนนั้นล้วนกังวล ไม่มีสมาธิจะจำอะไรได้เลย เราก็จะแนะนำ ถามไถ่อาการ หรือเจอกันหลายครั้งหน่อยก็ถามความคืบหน้าของอาการ สิ่งเหล่านี้ล่ะที่ทำให้คนไข้รู้สึกดีกับการเอาใจใส่จากเรา”
 

รักษาให้หาย ผลกระทบน้อยสุด และอยู่ต่ออย่างมีความสุข

“การรักษามะเร็งที่ดีนะ หมอว่าต้องเกิดจากหลายๆอย่างมารวมกัน อย่างเรื่องเทคโนโลยีก็สำคัญ เช่น VMAT ที่จะเป็นการใช้เครื่องฉาย ที่สามารถกำหนดปริมาณรังสีให้เหมาะสมกับรูปร่างของก้อนมะเร็งที่ไม่สม่ำเสมอได้ เครื่องจะหมุนไปรอบๆ และเมื่อเครื่องตรวจพบส่วนที่เป็นมะเร็ง ก็จะฉายรังสีออกมา แต่พอไปส่วนที่ไม่พบ ปริมาณรังสีก็จะลดลงมา ทำให้เกิดผลกระทบกับร่างกายน้อยที่สุด นั่นคือตัวอย่างการรักษาด้านเทคโนโลยี ส่วนเรื่องของความพร้อม และการประสานงานกันในแต่ละฝ่ายก็สำคัญเช่นกัน หมอมั่นใจว่าที่บำรุงราษฎร์นี้ ล้วนมีแต่บุคลากรที่มีความสามารถสูงทั้งนั้น ตรงนี้คนไข้หมดห่วงได้ และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือภาวะจิตใจของคนไข้ ถ้าหากเขาไม่เกิดความเครียดหรือกังวล การรักษาก็จะผ่านไปด้วยดี”


และนั่นคือแนวคิดทางการรักษาของ ผศ.พญ.สุนันทา ศรีสุบัติ-พลอยส่องแสง ที่เน้นการรักษาให้หาย มีผลกระทบที่น้อยที่สุด และกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติด้วยความสุข

 

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

การฉายรังสีในผู้ป่วยมะเร็ง วิธีที่ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
คะแนนโหวต 9 of 10, จากจำนวนคนโหวต 6 คน

Related Health Blogs